xs
xsm
sm
md
lg

กลัวพบหลักฐาน? ตำรวจบุกค้นสำนักงานปธน.โสมใต้ เจอหน่วยรปภ.ขวางไม่ให้เข้า ขณะอดีตรมว.กลาโหมพยายามฆ่าตัวตายหนีคดีกฎอัยการศึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ผู้คนชาวเกาหลีใต้ยังคงออกมาชุมนุมเดินขบวนประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ขับไล่ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ออกจากตำแหน่ง ที่บริเวณถนนสายหนึ่งใกล้ๆ อาคารรัฐสภาแห่งชาติในกรุงโซลเมื่อคืนวันพุธ (11 ธ.ค.)
ดรามากฎอัยการศึกเกาหลีใต้ ‘พีค’ได้อีก เมื่อวันพุธ (11 ธ.ค.) ตำรวจบุกค้นสำนักงานประธานาธิบดี แต่ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขัดขวาง กระนั้นก็สามารถเข้าจับกุมผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจนครบาลโซล ในอีกด้านหนึ่ง ในคืนวันอังคาร (10) อดีตรัฐมนตรีกลาโหมพยายามฆ่าตัวตายหลังถูกจับกุมอย่างเป็นทางการไม่นาน



สื่อเกาหลีใต้ ระบุว่า เมื่อวันพุธตำรวจทีมสอบสวนพิเศษได้บุกค้นสำนักงานของประธานาธิบดียุน ซอกยอล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจนครบาลโซล และหน่วยงานความมั่นคงรัฐสภา

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาโฆษกทีมสอบสวนพิเศษเผยว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนสามารถเข้าค้นได้เพียงสำนักงานบริการพลเรือน ก่อนถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดีขัดขวางไม่ให้เข้าสู่ตัวอาคารหลักของสำนักงานประธานาธิบดี

จากนั้น ภายหลังการเผชิญหน้ากันหลายชั่วโมงที่สำนักงานประธานาธิบดี ตำรวจแถลงในคืนวันพุธว่า ทีมสอบสวนพิเศษยังคงพยายามเจรจาหารือกับพวกเจ้าหน้าที่และหน่วยรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี เพื่อเข้าตรวจค้นและยึดหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

ด้านพรรคประชาธิปไตย (ดีพี) ที่เป็นฝ่ายค้านหลักในเกาหลีใต้ ออกมาแถลงเตือนว่าจะแจ้งความข้อหากบฏกับพวกเจ้าหน้าที่และทีมงานรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี หากยังคงขัดขวางการปฏิบัติตามกฎหมายเช่นนี้ต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันพุธเช่นกัน สำนักข่าวยอนฮัป ของโสมขาว ระบุว่า โช จีโฮ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคิม บองซิก ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจนครบาลโซล ได้ถูกจับกุมแล้ว

โช นั้นถูกกล่าวหาว่า ส่งตำรวจไปขัดขวางไม่ให้สมาชิกสภาเข้าสู่อาคารรัฐสภา หลังจากยุนประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค.

แต่ในที่สุดสมาชิกสภาส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงสมาชิกบางคนของพรรคพลังประชาชน (พีพีพี) ของยุน สามารถฝ่าวงล้อมของเจ้าหน้าที่ จนได้เข้าไปเปิดประชุมฉุกเฉินในสภาและจัดการโหวตคัดค้านการออกกฎอัยการศึกของยุนทันที จนยุนต้องออกทีวีประกาศยกเลิกคำสั่งของตนในเวลาต่อมา

การประกาศกฎอัยการศึกที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ยุนถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศแล้ว โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนคดีกบฏ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหานอกจากตัวประธานาธิบดี ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคน

หนึ่งในนั้นคือ คิม ยอง-ฮยุน รัฐมนตรีกลาโหมของยุน ซึ่งลาออกจากตำแหน่งหลังวิกฤตประกาศกฎอัยการศึก และต่อมาถูกจับกุม จากนั้นรายงานระบุว่า เมื่อกลางดึกวันอังคาร (10) เขาพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งก็คือไม่นานหลังจากถูกจับกุมอย่างเป็นทางการ

ชิน ยองแฮ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงต่อคณะกรรมาธิการยุติธรรมของรัฐสภาในวันพุธว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพบคิมพยายามใช้เสื้อเชิ้ตและชุดชั้นในของตัวเองฆ่าตัวตาย และเสริมว่า ขณะนี้คิมปลอดภัยดีและได้รับการเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

คิมถูกจับกุมในข้อหาพัวพันกับการทำภารกิจสำคัญระหว่างก่อการกบฏ และใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพ

อดีตรัฐมนตรีกลาโหมผู้นี้กล่าวผ่านทนายความว่า ขอรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด และสำทับว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาเพียงแค่ปฏิบัติตามคำสั่งที่เขามอบหมายให้เท่านั้น

คิมยังถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศด้วย เช่นเดียวกับรัฐมนตรีมหาดไทยและนายทหารระดับสูงที่รับผิดชอบการปฏิบัติการภายใต้กฎอัยการศึก

อดีตรัฐมนตรีกลาโหมยังถูกสมาชิกสภาพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่า เรียกร้องให้โจมตีจุดที่เกาหลีเหนือใช้ปล่อยบอลลูนขยะเข้าสู่เกาหลีใต้ ทว่า บรรดาผู้ช่วยต่างคัดค้าน

คิมยังถูกกล่าวหาอีกว่า สั่งการให้ส่งโดรนเข้าไปยังเปียงยาง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ต้องการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศกฎอัยการศึก

มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า ทีมเฉพาะกิจภายในพรรคพีพีพีของยุน ได้เสนอแผนให้ประธานาธิบดีลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ตามด้วยการเลือกตั้งในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ทว่า ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับการรับรองจากสมาชิกทั้งหมดของพรรค และถึงแม้ผ่านความเห็นชอบก็ไม่มีแนวโน้มจะทำให้พรรคฝ่ายค้านยุติความพยายามในการผลักดันให้สภาพิจารณาญัตติถอดถอนยุนอีกรอบหนึ่งในวันเสาร์นี้ (14)

ญัตติดังกล่าวต้องการเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาพีพีพีเพียง 8 คนก็จะสามารถผ่านออกมาบังคับใช้ โดยเมื่อถึงวันอังคารมีสมาชิกพีพีพี 3 คนระบุว่า จะโหวตให้ญัตตินี้

การโหวตถอดถอนครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (7 ) ล้มเหลว เนื่องจากสมาชิกพีพีพีแทบทั้งหมดยังคงคัดค้าน

พีพีพีแก้ต่างว่า ยุนขอไม่ให้ถอดถอนเขา แลกกับการที่เขาจะยอมลาออกเอง และระหว่างที่ยังไม่ได้ลาออก ยุนยังยอมถ่ายโอนอำนาจให้นายกรัฐมนตรีฮัน ดั๊ก ซู และฮัน ดอง ฮุน หัวหน้าพรรคพีพีพี

ทว่า ฝ่ายค้านโจมตีว่า การกระทำดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญและเป็น “การทำรัฐประหารรอบสอง” หลังความพยายามใช้กฎอัยการศึก ที่ถือเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจมาครั้งหนึ่งแล้ว ร้อนถึงนายกรัฐมนตรีฮันต้องออกมาแถลงเมื่อวันพุธว่า ตัวเขาก็คัดค้านการประกาศกฎอัยการศึก และขอโทษที่ไม่สามารถขัดขวางการดำเนินการดังกล่าวได้

(ที่มา: เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น