xs
xsm
sm
md
lg

2 หมอคอนเฟิร์ม-ข้อมูลตะวันตกเตือน!! “เสี่ยงตาย” จริง ถ้า “นวดบิดคอ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



น่าเศร้า “เหยื่อร้านนวด” ต้องจากไปก่อนวัยอันควร แม้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คุณหมอประสานเสียงเตือนไปในทางเดียวกัน “เสี่ยงตาย” เกิดขึ้นได้ เพราะ “นวดบิดคอ”

** “นวดเสี่ยงตาย” ไม่ใช่เคสแรก **

กลายเป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อ “ผิง”นักร้องหมอลำชื่อดัง ต้องจากไปก่อนวัยอันควร เพียงเพราะไป “นวดบิดคอ” ที่ร้านนวดแห่งนึงใน จ.อุดรธานี จน “กระดูกคอเคลื่อนไปทับเส้นประสาท”

โดยนักร้องสาวได้แชร์ประสบการณ์แสนทรมาน ผ่านเฟซบุ๊กว่า “ไปนวดเพราะอยากหาย”แต่ได้ “กระดูกคอเคลื่อน-แขนกระตุก” ตลอดเวลา กับอาการ “ชาครึ่งซีก” ตั้งแต่หัวถึงเท้ามาแทน

“อ่อนแรงยกของไม่ขึ้น (ใส่กางเกงแทบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ) ปวดทีลามไปทั้งตัว ทรมานมาก เพราะกระตุกจนทำอะไรไม่ได้เลย ปวดกว่าเดิมอีกต่างหาก เป็นประสบการณ์ที่แย่มากๆ สำหรับคนอายุแค่ 20”

“แม่หนูเป็นหมอนวด หนูเรียนนวดมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ หนูชอบนวดมาก หนูยังไม่เอะใจอะไร นึกว่าเป็นเอฟเฟกต์จากการนวดอีก”

แต่เมื่อหมอตรวจก็พบว่า “ผิง” เป็น “ไขสันหลังอักเสบ” หลังจากนั้น อาการก็ทรุดลงอย่างหนัก จนกลายเป็น “เจ้าหญิงนิทรา” สุดท้ายก็จากไปในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

ล่าสุด ได้มีการยืนยันแล้วว่า เธอจากไปเพราะ “ติดเชื้อในกระแสเลือด” ซึ่งญาติๆ มองว่า สาเหตุจริงๆ ที่ทำให้ต้องจากไปแบบนี้ เพราะ “การนวดบิดคอ” ที่ร้านดังกล่าว


{X-Ray กระดูกคอของนักร้องสาว}

ส่วนจะมีองค์ประกอบอื่นมาเกี่ยวข้องนอกจาก “การนวด” ที่ส่งผลให้เสียชีวิตได้แค่ไหน ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ทราบเบื้องต้นแค่เพียงว่า แฟนของน้องผู้เสียชีวิต เคยโพสต์ในช่วงอาการวิกฤตเพียงว่า...


“หมอบอกว่าติดเชื้อในกระแสเลือด+โรคเก่ากำเริบ เลยเกิดอาการช็อก ตอนนี้ผิงช็อกอยู่ แต่ยังช็อกไม่มากครับ”

ด้าน “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ข้อมูลในอเมริกาพบว่า เคยเจอ “ผู้ป่วยถึง 55 ราย” ที่มีอาการคล้ายเคสนี้ ซึ่งสาเหตุมาจากการ “นวด-บิด-ดัด” บริเวณต้นคอ

และการเสียชีวิตจากการนวด ก็ไม่ใช่เคสนี้เคสแรก ล่าสุดมี “นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์”เสียชีวิตจากการ “นวดน้ำมัน” รายละเอียดบอกว่า หลังจากนวดเสร็จก็ “หายใจไม่ออก” ทางร้านปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่สุดท้ายก็ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล



