รถไฟทางคู่สายเหนือช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ งานโยธาสร้างเสร็จแล้ว 100% แต่ยังเปิดใช้ไม่ได้ เลื่อนจากแผนปลายปี 67 ไปเป็นก.พ.68 เหตุรฟท.ยังติดตั้งระบบอุปกรณ์เดินรถไม่เรียบร้อย ส่วนสายอีสาน ยังติดหล่มค่าเวนคืนและสัญญา 2 ยังประมูลไม่ได้ ติดปรับแบบช่วงสีมาธานี
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทางประมาณ 148 กม. ว่า การก่อสร้างงานโยธา 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม 29 กิโลเมตร (ทางรถไฟยกระดับ 19 กม. และระดับพื้น 10 กม.) ค่าก่อสร้าง 10,050 ล้านบาท และสัญญา 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. เป็นโครงสร้างระดับพื้นทั้งหมด ค่าก่อสร้าง 8,649 ล้านบาท แล้วเสร็จตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ส่วนสัญญา 3 งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ค่าก่อสร้าง 2,988.57 ล้านบาท มีความก้าวหน้า 54.88% ล่าช้ากว่าแผนงาน 45.12%
ทั้งนี้ เดิมคาดหมายว่าจะเปิดให้ใช้งานรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทางประมาณ 148 กม. ได้ในช่วงปลายปี 2567 แต่เนื่องจาก จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ระบบตราทางสะดวกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Token) เพื่อใช้ในระหว่างรองานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมเต็มรูปแบบ ที่ดำเนินการอยู่ในสัญญา 3 ซึ่งขณะนี้คาดว่า ระบบ E-Token จะต้องใช้เวลาดำเนินการถึงเดือนม.ค. 2568 จากนั้นจะต้องมีการทดสอบระบบการส่งข้อมูลระหว่างกันและออกประกาศของฝ่ายปฎิบัติการเดินรถ จึงคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ได้ประมาณต้นเดือนก.พ. 2568
ส่วนความคืบหน้า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม.วงเงินลงทุน 29,968 ล้านบาท ซึ่งแบ่งงานโยธาออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม. ค่าก่อสร้าง 7,560 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์ ระยะทาง 8 กม. มีจำนวน 3 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 ระยะทาง 5.85 กม. อุโมงค์ที่ 2 ระยะทาง 0.65 กม. อุโมงค์ที่ 3 ระยะทาง 1.40 กม. ค่าก่อสร้าง 9,290 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ติดปัญหาอยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่จากประชาชน ซึ่งการรถไฟฯ อยู่ระหว่างขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติมวงเงิน 197.38 ล้านบาทสำหรับงานเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
โดยก่อนหน้านี้ รฟท.ได้เปิดบริการเดินรถรถไฟแบบทางคู่สายอีสาน รวมระยะทาง 42.90 กม.ประกอบด้วย ช่วงมาบกะเบา-มวกเหล็กใหม่ ระยะทาง 13.20 กม. และ ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร ระยะทาง 29.70 กม.แต่ปรากฎว่า ช่วงผ่านอุโมงค์ผาเสด็จ มีความยาวทั้งสิ้น 5.2 กม. ซึ่งปัจจุบันเป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย สถานีมาบกะเบากับสถานีหินลับ เกิดปัญหาฝุ่นภายในอุโมงค์ จึงทำให้ต้องหยุดใช้เส้นทางและอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบและทดสอบ ซึ่งยังไม่สามารถกลับมาเปิดใช้ได้
ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ะยะทาง 69 กม มีการแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ช่วงสถานีโคกกรวด-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 16 กิโลเมตร ตำบลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมา และปรับกรอบวงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา งานสัญญาที่ 3-5 เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณสูงสุด และคณะกรรมการรถไฟฯ อนุมัติแล้ว อยู่ระหว่างเสนอครม.จากนั้นจะเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้(12 ธ.ค. 67) การรถไฟฯ จะมีพิธีลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น - หนองคาย กับ กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง (ประกอบด้วย บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท ทิพากร จำกัด และ บริษัท เค เอส ร่วมค้า จำกัด ) วงเงินค่าก่อสร้าง 28,679 ล้านบาท ระยะทาง 167 กม.