ขวดกว่า 300 ใบ ที่บรรจุตัวอย่างมีชีวิตของไวรัส 3 สายพันธุ์ ที่มีอัตราการตายในระดับสูง สูญหายไปจากห้องปฏิบัติการหนึ่งในรัฐควีนส์แลนด์ ตั้งแต่เมื่อปี 2021 แต่พวกเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียเพิ่งยืนยันเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในวันจันทร์(9ธ.ค.) ที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่าขวดเหล่านี้สูญหายไป หลังจากตู้แช่หนึ่ง ณ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาสาธารณสุขแห่งรัฐควีนส์แลนด์ เกิดขัดข้อง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในปี 2021 เจ้าหน้าที่ตรวจพบความคลาดเคลื่อนของจำนวนขวดในเดือนสิงหาคม 2023 แต่กว่าจะมีคำยืนยันอย่างเป็นทางการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ต้องรอจนถึงวันจันทร์(9ธ.ค.)
ตัวอย่างไวรัสที่หายไปเหล่านี้ พบว่าเป็นไวรัสฮันตา, ไวรัสเฮนดรา และไวรัสจีนัสไลซา
ทั้งนี้ เฮนดราไวรัส พบเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย สามารถแพร่จากสัตว์สู่คน ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ส่วนจีนัสไลซาไวรัส เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการคล้ายไวรัสพิษสุนัขบ้า เป็นอันตรายถึงชีวิตในมนุษย์หากไม่ได้รับการรักษา ขณะที่ ฮันตาไวรัส บางสายพันธุ์มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 38 ซึ่งถือว่าอันตรายกว่าการติดเชื้อ COVID-19 หลายเท่า
ดร.จอห์น เจอร์ราร์ด หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขรัฐควีนส์แลนด์ ระบุว่า "มันยากที่จะคาดเดาเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่ประชาชนทั่วไปอาจตกอยู่ในความเสี่ยง สืบเนื่องจากแทบไม่มีรายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเลย"
"มันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นว่าตัวอย่างของไวรัสลดเกรดลงรวดเร็วมากๆ ยามอยู่นอกตู้แช่ที่มีอุณหภูมิต่ำ และกลายเป็นไวรัสที่ไม่แพร่เชื้อ" เจอร์รารด์ด กล่าว พร้อมคาดเดาด้วยว่าบางทีตัวอย่างเหล่านั้นอาจถูกทำลายในหม้อนึ่งความดันไอน้ำไปแล้วก็ได้ ส่วนหนึ่งในข้อกำหนดด้านความปลอดภัย
อ้างอิงข้อมูลจากพวกเจ้าหน้าที่รัฐควีนส์แลนด์ ในบรรดาขวดตัวอย่างไวรัสที่สูญหายไปนั้น มีเกือบ 100 ขวดที่บรรจุเฮนดราไวรัส มีอยู่ 2 ขวดที่บรรจุตัวอย่างฮันตาไวรัส ที่มีหนูเป็นพาหะ ส่วนอีก 223 ขวดที่เหลือบรรจุจีนัสไลซาไวรัส ทั้งนี้นับตั้งแต่ถูกพบเป็นครั้งแรกในปี 1996 เพิ่งมีผู้คนในออสเตรเลีย ติดเชื้อไวรัสจีนัสไลซาเพียงแค่ 3 คน แต่ทั้งหมดเสียชีวิต
ทิโมธี นิโคลส์ รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ของรัฐควีนส์แลนด์ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าตัวอย่างเหล่านี้ถูกขโมยไปโดยตั้งใจ หรือด้วยจุดประสงค์ร้าย "แน่นอนว่า รูปแบบการวิจัยทั้งหมดนี้ ดำเนินการเป็นความลับ แต่เราทราบว่าการวิจัยนี้ไม่ได้ถูกนำไปเป็นอาวุธไม่ว่าจะทางหนึ่งทางใดก็ตาม กระบวนการสร้างอาวุธไวรัสหนึ่งๆนั้นล้ำสมัยมากๆ และไม่ใช่อะไรบางอย่างที่มือสมัครเล่นจะทำได้"
นอกจากนี้แล้ว นิโคลส์ เน้นย้ำว่าไม่เคยปรากฏหลักฐานว่าฮันตาไวรัสเคยถูกใช้เป็นอาวุธใดๆ ในขณะที่ไวรัสนี้ถูกพบครั้งแรกในม้าในช่วงทศวรรษที่ 1990 และเคยมีมนุษย์ติดเชื้อจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น แม้หลายคนในนั้นถึงขั้นเสียชีวิต
พวกเจ้าหน้าที่เรียกการสูญหายของตัวอย่างไวรัสครั้งนี้ว่าเป็น "การละเมิดกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างร้ายแรง" และประกาศสืบสวนสิ่งที่เกิดขึ้น ในนั้นรวมถึงข้อสงสัยที่ว่ามันถูกปล่อยปละละเลยไม่มีใครสังเกตเห็นมาได้อย่างไรนานเกือบ 2 ปี
"เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควีนส์แลนด์ใช้มาตรการต่างๆ ในนั้นรวมถึงฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใหม่ เพื่อรับประกันว่าจะปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ และตรวจสอบใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อรับประกันว่าตัวอย่างต่างๆได้ถูกจัดเก็บอย่างเหมาะสม" นิโคลส์กล่าว
(ที่มา:อาร์ทีนิวส์)