รมว.คลังเผยแนวคิดขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในระหว่างการศึกษา ยันต้องดูข้อดี-ข้อเสีย ดูแนวโน้มทั่วโลก
วันนี้(4 ธ.ค.) นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวคิดการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลจากที่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 7% ว่า แนวคิดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษา และแนวโน้มโลกทำอย่างไรก็ขอเวลากลับไปศึกษา ส่วนจะใช้ระยะเวลาการศึกษานานขนาดไหนนั้น ก็ต้องดูทั้งหมดในภาพรวม
เมื่อถามว่า ถ้าจะขึ้น 7% ไป 10% ยังทำไม่ได้แล้วจะขึ้นไป 15% ได้หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ขอดูการศึกษา ต้องดูข้อดีข้อเสีย แต่จะตัดสินใจอย่างไร ต้องดูผลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายพิชัย เปิดเผยว่า คลังเตรียมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโครงสร้างภาษี เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีให้สนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยออกเป็นแพกเกจภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกจัดเก็บที่ระดับ 15% แต่ไทยจัดเก็บอยู่ที่ 20% ดังนั้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภาษีดังกล่าวปรับลดลงมา เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
“ต้องพิจารณาควบคู่กันไปว่า หากลดภาษีนิติบุคคลลงจะต้องไปปรับเพิ่มภาษีในส่วนใด เพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปัจจุบันเก็บที่ 7% ถือว่ายังอยู่ในอัตราต่ำ ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บที่อัตรา 15-25% ส่วนจะเพิ่มเป็นเท่าไรนั้น จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ภาษี VAT หากเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จะช่วยให้คนมีฐานะดีจ่ายภาษีตามยอดการใช้จ่ายได้มากขึ้น ทำให้รัฐบาลมีเงินนำส่งเพิ่มขึ้นและส่งผ่านงบประมาณแผ่นดินลงไปช่วยคนที่มีรายได้น้อยได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน ทำให้มาตรการด้านสาธารณสุข อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย การศึกษา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดีตามมาด้วย ดังนั้น การจะเก็บภาษีอะไรให้สูงหรือต่ำต้องคิดให้ดี” นายพิชัย กล่าว