ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 หรือ มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม 2567 ที่ชาลเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 เมืองทองธานี ยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนคนไทย “ล้นหลามเหมือนเดิม”โดยเฉพาะในแง่ของ“ผู้เข้าชมงาน”
ขณะที่ “ยอดจอง” ในช่วง 4 วันแรกคือ 28 พฤศจิกายน 2567 – 1 ธันวาคม 2567 อยู่ที่ประมาณ 11,280 คัน ในจำนวนนี้“โตโยต้า”ยังคงครองแชมป์ รองลงมาคือค่ายจีนอย่าง“บีวายดี”และอันดับสามได้แก่“ฮอนด้า”
ทว่า ก็มีคำถามตามมาเช่นกันว่า สุดท้ายแล้ว “ยอดขายจริง” จะลดลงไปจาก “ยอดจอง” สักกี่มากน้อย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจสำหรับมอเตอร์ เอ็กซ์โปครั้งนี้ ก็คือดูเหมือนว่า “ค่ายรถยนต์จีน” ทั้ง “หน้าเก่า” และ “หน้าใหม่” จะเดินหน้าทำการตลาดกันอย่างเต็มอัตราศึก เรียกว่า มองไปทางไหนก็เห็นแต่รถยนต์จีนเลยก็ว่าได้
ยกตัวอย่างเช่น มีการเปิดตัวรถต้นแบบที่ 3 คันคือ CHANGAN P201 รถกระบะที่มาพร้อมเทคโนโลยี RANGE-EXTENDED ELECTRIC VEHICLE (REEV) ตามด้วย CHERY FENGYUN E05 รถซีดานระดับไฮเอนด์ และ iCar X25 รถเอสยูวีแห่งอนาคต ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า BEV และ REEV
นอกจากนี้ ยังมีรถที่เปิดตัวครั้งแรกในโลก ได้แก่ GEELY EX5 เอสยูวีไฟฟ้า 100% รุ่นล่าสุด พวงมาลัยขวา และรถที่เปิดตัวครั้งแรกในอาเซียน LOTUS CHAPMAN BESPOKE ส่วนรถที่เปิดตัวครั้งแรกในไทย ได้แก่ AION V, NISSAN SERENA, XPENG X9 ULTRA SMART COUPE MPV
ขณะเดียวกันก็มีรถเด่นที่น่าสนใจ เช่น MG NEW IM6 รุ่นพวงมาลัยขวาครั้งแรกของโลก GWM WEY 80 PHEV รถเอมพีวีอเนกประสงค์ และ GWM TANK 700 Hi4-T รถเอสยูวีรุ่นเรือธง ขุมพลังพลัก-อิน ไฮบริด เป็นต้น
แน่นอนว่า “กลยุทธ์หลัก” ที่นำมาใช้ก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่ “การลดราคา” เป็นสำคัญ
ที่โดดเด้งและสร้างความฮือฮาที่สุดเห็นทีจะหนีไม่พ้น “บีวายดี” ที่ประกาศราคาขาย SEAL โดยปรับลดราคาสูงสุด 4 แสนบาท กล่าวคือรุ่น Dynamic เหลือราคาขาย 999,900 บาท รุ่น Premium 1,099,900 บาท และรุ่น AWD Performance 1,199,900 บาท
ขณะที่ค่ายอื่นๆ ก็ไม่แพ้กัน เช่น ATTO คันละ 3 แสนบาท แบรนด์ใหม่อย่าง Leap-JuneYao-Riddara เปิดราคาต่ำพร้อมส่วนลดแจกแถมแบบไม่มียั้ง เป็นต้น
กระทั่งเกิดคำพูดที่ติดหูกันโดยถ้วนทั่วสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนว่า “ซื้อก่อนประหยัดก่อน แต่ซื้อทีหลัง ประหยัดกว่า” กันเลยทีเดียว เพราะไม่อาจคาดเดาได้ว่า จะมีการปรับลดราคาอีกหรือไม่ ซึ่งก็ส่งผลต่อยอดขายอยู่ไม่น้อยเช่นกันสำหรับคนที่คิดจะซื้อ เพราะอาจจะตัดสินใจรอดูก่อน ด้วยเกรงว่าจะนึกเสียดายในภายหลัง
“การรีรอที่จะซื้อเพราะการลดราคา 200,000 บาท ถึง 300,000 บาท เกิดขึ้นจริง หากลดได้ขนาดนี้ แล้วยังสามารถสร้างกำไรได้ด้วยละก็ คงต้องยอมรับว่าผู้ผลิตจีนมีศักยภาพแข่งขันด้านราคาที่สูงทีเดียว”โนริอากิ ยามาชิตะแม่ทัพใหญ่ค่ายโตโยต้า ให้ความเห็นต่อเรื่องการลดราคาของค่ายรถยนต์จีน พร้อมยืนยันว่า โตโยต้าจะไม่ใช้แนวทางนี้ในการทำตลาดไทย
อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับการ “ลดแลกแจกสะบัด” ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ค่ายรถยนต์จีน” ด้วยมีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น
กล่าวคือผลพวงจากยอดขายรถอีวีทั่วโลกลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในตลาดจีนและทั่วโลก รวมทั้งกำแพงภาษีที่ค่ายรถยนต์จีนต้องเผชิญจากยุโรปและสหรัฐฯ ก็ส่งผลทำให้เกิดภาวะ “โอเวอร์ซัปพลาย” และนำไปสู่การประกาศลดราคากันอย่างขนานใหญ่เพื่อเร่งระบายสินค้าที่คงค้างสต๊อก ซึ่งไทยก็คืออีกหนึ่งเป้าหมายของผู้ผลิตอีวีจีน
