นโยบาย 1 ใน 5 ที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะออกมาในปี 2568 คือ โครงการบ้านเพื่อคนไทย ใช้ที่ดินการรถไฟฯ ก่อสร้างให้ผ่อนเดือนละ 4,000 นาน 30 ปี อยู่ได้ยาวถึง 99 ปี ต่างจากยุครัฐบาลทักษิณ ให้การเคหะแห่งชาติซื้อที่ดินจัดสรรทำบ้านเอื้ออาทร ตั้งเป้า 1 ล้านหลัง ถึงปัจจุบันยังขายไม่หมด แถมพบทุจริตทำนักการเมืองติดคุก
วันนี้ (12 ธ.ค.) การแถลงผลงานครบรอบ 90 วัน ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หนึ่งใน 5 นโยบายที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 คือโครงการบ้านเพื่อคนไทย (Public Housing) โดยระบุว่า ปัจจุบันการซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาทไม่มีแล้ว จึงอยากจะให้นักศึกษาจบใหม่ หรือ First Jobber มีบ้านเป็นของตนเอง โดยรัฐบาลจะสร้างบ้านเพื่อคนไทย และจะใช้พื้นที่ของรัฐบาลที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเป็นที่ใกล้ตัวเมือง ใกล้รถไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มจากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยขนาดของบ้านมีเนื้อที่ 30 ตารางเมตร ไม่มีการจ่ายเงินดาวน์ จ่ายค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาท ผ่อน 30 ปี อยู่ยาว 99 ปี ให้เฉพาะคนไทยที่ยังไม่มีบ้าน ปีหน้าจะมีห้องตัวอย่างให้ดู โดยจะมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ทำงานร่วมกัน
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการบ้านเพื่อคนไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ระบุว่า จะใช้ที่ดินของการรถไฟฯ ในการก่อสร้าง ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท นาน 30 ปี สามารถอยู่อาศัยได้ 99 ปี โดยจะเปิดตัวบ้านตัวอย่างในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจับจองได้ เริ่มต้น 4 แห่ง ประกอบด้วย ย่านบางนา ธนบุรี เชียงรากและเชียงใหม่ ประมาณ 1,000 ยูนิต อย่างไรก็ตาม หากจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นอาศัยต่อ เจ้าของผู้จับจองต้องอาศัยอย่างน้อย 5 ปี
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านรายการ เสียงจากใจไทยคู่ฟ้า ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบหลักการไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. โดยกระทรวงคมนาคมมีมติพัฒนาโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน โดยนำที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ (Non – Core Business) พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยในทำเลใกล้ระบบขนส่งมวลชน และการเดินทางไปยังแหล่งงานได้สะดวก แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ โดยระยะเร่งด่วน ระหว่างปี 2567 – 2568 จะดำเนินการโครงการอาคารชุด 3 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราก และบางซื่อ กม.11
ส่วนระยะที่ 2 พัฒนาโครงการบ้านพัก 3 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี และนครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลที่ดินที่มีศักยภาพของการรถไฟฯ พบว่า ที่ดินรอบพื้นที่สถานีรถไฟ หรือมีทำเลที่ตั้งใกล้กับระบบรางที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถมีประมาณ 38,000 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคทั่วทั้งประเทศ โดย บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟฯ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่โครงการนำร่อง โดยรูปแบบการพัฒนาจะเป็นการที่อยู่อาศัยแนวราบ หรืออาคารชุด ซึ่งจะพิจารณาตามศักยภาพสูงสุดที่สามารถพัฒนาได้
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า การดำเนินโครงการบ้านเพื่อคนไทย แตกต่างจากโครงการบ้านเอื้ออาทร สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2547 ซึ่งรับผิดชอบโดยการเคหะแห่งชาติ รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีลักษณะเป็นการจัดซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในรูปแบบคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านแถว และบ้านแฝด สำหรับผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย และพนักงานหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหากผ่อนกับสถาบันการเงินครบ 5 ปี สามารถทำเรื่องโอนให้เป็นของผู้ซื้อ แล้วจะได้โฉนดที่ดินหรือหนังสือกรรมสิทธิห้องชุด
โดยขณะนั้นรัฐบาลนายทักษิณมีเป้าหมายสร้างบ้านให้กับประชาชนทั่วประเทศ 1 ล้านหลัง ราคา 400,000-700,000 บาท ตั้งหลักเกณฑ์ให้กับผู้มีรายได้ครัวเรือนเดือนละไม่เกิน 10,000-15,000 บาท โดยให้การเคหะแห่งชาติดำเนินการก่อสร้าง และให้ประชาชนผ่อนชำระกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อย่างไรก็ตาม โครงการนี้พบการทุจริตโดยในสมัยนายวัฒนา เมืองสุข รมว.พม. ในขณะนั้นพบว่ามีการเรียกรับเงินสินบนจากบริษัทผู้รับเหมาโครงการ 82.6 ล้านบาท เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้ได้สัญญาก่อสร้าง ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกนายวัฒนา 99 ปี ติดคุกจริง 50 ปี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการบ้านเอื้ออาทรที่เหลือการจำหน่ายเป็นจำนวนมาก บางทำเลอยู่ห่างไกลจากในเมือง การคมนาคมลำบาก ไม่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าถึง ต้องใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ส่วนตัว และประสบปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ อีกทั้งมีบางโครงการที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ลักษณะบ้านเดี่ยว 2 ชั้น จำนวน 288 หลัง บนที่ดิน 25 ไร่ ใช้งบประมาณก่อสร้างเกือบ 100 ล้านบาท แต่พบผู้รับเหมาทิ้งงาน ก่อนถูกปล่อยร้างมานานกว่า 10 ปี
แต่สำหรับโครงการบ้านเพื่อคนไทย เนื่องจากก่อสร้างบนที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์ในด้านการเดินรถ และการคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่ผ่านมาการรถไฟฯ เคยนำที่ดินให้เอกชนเช่าในเชิงพาณิชย์ โดยการรถไฟฯ มีที่ดินเชิงพาณิชย์ (Non Core) ทั้งหมด 38,469 ไร่ มีการทำสัญญาเช่าทั้งหมด 12,233 สัญญา ซึ่งหากมีการก่อสร้างโครงการบ้านเพื่อคนไทยจริง ผู้เช่าจะมีสถานะคล้ายกับการเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ตามเงื่อนไขไม่เกิน 99 ปี ไม่มีโฉนดที่ดินหรือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดแต่อย่างใด