เพื่อคลายความสงสัย ทางทีมข่าวจึงขอให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงช่วยวิเคราะห์ว่า นอกจาก “ต้นคอ” มันมีจุดที่เสี่ยง และไม่ควรนวดอีกไหม

คำตอบที่ได้จาก “ป็อป” พท.ป.ณิชากร เมืองสองชั้น กรรมการสมาคมผู้ประกอบการแพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนไทยประยุกต์ จาก หมอแวร์สมิงสหคลินิก คือมีอีก 5 จุดด้วยกันที่เป็น “จุดเสี่ยง”

ต้องระวังทั้ง “ตำแหน่ง” “แรงกด”และ “เทคนิคในนวด”ต้องทำโดย “ผู้มีใบประกอบวิชาชีพ”เท่านั้น ได้แก่…
1. “ต้นคอ”เพราะเป็นจุดศูนย์รวมเส้นเลือด-เส้นประสาท หากพลาดอาจทำให้ “เป็นอัมพาต” ได้
2. “ขมับ”เพราะเป็นบริเวณที่ “กระดูกไม่แข็งแรง” กล้ามเนื้อบาง หากกดแรงมากอาจทำให้ “เส้นเลือดแตก”
3. “รักแร้”จุดนี้มี “เส้นเลือด-เส้นประสาท” การนวดเค้นแรงๆ อาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทและเส้นเลือด
4. “ขาหนีบ” เป็นส่วนที่มี“หลอดเลือดใหญ่” อยู่ เป็นอีกจุดที่ต้องระวังในการกดนวด
และ 5. “ท้อง” คือศูนย์รวมของ “อวัยวะสำคัญ”การนวดด้วยความรุนแรง จะทำให้จุกและปวดท้องได้


{ “ป็อป-พท.ป.ณิชากร” สมาคมผู้ประกอบการแพทย์แผนไทยประยุกต์ฯ }

ส่วนเคสที่เป็นประเด็นร้อนล่าสุดนี้ ยังไม่สามารถตอบได้จริงๆ ว่า “กระดูกทับเส้นประสาท” ที่ว่านั้น คืออาการที่เป็นก่อนนวด หรือ “นวดแล้วทำให้อาการหนักขึ้น” เพราะ “ไม่มีการซักประวัติผู้ป่วยก่อนนวด”

ทั้งนี้นอกจาก “จุดเสี่ยง” พวกนี้ที่ต้องระวังแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทยอีกราย อย่าง “เบิร์ด” พท.ป.ทรงกลด วัฒนพรชัย อุปนายกสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์แห่งประเทศไทย ในสังฆราชูปถัมภ์ บอกกับทีมข่าวว่า “วิธีการนวด” ก็สำคัญ...
“นวดที่ปลอดภัยคือ การนวดแบบหน่วง เน้น แล้วก็นิ่ง”

จะไม่ใช้การกดที่รุนแรง หรือรวดเร็ว และ “นวดไปตามจุดปลอดภัย” คือตาม “กล้ามเนื้อมัดใหญ่”ทีละมัด และจะไม่กดลงไปที่กระดูกโดยตรง เพราะจะเกิดผลกระทบกับกระดูกได้

“รวมทั้งการบิด ดัด ตามร้านนวดต่างๆ ไม่ควรเด็ดขาด เนื่องจากว่าการบิดดัดกระดูก เป็นกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งจะต้องทำโดยแพทย์แผนไทยเท่านั้น และต้องเป็นแพทย์แผนไทยผู้เชี่ยวชาญด้วย”



{ “เบิร์ด-พท.ป.ทรงกลด” สมาคมผู้ประกอบการแพทย์แผนไทยประยุกต์ฯ }

**เช็กก่อน!! “โรคต้องห้าม(นวด)” **

เรื่อง “การนวด” นอกจากจุดต่างๆ ที่ต้องระวัง กับวิธีการนวดที่ถูกต้องแล้ว อีกเรื่องต้องดูคือ “โรค” และ “สภาพร่างกาย”ของคนที่ไปใช้บริการ “หมอเบิร์ด” บอกว่ามันมีข้อห้ามว่า หากคุณเป็นโรคเหล่านี้ ไม่ควรไปนวด

