รมช.คลัง วอนอย่าคิดเลี่ยงหนี้ กยศ. หลังโลกโซเชียลฯ สอนบิดให้องค์กรล้ม ชี้ตัดโอกาสคนรุ่นใหม่ ยันกองทุนไม่ถังแตก ด้าน ผจก.กองทุนฯ ย้ำผู้กู้ยืมรับผิดชอบ ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาแก่รุ่นน้อง
วันนี้ (11 ธ.ค.) จากกรณีที่กลุ่มเฟซบุ๊ก "ทนายอาสาให้คำปรึกษากฎหมายฟรี" ได้มีสมาชิกรายหนึ่ง อ้างว่าเปิดร้านซ่อมซื้อขายโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน แนะนำการไม่ชำระหนี้ กยศ. ของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยอดหนี้กว่า 500,000 บาท รวมค่าปรับ โดยทำการย้ายทรัพย์ เช่น บ้าน เป็นชื่อญาติก่อนถูกฟ้อง แล้วรอให้บุตรอายุเกิน 20 ปีค่อยโอนกลับมาเป็นชื่อลูก ส่วนสินทรัพย์ใหม่ซื้อเป็นชื่อลูก บัญชีธนาคารใช้ชื่อลูกในการรับเงิน พยายามเก็บทองคำแท่งไว้ หาก กยศ. ทวงหนี้ไม่ได้ก็ให้ไปทวงกับผู้ค้ำประกันแทน หากผู้ค้ำประกันเสียชีวิต ไม่มีมรดกให้ลูก ทายาทผู้ค้ำประกันไม่ต้องชดใช้ และอ้างว่าไม่มีอะไรน่ากลัว กยศ. ทวงไม่ได้ก็ทำอะไรไม่ได้ บิดให้รู้สำนึก กล้าปรับก็กล้าบิด ถ้าทุกคนรวมใจบิดไม่นานองค์กรก็ล้มไปเอง กลายเป็นที่วิจารณ์บนโซเชียลฯ จำนวนมาก
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียด แต่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเงิน กยศ. จะนำไปใช้ประโยชน์กับคนรุ่นถัดไป ที่จะได้โอกาสเข้าถึงการศึกษา และเรื่องนี้ไม่ต้องมาบิดหรือหลีกเลี่ยง เพราะตอนนี้มีกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. อยู่แล้ว โดยได้ตัดเรื่องเบี้ยฝากออกไป และเรียกร้องให้เข้ามาทำสัญญาใหม่กับ กยศ. ด้วยซ้ำ โดยย้ำว่า เรื่องนี้เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ หากไปคิดแบบนี้จะเป็นการตัดโอกาสในการศึกษาของคนที่มาทีหลัง และไม่ควรทำ ส่วนการแก้กฎหมายกรณีผิดนัดชำระหนี้นั้น สาเหตุที่แก้กฎหมายเรื่องนี้ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าโทษของเรื่องนี้จะต่ำ แต่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขึ้น ไม่อยากให้คิดด้วยวิธีนี้ เพราะจะเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างทางการศึกษาของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ได้ปฎิเสธกระแสข่าวว่าเงินของ กยศ. กำลังจะหมด เรื่องนี้เป็นกลไกการบริหารงบประมาณ
ด้าน ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า กยศ. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินและเงินที่ได้รับชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่ กลับมาเป็นทุนหมุนเวียน เพื่อนำไปสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้กู้ยืมรุ่นน้อง โดย กยศ. มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ที่ต้องการศึกษาต่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี มีระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี และมีเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่ยืดหยุ่น ดังนั้น การชำระหนี้จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ผู้กู้ยืมทุกคนควรปฏิบัติ เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป
หากผู้กู้ยืมไม่ชำระเงินคืนตามกำหนด จะทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและเกิดเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงอาจถูกฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายอีกด้วย นอกจากนี้ การชักชวนหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงการชำระหนี้หรือโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบและผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน นักศึกษารุ่นน้องที่ต้องการความช่วยเหลือจาก กยศ. ได้ในอนาคต หากผู้กู้ยืมคนใดประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ก็สามารถติดต่อกับ กยศ. เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ ย้ำว่าให้รปฏิบัติตามข้อตกลงในการกู้ยืมเงินและการชำระหนี้ และขอให้ผู้กู้ยืมทุกคนที่เคยได้รับโอกาสจาก กยศ. มีความรับผิดชอบในการชำระเงินคืน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป
อนึ่ง ปัจจุบัน กยศ. มีผู้กู้ยืมเงินกองทุน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 จำนวน 7,112,733 ราย แบ่งเป็น อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,614,915 ราย คิดเป็น 51% ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,931,321 ราย คิดเป็น 27% อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,492,743 ราย คิดเป็น 21% และเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ 73,754 ราย คิดเป็น 1%