xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยเตือน! ‘ฐานทัพอากาศ’ ของสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิกเสี่ยงถูก ‘จีน’ โจมตีจนใช้การไม่ได้ในยามสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผลการศึกษาชี้ พื้นที่ขึ้น-ลงสำหรับเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกจีนโจมตี ซึ่งอาจทำให้เครื่องบินทหารสหรัฐฯ ไม่สามารถปฏิบัติการได้ในยามสงคราม

คณะผู้วิจัยชี้ว่า ปัญหาสำคัญก็คือฐานทัพอากาศต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่บนแนวหมู่เกาะอินโดนีเซียไล่ขึ้นมาจนถึงญี่ปุ่น และกินพื้นที่ตั้งแต่ทะเลจีนใต้มาจนถึงทะเลจีนตะวันออก ล้วนแต่อยู่ในพิสัยโจมตีของ “ขีปนาวุธจีน” ทั้งสิ้น

ทีมวิจัยยังประเมินว่า หากจีนตัดสินใจใช้ขีปนาวุธยิงโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาค พวกเขาจะสามารถทำให้รันเวย์ในญี่ปุ่นใช้การไม่ได้ไปอย่างน้อย 11.7 วัน ขณะที่ฐานทัพซึ่งอยู่ห่างออกไปอย่างเช่นที่เกาะกวมหรือหมู่เกาะแปซิฟิกอาจต้องปิดทำการอย่างน้อย 1.7 วัน

“อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจีนอาจสามารถสกัดขัดขวางปฏิบัติการสงครามของสหรัฐฯ ได้นานขึ้นอีก โดยปิดทางไม่ให้สหรัฐฯ ใช้รันเวย์เหล่านั้นเพื่อเติมเชื้อเพลิงเครื่องบินทางอากาศ (aerial refuelling operations)” รายงานระบุ

ผลวิจัยซึ่งมีชื่อว่า Cratering Effects: Chinese Missile Threats to US Air Bases in the Indo-Pacific ถูกตีพิมพ์เผยแพร่วันนี้ (12 ธ.ค.) โดยศูนย์สติมสัน (Stimson Center) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองด้านกลาโหมและความมั่นคง

คณะผู้วิจัยแนะนำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านอากาศยานไร้คนขับและสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้นทุนไม่สูง แต่สามารถป่วนแผนการโจมตีของจีนได้ รวมถึงพัฒนาอากาศยานแบบมีคนขับที่ใช้ทางวิ่งระยะสั้น เพิ่มศักยภาพในการซ่อมแซมรันเวย์และฐานทัพ รวมถึงกระชับสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อให้ประเทศเหล่านั้นยินยอมให้อเมริกาใช้สนามบินในยามคับขัน

กองบัญชาการอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกองกำลังอเมริกันในภูมิภาคนี้ยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานนี้ ส่วนกระทรวงกลาโหมจีนก็ยังไม่ให้สัมภาษณ์เช่นกัน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้กำหนดนโยบายของกองทัพสหรัฐฯ มีแนวคิดในการกระจายกองกำลังไปทั่วภูมิภาค และใช้งบประมาณหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่ออัปเกรดฐานทัพตั้งแต่ในออสเตรเลียเรื่อยไปจนถึงเกาะติเนียน (Tinian) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มเพื่อการป้องปรามในแปซิฟิก (Pacific Deterrence Initiative)

กองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังมีโครงการที่เรียกว่า Rapid Airfield Damage Recovery (RADR) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อซ่อมรันเวย์ที่ถูกโจมตีให้สามารถกลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด และสามารถรองรับเที่ยวบินปฏิบัติการได้เป็นพันๆ เที่ยว

รายงานฉบับนี้คำนวณผลลัพธ์ของปฏิบัติการโจมตีของจีน โดยสร้างโมเดลทางสถิติในภาษา Python ที่มีการกำหนดตัวแปรต่างๆ เช่น ขนาดของรันเวย์ ความแม่นยำของอาวุธจีน และระบบป้องกันของสหรัฐฯ เป็นต้น

เคลลี กรีโค หนึ่งในคณะผู้วิจัย ระบุว่า “ปีที่แล้วผมเริ่มได้ยินผู้กำหนดนโยบายและนักวิเคราะห์หลายคนพูดกันว่า สหรัฐฯ จะสามารถจมเรือรบจีนและปกป้องเกาะไต้หวันไว้ได้ ตราบได้ที่เรายังสามารถใช้ฐานทัพอากาศในญี่ปุ่นและเกาะกวม แต่ยังไม่เคยมีใครลองพิสูจน์ข้อเสนอเหล่านี้”

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น