อย่าง “มีไข้” “โรคความดันสูง” “เบาหวาน” “มีภาวะติดเชื้อ” “หลอดเลือดดำอักเสบ”แม้กระทั่งเป็น “โรคผิวหนัง” มี “แผลเปิด-แผลเรื้อรัง” หรือคนที่ “ผ่าตัด”มาไม่ถึงเดือน รวมทั้งคนที่เป็นโรคกระดูก ทั้ง “กระดูกพรุน”ไปจนถึง “กระดูกหัก-ร้าว-เคลื่อน”เหล่านี้ไม่แนะนำให้ไปนวด

“และข้อสุดท้าย ที่ควรระวังก็คือ คนที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง เพราะยิ่งนวด อาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้เร็วขึ้น”

ปัจจุบัน “การนวด” มี 2 แบบ แบบแรกคือ “นวดเพื่อสุขภาพ”เป็นการนวดตามร้านนวดทั่วไป ซึ่ง “ร้าน” ต้องแสดง “ใบอนุญาตประกอบกิจการ” จาก “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)” ให้เราเห็น

ส่วน “ผู้ทำหัตถการ” หรือ “หมอนวด” ก็มีกฎบังคับ ให้ต้องแสดง “ใบอบรมหลักสูตรนวด” ให้ผู้ใช้บริการเห็นว่า จบหลักสูตรอะไร เรียนที่ไหนมา อบรมมาแล้วกี่ชั่วโมง



แบบที่ 2 คือ “นวดเพื่อรักษา” อันนี้เป็นพวก “สถานพยาบาล” “คลินิก” ที่ให้บริการโดย “แพทย์” ที่จบหลักสูตร “แพทย์แผนไทย”หรือ “แพทย์แผนไทยประยุกต์” ทั้งนี้ต้องมี “ใบประกอบวิชาชีพ” และ “ใบประกอบกิจการสถานพยาบาล”

ซึ่งโดยปกติแล้ว หากเราไป “นวดเพื่อรักษา” กับ “แพทย์”กูรูอีกรายอย่าง “หมอป็อป” บอกว่า“เราต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน”เพื่อไม่ให้เป็น “อันตราย”จาก “โรคประตัวของผู้ป่วย” ที่กล่าวมา

แต่หากเราไปร้านนวดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่ “ไม่มีซักประวัติ” ก่อนเริ่มทำหัตถการ แนะว่าต้องบอกเขาก่อนว่า เรามีโรคอะไรบ้าง



ด้าน “หมอเบิร์ด”แนะคนที่อยากนวดว่า ต้องดูอาการตัวเองก่อนว่า “การปวดเมื่อย” นี้มาจากไหน ถ้ามาจาก “ความเครียด” หรือ “ทำงานหนัก”แบบนี้ “การนวดเพื่อผ่อนคลาย” ตามร้านนวดก็ทำได้

แต่ถ้าอาการปวดเหล่านั้น “รุนแรง” หรือเป็นจน “รบกวน” การใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ก็ควรไป “ปรึกษาแพทย์” ที่เชี่ยวชาญ ดีกว่าเพื่อจะได้รักษาได้อย่างตรงจุด

ทุกวันนี้สามารถเช็กพวก “คลินิก” หรือ “ร้านนวด” ได้ง่ายๆ ว่า มี “ใบประกอบกิจการ” หรือเปล่า โดยเข้าหาในอินเทอร์เน็ต พิมพ์คำว่า “ตรวจสอบสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” ก็จะขึ้นเว็บไซต์ของ “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ”

ที่เพียงแค่เราใส่ชื่อ “ร้าน”หรือ “คนที่ให้บริการ” ก็จะมีข้อมูลขึ้นมาให้ดูว่า ร้านหรือหมอนวด คนนี้ มีใบอนุญาตหรือไม่



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น