“ปานเทพ” เผยแผนที่กัมพูชาเตรียมไว้สู้ไทยในศาลโลก อ้างมั่วเอาเส้นเล็งหาหลักเขตบนบกตรงชายฝั่งเป็นเส้นเขตแดนทางทะเล แต่เอ็มโอยู 44 รับรู้แล้วไม่ปฏิเสธเส้นดังกล่าว ถือว่าไทยไม่ยึดหลัก “เส้นมัธยะ” ในการแบ่งเขตแดน จึงเข้าทางกัมพูชา เอาไปอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ ส่อทำให้ไทยสูญเสียพื้นที่เพราะกฎหมายปิดปากซ้ำรอยปราสาทพระวิหาร
วันนี้(12 ธ.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” เกี่ยวกับแผนที่เขมรที่เตรียมใช้สู้ในศาลโลกรอบใหม่ มีรายละเอียดดังนี้
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์เส้นไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทยกับกัมพูชา (MOU 2544) ที่ลงนามโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับ นายซก อาน รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC 2544) ที่รับรอง MOU 2544 เอาไว้ในวันเดียวกัน นั้นกำลังนำไปสู่ “การไม่ปฏิเสธ” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
การกล่าวอ้างจากนายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้ประชาชนชาวไทยหลงเชื่อว่า MOU 2544 นั้น แปลว่าฝ่ายไทยยังคงยึดถือเส้นเขตไหล่ทวีปตามพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 อยู่ทุกประการ ในขณะเดียวกันยังอวดอ้างสรรพคุณของ MOU 2544 ด้วยว่า จะเป็นการบังคับให้กัมพูชายึดตามกฎหมายทะเลสากลเป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่การกล่าวอ้างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านายนพดล ปัทมะ ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาในข้อความของกัมพูชาที่อ้างว่าการประกาศเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชานั้น ก็ยึดหลักกฎหมายอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 เช่นเดียวกับที่ไทยยึดถือ
กล่าวโดยให้เข้าใจโดยง่ายโดยสรุปคือ
ฝ่ายราชอาณาจักรไทยซึ่งประกาศตามพระบรมราชโองการ ให้ยึดถือหลักการ ”เส้นมัธยะ“ (Median Line) ตามข้อ 12 ของอนุสัญญาของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง และข้อ 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยเขตไหล่ทวีป ภายใต้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ซึ่งรัฐทั้งสองอยู่ตรงข้ามหรือประชิดกันให้ใช้ “เส้นมัธยะ“ เพียงหลักการเดียว
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมฝ่ายราชอาณาจักรไทยจึงได้มีประกาศภายใต้พระบรมราชโองการ ถึงได้ลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ออกมาโดยใช้หลักเส้นมัธยะ คือ ลากเส้นออกมาโดยแบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดของราชอาณาจักรไทย กับ เกาะกงของกัมพูชา
ส่วนฝ่ายกัมพูชาซึ่งประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา ได้ยึดถือหลักการ “เส้นเขตแดนอย่างอื่น” หากทั้งสองรัฐตกลงกัน ที่จะไม่ใช่หลัก “เส้นมัธยะ” อย่างเดียว
นั่นคือ MOU 2544 ได้เปิดช่องให้กัมพูชาอาศัย “สิทธิทางประวัติศาสตร์” ที่ฝ่ายไทย “ไม่ปฏิเสธแผนที่แนบท้าย“ ตามข้อยกเว้นที่อนุญาตให้ไม่ต้องใช้เส้นมัธยะ ของข้อ 12 ของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง และข้อ 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยเขตไหล่ทวีป ภายใต้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 ด้วย
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งฝ่ายราชอาณาจักรไทยและกัมพูชาได้อ้างนั้นได้พยายามอ้างบทบัญญัติเดียวกัน หากแต่เมื่อพิจารณาพิเคราะห์แล้ว หากไม่มี MOU 2544 เกิดขึ้น ประเทศไทยและกัมพูชาย่อมต้องถือ “หลักเส้นมัธยะ” แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
โดยข้อ 12 ของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ภายใต้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 บัญญัติเอาไว้ว่า
“...1.ในกรณีที่ฝั่งทะเลของรัฐทั้งสองอยู่ตรงข้ามหรือประชิดกัน ถ้าไม่มีความตกลงระหว่างกันเป็นอย่างอื่น รัฐใดรัฐหนึ่งของทั้งสองรัฐไม่มีสิทธิที่จะขยายทะเลอาณาเขตของตนเลยเส้นมัธยะ ซึ่งทุกจุดบนเส้นนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดบนเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของทั้งสองแต่ละรัฐ
อย่างไรก็ดี มิให้ใช้บทแห่งวรรคนี้ในกรณีที่เป็นการจำเป็นโดยเหตุสิทธิแห่งประวัติศาสตร์ หรือพฤติการณ์พิเศษอย่างอื่นในอันที่จะกำหนดทะเลอาณาเขตของรัฐทั้งสองในทางที่แตกต่างไปจากบทนี้...”