ยิ่งในช่วงปลายปีอย่างนี้ด้วยแล้ว ยิ่งเปิดสงครามราคาเข้าใส่กันเพื่อปั้นยอดขายที่เกือบทุกบริษัทพลาดเป้าจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้เสียรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนทำให้การปล่อยสินเชื่อสะดุดจากการระมัดระวังของบรรดาสถาบันการเงิน
แน่นอน ไม่เพียงแต่กระทบกับ “ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและตะวันตก” เท่านั้น แม้แต่ “ค่ายรถยนต์สัญชาติจีน” ด้วยกันเอง ก็ปะทะกันอย่างหนัก จนมีการคาดเดาว่า อาจจะมีบางบริษัทที่ส่อแววว่าจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ อย่างไร
และหนึ่งในค่ายรถยนต์จีนที่ถูกจับตามากที่สุดก็คือ “เนต้า” ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้ว เนต้าเป็นค่ายที่ลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยและเปิดสายการผลิตไปเมื่อเดือน พ.ย. 2023เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตามที
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อด้านยานยนต์จีน Car News China และสำนักข่าว DoNews รายงานตรงกันว่า “เนต้า” ได้สั่งหยุดการผลิตในโรงงานที่เจ้อเจียง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตหลักของแบรนด์ โดยมีปริมาณการผลิตที่วางแผนไว้ปีละ 200,000 คัน โดยผลิตรถยนต์ครอสโอเวอร์ Neta L เป็นหลัก
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า เนต้าได้ลดเงินเดือนพนักงาน โดยในเดือน ต.ค. พนักงานของเนต้าบางคนอ้างว่า บริษัทไม่จ่ายเงินเดือนของเดือนก่อนหน้าตรงเวลาเนื่องจากเป็นหนี้ซัพพลายเออร์ ในเวลาเดียวกัน เงินเดือนของพนักงานระดับสูงของเนต้าก็ลดลงถึง 30%
ด้านบริษัทแม่อย่าง Hozon Auto เองก็ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นทุกปีในจีน โดยปี 2021 ขาดทุน 4.84 พันล้านหยวน (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท), ปี 2022 ขาดทุน 6.67 พันล้านหยวน (3.17 หมื่นล้านบาท) และปี 2023 ขาดทุน 6.87 พันล้านหยวน (3.27 หมื่นล้านบาท) ส่วนเงินสำรองอยู่ที่ 2.83 พันล้านหยวน (1.34 หมื่นล้านบาท)
ขณะที่ธุรกิจในประเทศไทย ก็พบความผิดปกติที่ไม่อาจมองข้ามได้ เมื่อมีการเปิดเผยจากบรรดาดีลเลอร์ว่า ที่ผ่านมา บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด จ่าย “อินเทนซีฟ(intensive)” ดีลเลอร์ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า แทนเงินสด
ขณะที่ “ชู กังจื้อ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า เนต้ามีลูกค้ามากกว่า 22,000 ราย ซึ่งทางบริษัทมั่นใจว่า การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินให้ดีขึ้นของบริษัทแม่ จะช่วยเสริมให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด นั่นคือ หนานหนิง อินดัสเทรียล อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป จำกัด (Nanning Industrial Investment Group) ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของโดยตรงภายใต้การดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นหนานหนิง
นอกจากนี้ เนต้ากำลังทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศฮ่องกงอีกด้วน
ปัจจุบัน เนต้าส่งออกรถไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ส่วนแผนการดำเนินงานในประเทศไทย ปี 2025 เตรียมเปิดตัว NETA S Shooting Brake ในไทย ส่วนโรงงานที่บางชัน จะขึ้นไลน์ผลิต NETA X อีกหนึ่งรุ่น(ต่อจาก NETA V)
