xs
xsm
sm
md
lg

ดันทุรังค่าแรง 400 พิพัฒน์ลุ้นไตรภาคีเคาะ เอกชนค้านจี้รัฐทบทวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



จับตาการประชุมบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี เคาะค่าแรง 400 ทั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาล หลัง ครม.เคาะกรรมการที่ว่างลง พิพัฒน์ลุ้นดันเป็นของขวัญปีใหม่ ไม่หวั่นเอกชนกังวล อ้างย้ายฐานการผลิตปกติอยู่แล้ว ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วย หนุนจ่ายตามทักษะฝีมือแรงงาน จี้รัฐดูแลค่าครองชีพประชาชน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.) คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) ชุดใหม่จะมีการประชุม โดยเป็นที่จับตามองว่าจะมีการพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาลหรือไม่ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. มีมติอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 ราย ได้แก่ เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

ทั้งนี้ การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลดังกล่าว จะทำให้คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละ 5 คน มีครบ 15 คน จากที่ก่อนหน้านี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เกษียณอายุราชการ ต้องพ้นจากกรรมการโดยตำแหน่ง และธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่รับรองคุณสมบัติของนายเมธี สุภาพงษ์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายภาครัฐ ที่เกษียณอายุจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้วเกือบ 1 ปี ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ หยุดชะงักมาโดยตลอด

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการนำนโยบายของรัฐบาลมาหารือ หากทุกฝ่ายเห็นด้วยและมีมติผ่านก็จะดีที่สุด และจะมีการเรียกประชุมในวันที่ 23 ธ.ค. เชื่อว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยดี แต่ต้องดูผลการประชุมก่อน ซึ่งหากบอร์ดเห็นชอบก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป ยืนยันว่าทันเป็นของขวัญปีใหม่ เพราะตนได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนฝ่ายจ้างที่ยืนยันว่าไม่อยากให้ขึ้นค่าแรงตอนนี้ เห็นว่าคงต้องยืนยันแนวทาง โดยปลัดกระทรวงแรงงานมีการคุยกันนอกรอบบ้างแล้ว ซึ่งแนวโน้มมีความเป็นไปได้ รัฐบาลมีวิธีการแนะแนวทางที่จะทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

เมื่อถามย้ำว่า ภาคเอกชนกังวลว่า การขึ้นค่าแรงจะทำให้เกิดปัญหาแรงงาน รวมถึงราคาสินค้าจะแพงขึ้น และจะมีการย้ายฐานการผลิตนั้น เห็นว่าภาคเอกชนมีการย้ายฐานการผลิตอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีส่วนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นปกติทุกปี ดังนั้นต้องเข้าใจ แต่ที่กังวลมากคือการผลิตรถยนต์ เพราะมีผลกระทบเรื่องอะไหล่ ซึ่งกระทรวงแรงงานพยายามหาทางออกที่ดีที่สุด ขณะนี้กำลังศึกษาแนวทางจากที่เคยใช้เมื่อปี 2555 และต้องหารือกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อถามถึงของขวัญปีใหม่ของกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ยืนยันว่ามี แต่ขอให้ทุกอย่างสะเด็ดน้ำ แล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า

ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทของรัฐบาล ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด ประกอบกับการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดมากกว่า 90% ไม่เห็นด้วย และ 30% มีมติไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้างด้วย การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้เกิดการเลิกจ้าง ผู้ประกอบการลดจำนวนพนักงานลง หรือชะลอการจ้างงานใหม่เพื่อลดต้นทุน กระทั่งถึงการปิดกิจการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ และปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี นำไปสู่การปลดและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุน

โดย กกร.เสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยใช้กลไกคณะกรรมการไตรภาคี ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ จังหวัด อีกทั้งควรจะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อมีเหตุจำเป็นและปัจจัยทางเศรษฐกิจบ่งชี้ แต่ไม่ควรเกินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น หากรัฐบาลมีนโยบายปรับค่าจ้างแบบจำเพาะ ก็ควรมีการศึกษาความพร้อมของแต่ละประเภทกิจการหรืออุตสาหกรรม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ประกอบการประเภทกิจการในแต่ละภูมิภาค

อีกทั้ง กกร.สนับสนุนการจ่ายอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) ให้ความสำคัญกับการ Upskill & Reskill, Multiskill และ New Skill ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สนับสนุนให้เร่งรัดการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 280 สาขา จากปัจจุบัน 129 สาขา และขอให้รัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าครองชีพเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนเร่งรัดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น