ในขณะเดียวกัน ข้อ 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ภายใต้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 บัญญัติเอาไว้ว่า
“1.ในกรณีที่ไหล่ทวีปเดียวกันตั้งอยู่ประชิดกับอาณาเขตของรัฐทั้งสองหรือมากกว่า ซึ่งมีฝั่งทะเลอยู่ตรงกันข้าม เขตแดนของไหล่ทวีปที่เป็นของรัฐเช่นว่านั้นจะกำหนดโดยความตกลงระหว่างกัน หากไม่มีการตกลงกัน และนอกจากว่าพฤติการณ์พิเศษจะทำให้เป็นการสมควรที่จะใช้เส้นเขตแดนอื่น เขตแดนนั้นได้แก่เส้นมัธยะ ซึ่งจุดทุกจุดบนเส้นนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดของเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของแต่ละรัฐ
2.ในกรณีที่ไหล่ทวีปเดียวกันตั้งอยู่ประชิดกับอาณาเขตของรัฐสองรัฐซึ่งประชิดกัน เขตแดนของไหล่ทวีปจะกำหนดโดยความตกลงระหว่างกัน หากไม่มีการตกลงกัน และนอกจากว่าพฤติการณ์พิเศษจะทำให้เป็นการสมควรที่จะใช้เส้นเขตแดนอื่น เขตแดนนั้นจะกำหนดขึ้นโดยการใช้หลักระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดของเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของแต่ละรัฐ“
ความหมายดังที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ”หากไม่มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น” หรือ “พฤติการณ์พิเศษที่จะทำให้ใช้เส้นเขตแดนอื่น” จะต้องใช้หลักการของ “เส้นมัธยะ” เพียงหลักการเดียว
และถ้าไม่มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น ก็จะเป็นไปตามหลักเส้นมัธยะอย่างเดียว คือเป็นไปตามตามพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ทุกประการ
แต่เมื่อเกิดเหตุการลงนามตาม MOU 2544 และรับรองโดย JC 2544 ทำให้เกิดการเจรจาตกลงกันโดย “หลักการอื่น” คือรับรู้โดยไม่ปฏิเสธ พระราชกฤษฎีกาประกาศเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา เมื่อปี 2515 และ พระบรมราชโองการ ประกาศเส้นไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทย 2516 ให้เกิดการเจรจาอยู่นอกเหนือหลัก “เส้นมัธยะ” แต่เพียงอย่างเดียว
โดยของราชอาณาจักรไทยนั้นยึดหลักความเป็นธรรมโดยอาศัยเส้นหลักมัธยะเท่านั้น
แต่ปัญหาของกัมพูชาได้ลากเส้นไหล่ทวีปรุกล้ำทั้งอำนาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย “เส้นมัธยะ” (Median Line) ตามข้อ 12 ของอนุสัญญา ว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง และข้อ 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยเขตไหล่ทวีป ภายใต้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958
ถ้าไม่มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นก็ต้องตกลงโดยใช้หลักการนี้อย่างแน่นอน
แต่การที่มี MOU 2544 ได้เกิดการรับรู้โดยไม่ปฏิเสธ พระราชกฤษฎีกาประกาศเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา เมื่อปี 2515 ก่อให้เกิดการอ้างสิทธิในพื้นที่ไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีขนาดใหญ่เกินจริง โดยไม่ยึดหลัก “เส้นมัธยะ” อย่างเดียว อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อประเทศกัมพูชาเกินกว่าหลักมูลฐานตามบทบัญญัติของอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958