กล่าวสำหรับภาพรวมการแข่งขันของบรรดา “ค่ายรถยนต์จีน” ที่เต็มไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านนั้น “นายเหอ เสี่ยวเผิง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งเอ็กซ์เผิง ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ของสิงคโปร์ว่า จากบริษัทสตาร์ทอัป 300 แห่ง อยู่รอดแค่ 100 แห่ง และปัจจุบันมีบริษัทอยู่ไม่ถึง 50 แห่ง ซึ่งมีเพียง 40 แห่งเท่านั้นที่ยังขายรถได้จริงทุกปี
“โดยส่วนตัวผมคิดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีบริษัทรถยนต์รายใหญ่เพียง 7 แห่งเท่านั้นที่ยังดำรงอยู่ได้”
นี่มิใช่ครั้งแรกที่ซีอีโอของค่ายรถอีวีชั้นนำของจีนอย่างเอ็กซ์เผิงออกมาทำนายในลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยให้สัมภาษณ์สถานีข่าว CNA ของสิงคโปร์ว่าว่า อีก 3-4 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมอีวีจีนจะเห็น “การแข่งขันแบบน็อกเอาต์” ตามมาด้วยแข่งขันเข้มข้นระหว่างผู้เล่นระดับมีชื่อเสียง
ทั้งนี้ การที่ใครจะชนะได้ในปี พ.ศ.2573 จะขึ้นอยู่กับ “ความสามารถ”และ “ศักยภาพความเป็นไปได้” ของผู้เล่นเหล่านี้
ขณะที่ โอลา เคลเลเนียส ซีอีโอของเมอร์เซเดส-เบนซ์ มองคล้ายๆ กัน เมื่อถูกถามเรื่องภัยคุกคามจากผู้ผลิตอีวีจีนในงานประชุมเบอร์ลินโกลบอลไดอะล็อกเมื่อเดือนตุลาคม
“มันแปลกครับ เป็นสงครามราคาเหมือนทฤษฎีดาร์วิน การทำให้ตลาดบริสุทธิ์ และผู้เล่นที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้จะมีหลายเจ้าที่จะไม่ได้อยู่ต่ออีกเลยในอีก 5 ปีข้างหน้า” เคลเลเนียส กล่าว
ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้ว่า จีนเป็นผู้นำด้านอีวีได้ส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนจำนวนมากแก่บริษัทผู้ผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุนและส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ แต่กลับกลายเป็นว่า นอกจากจะทำให้การแข่งขันภายในประเทศเข้มข้นมากขึ้นแล้ว ยังลุกลามขยายวงมายังต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะ “ประเทศไทย” ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตและตลาดที่สำคัญของอีวีจีน
และการรุกตลาดของอีวีจีนก็ก่อผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเป็นอย่างมาก ดังที่นายสุธี สมาธิกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) หรือ AUCT ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “ราคารถ EV สร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจรถยนต์ทั้งระบบ จากผลกระทบในเชิงโครงสร้างราคา คนชะลอการตัดสินใจซื้อ และความไม่แน่นอนของราคา”
…เอาเป็นว่า ยังคงต้องจับตาการรุกเข้ามาของค่ายรถยนต์จีนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 ว่าจะหนักหนาสาหัสกว่าปี 2567 ที่ยอดผลิตรถเพื่อการจำหน่ายในประเทศอาจตกลงมาอยู่ที่ระดับไม่ถึง 600,000 คัน หรือไม่
เพราะว่ากันตามตรง ยังมองไม่เห็นเลยว่า สถานการณ์จะดีขึ้นได้อย่างไรท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ด แม้ว่าทางรัฐบาลจะพยายามประโคมโหมข่าวว่า “ดีแล้ว ดีแล้ว” ทว่า ในทัศนะของประชาชนกลับไม่สามารถสัมผัสได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว บรรดาสถาบันการเงินคงไม่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้
แต่ที่แน่ๆ คือคงไม่ต้องคาดเดาถึงเรื่อง “สงครามราคา” เพราะน่าจะดุเดือดเลือดพล่านยิ่งกว่าปี 2567 ซึ่งแน่นอนว่า จะกระทบกับขณะที่ค่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าตลาดและค่ายตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น คงต้องวางยุทธศาสตร์เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกันอย่างหนักเลยทีเดียว.