การอ้างสิทธิดังกล่าวจึงส่งผลทำให้เป็นการเปลี่ยนแปลง “หลักการ” สำคัญของอำนาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย คือ เกิดการละเมิดอำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยบริเวณพื้นที่ “น่านน้ำภายใน” เหนือเส้นฐานตรงด้านทิศตะวันออกของเกาะกูด และการละเมิดอำนาจอธิปไตยทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด และไม่ยึดหลักเส้น “มัธยะ” เพียงอย่างเดียวที่ลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ตามพระบรมราชโองการสมัยรัชกาลที่ 9 แต่กลับไปยึดถือ “เขตแดนแนวทางอื่น” ในการเจรจาตกลงกันเองระหว่างไทยและกัมพูชาในพื้นที่อ้างสิทธิเกินจริงของกัมพูชา รวมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กัมพูชาเป็นหลัก
และกัมพูชาอ้างเส้นไหล่ทวีปนี้มีที่มาโดยอาศัยแผนที่แนบท้ายในสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1907 โดยกัมพูชาตีความเอาเองว่า “เส้นเล็ง” จากยอดสูงสุดของเกาะกูด เพื่อหาหลักเขตแดนทางบกชายฝั่งของระหว่างกัมพูชา คือ เส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชายึดถือด้วย
และด้วยเพราะฝ่ายราชอาณาจักรไทย “ไม่ปฏิเสธ” แผนที่ดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.1907 เพราะเห็นว่าไม่สามารถจะตีความไปเป็นเส้นไหล่ทวีปได้เลย
แต่การที่ราชอาณาจักรไทย “ไม่ปฏิเสธ” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาภายใต้ MOU 2544 ที่ได้กลายเป็นการรับรู้ “เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา” ที่ยกระดับสถานภาพ “เส้นเล็ง” ให้กลายเป็น “เส้นไหล่ทวีป” ของกัมพูชา และกลายเป็น “สิทธิแห่งประวัติศาสตร์” ที่ฝ่ายไทยไม่ปฏิเสธมาเป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 23 ปีแล้ว ภายใต้ MOU 2544
และนี้อาจทำให้ไทยสูญเสียพื้นที่เพราะกฎหมายปิดปากซ้ำรอยการสูญเสียปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 มาแล้ว
สถานภาพนี้เกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งหากกัมพูชาเดินหมากรุกฆาตสร้างสิ่งปลูกสร้างล้ำเข้ามาในอ่าวไทยเรื่อยๆ ซ้ำรอยการสร้างวัด ชุมชน ตลาด และถนนรุกล้ำเข้าไปยังปราสาทพระวิหารให้ฝ่ายไทยประท้วงด้วยกระดาษทางการทูตไปเรื่อยๆ จนฝ่ายไทยทนไม่ได้เกิดการปะทะ แล้วอ้างเหตุนี้ขึ้นสู่การตัดสินของศาลโลกอีกครั้ง และไทยก็แพ้ในที่สุด
ใครจะเป็นผู้รับประกันว่าประเทศไทยจะชนะศาลระหว่างประเทศได้ภายใต้หลักเส้นมัธยะ เพราะฝ่ายกัมพูชามีกระบวนการล็อบบี้และแลกผลประโยชน์ระหว่างประเทศเหนือกว่าประเทศไทยมาโดยตลอดจริงหรือไม่
อย่าอ้างเด็ดขาดว่า มี MOU 2544 แล้วจะไม่ทำให้ไทยต้องไปศาลโลก เพราะแม้แต่การตีความให้ไทยต้องสูญเสียขยายพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2556 ทั้งๆ ที่ประเทศไทยกับกัมพูชาก็มีบันทึกความเข้าใจในการเจรจาตกลงทางบก MOU 2543 กันแล้วด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุผลนี้นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาถึงกล้าประกาศว่ากัมพูชาจะได้พื้นที่จากฝ่ายไทยมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน และยังไม่เจรจาด้วยซ้ำไปว่าเกาะกูดเป็นของชาติใด
ด้วยเหตุผลนี้คนไทยทุกคนควรต้องหาทางในการเพิกถอน MOU 2544 และ JC 2544 ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ประเทศไทยจะเพลี่ยงพล้ำเสียทีไปมากกว่านี้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
12 ธันวาคม 2567