ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับตั้งแต่ “กรมที่ดิน” โดย“อธิบดีพรพจน์ เพ็ญพาส”มีหนังสือไปถึง“การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)”เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 257 ว่า “คณะกรรมการสอบสวนฯ” มีมติไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
ตามต่อด้วยการที่ “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ รฟท.ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 พร้อมยืนยันเอกสารหลักฐานตามพิพากษาของศาลที่มีคำสั่งออกมาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.โดยชอบตามกฎหมาย
บอกตรงๆ ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่า เรื่องนี้จะจบลงได้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่า เรื่องทำท่าจะ “ลากยาว” ออกไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
โดยเฉพาะปฏิกิริยาจาก “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทั้งๆ ที่ความจริงเรื่องนี้ “แก้ง่ายนิดเดียว” นั่นคือ “ยอมรับและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล” จากนั้นก็นำที่ดินทั้งหมดเพื่อให้ผู้ครอบครองเดิม “เช่า” ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว แน่นอน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่“ชาวบ้าน” ตามที่มีการกล่าวอ้างเรื่อง“ความเดือดร้อน”หากแต่อยู่ที่ตระกูล “ชิดชอบ”ซึ่งเข้าครอบครองที่ดิน และใช้เป็นที่ตั้งของสนามกีฬาฟุตบอล สนามกีฬาแข่งรถ และทำประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
พวกเขาแสดงเจตจำนงชัดแจ้งว่า ไม่ได้ต้องการที่จะ “เช่า”หากแต่ต้องการเป็น“เจ้าของ”มากกว่า เพราะไม่เช่นนั้นคงยินยอมและปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อแม้
“เสี่ยหนู-ภูมิใจไทย-กรมที่ดิน”
เงยหน้าก็อายฟ้า ก้มหน้าก็อายดิน
“อย่าทำให้น่าเกลียดเลย”
นั่นคือคำกล่าวของ“นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม”อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งนอกจากจะยืนยันว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของ รฟท.แล้ว ยังบอกว่า การปฏิบัติหน้าที่ของกรมที่ดินนั้น“มิชอบ”
“มาตรา 61 วรรคที่ 8 เป็นวรรคที่อธิบดีกรมที่ดินต้องอ่านมากๆ เพราะกฎหมายเขียนว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอย่างไร ให้อธิบดีกรมที่ดิน หรือเจ้าพนักงานปฏิบัติตามนั้น นั่นคือต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินของราษฎร หรือของใครก็ตามออก แล้วเปลี่ยนใหม่เป็นที่ดินของการรถไฟฯ ต้องปฏิบัติตาม
“การที่ท่านตั้งกรรมการสอบสวนจึงไม่มีอำนาจ มีอำนาจแค่เพียงสั่งเพิกถอนตาม ม.61 วรรค 8 ผมถึงบอกว่าอธิบดีกรมที่ดินอาจจะกำลังปฏิบัติหน้าที่อาจจะโดยมิชอบก็ได้ คดีประเภทนี้ผมไม่อยากให้ดำเนินคดีกับใครทั้งสิ้น กว่าจะเป็นอธิบดีได้มันใช้เวลานาน และเมื่อพ้นจากอธิบดีหรือเกษียณแล้วไม่เกิน 5 ปี เขาสามารถกล่าวโทษให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีได้ อย่าจบไม่สวยเลย ทางที่ดีควรดำเนินการตามที่ศาลคำพิพากษาศาล”
นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาสนามอารีน่า หรือชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น รัฐบาลก็คุยกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้รฟท.ยอมให้สนามอารีน่าเช่าแข่งรถ สนามกีฬา อย่าไปทุบ ไปทำลาย ไม่มีประโยชน์ ให้เช่าได้ เหมือนกับที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลฯ เช่า รฟท. เอารายได้เป็นของรัฐ เจ้าของสนามก็ได้กำไรถึงจุดคุ้มทุนพอแล้ว เช่า 30 ปี ต่อสัญญาทุก30 ปี ไม่มีปัญหาอะไรเลย
ความจริงคำแนะนะของ“อัยการปรเมศวร์”ไม่ต่างอะไรจากความเห็นของ “ปกรณ์ นิลประพันธ์”เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่สำแดงเอาไว้ก่อนหน้านี้เลย เพราะเป็นทางที่ถูกต้อง แต่ปัญหาคือ “ความอหังการ์มะมังการ”ที่คับอกและมั่นใจในพลังอำนาจทางการเมืองของตนเองว่าสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ทั้งๆ ที่ถ้าจะว่าไป มีหลักฐานยอมรับจาก“กำนันผู้พ่อ”ว่า ได้เช่าที่ดินผืนดังกล่าวของ รฟท.ออกมาให้เห็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ
ขณะที่เมื่อหันไปดูปฏิกิริยาล่าสุดจาก “ลูกพี่ใหญ่ของอธิบดีกรมที่ดิน” ซึ่งก็คือ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับหมวก “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ที่จำต้องเกรงใหญ่ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ผู้เป็นครอบครองที่ดินจำนวนมากบริเวณเขากระโดง ก็เห็นชัดว่า มีจุดยืนเดียวกับ “กรมที่ดิน” เป๊ะ
กล่าวคือยืนยันว่า กรมที่ดินกำลังปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง และการที่คณะกรรมการฯ ของกรมที่ดินมีมติไม่ให้เพิกถอน เพราะหลักฐานของ รฟท.ไม่เพียงพอและยังพิสูจน์สิทธิไม่ได้ จึงเป็นสิทธิของ รฟท.ที่จะอุทธรณ์ หากไม่สำเร็จ ก็มีสิทธิอุทธรณ์ไปยังหน่วยงานที่สูงกว่า รวมถึงมีช่องทางศาลยุติธรรม ซึ่ง รฟท.สามารถใช้สิทธิตรงนั้นได้
ขณะเดียวกันนายอนุทินยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า การรถไฟฯ น่าจะฟ้องเพื่อเพิกถอนสิทธิเป็น“รายแปลง”โดยบอกว่า“ขณะนี้เขาฟ้องร้องกันแค่ 35 ราย ที่ดินทั้งหมดมี 900 กว่าแปลง เอาให้ชัดก็ฟ้องร้องกันทีละแปลงเลย”ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว โอกาสที่จะออก“ลูกนี้”ก็มีความเป็นไปได้สูง
ยิ่งเมื่อฟังความจาก“ทรงศักดิ์ ทองศรีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดินและได้รับมอบหมายจาก “เสี่ยหนู” ให้ไปชี้แจงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมายิ่งเห็นได้ชัดว่ามีทิศทางตรงกัน
“แม้ว่าคำพิพากษานั้นถึงที่สุดก็ต้องยอมรับ แต่จะเป็นที่สุดเฉพาะคู่ความ คู่ความคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ความก็ต้องมีการพิสูจน์สิทธิว่า การเพิกถอนเอกสารสิทธิ หากเพิกถอนทั้งหมด จะเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่”นายทรงศักดิ์ซึ่งมี “ศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง และเป็นคนสนิทของ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” กล่าว
แน่นอน หลายคนมีความเห็นตรงกันว่า การยื่นฟ้องเป็นรายกรณี “ยังไง รฟท.ก็ชนะ” แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า นั่นเป็น “เทคนิคทางกฎหมาย” เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเป็นที่ยุติ
นอกจากนี้ ยังมีปฏิกริยาจาก“คารม พลพรกลาง”แห่งพรรคภูมิใจไทย และสายตรง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ออกมาให้ข้อมูลอีกต่างหากว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไม่ได้ชี้ว่าจะต้องมีการเพิกถอนที่ดินบริเวณดังกล่าว แต่ให้อธิบดีกรมที่ดินได้ดำเนินการตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดินและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งคืออธิบดีกรมที่ดิน มีอำนาจที่จะเพิกถอนหรือไม่ถอนเพิกถอนตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดิน หลังจากทราบผลการสอบสวนแล้ว
“กรมที่ดินมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน ที่สำคัญหากการออกโฉนดที่ดินไปแล้ว แต่มีการเพิกถอนได้ง่ายและไม่มีขบวนการสอบสวนขและพิสูจน์สิทธิอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ไม่มีความเชื่อถือในโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่สำคัญและเป็นเอกสารมหาชน” นายคารมกล่าวด้วยเหตุและผลที่ผู้คนถึงกับร้องออกมาดังๆ ว่า “โอ้โห”
ตรงนี้ ต้องขีดเส้นใต้ในความเห็นของนายอนุทินและนายทรงศักดิ์เอาไว้ เพราะไม่ตรงกับสิ่งที่นักกฎหมายจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันคือศาลมีคำพิพากษาแล้วทั้ง ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลปกครองกลางว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟฯ
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 “กรมที่ดิน” เจ้าเดิมก็ได้ออกเอกสารชี้แจง “ย้ำอีกครั้ง”ว่า ผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ตาม ม.61 ที่มีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง ทุกอย่างเป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครอง-ศาลยุติธรรม โดยดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคำชี้แจงจะเห็นว่า การดำเนินการตามคำพิพากษา “ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3”เป็นไปอย่างครบถ้วนโดยได้มีการเพิกถอนโฉนดเป็นที่เรียบร้อย
แต่ปัญหาอยู่ที่ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของ“ศาลปกครอง”ในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหา “แนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ” ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3
กรมที่ดินแจกแจงยาวเหยียด แต่สรุปสั้นๆ ได้ว่า “ปัญหาอยู่ที่การรถไฟฯ ที่ไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้”
และบอกด้วยว่า “หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป”
เป็นคำชี้แจงรอบสองที่บังเอิญอย่างร้ายกาจว่า “ตรงเป๊ะกับสิ่งที่นายอนุทิน ชาญวีรกูลให้ความเห็นเอาไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนการหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 กรมที่ดินอธิบายว่า “คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ฟังความจากคำอธิบายของกรมที่ดินในประเด็นดังกล่าว มิอาจมองเป็นอื่นได้ นอกจากการใช้ “เทคนิคทางกฎหมาย” อธิบายความว่า ที่ไม่สามารถตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ ได้เพราะ“เป็นคู่กรณี”
“นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล”สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “กรมที่ดินระบุไม่ใช่คู่ความในข้อพิพาท ถือว่าไม่ถูกต้อง กรมที่ดินเป็นหน่วยงานรัฐ มีหน้าที่บริหาร และกำกับที่ดิน เมื่อมีคำพิพากษาที่มีผู้ที่สามารถอ้างอิงกับบุคคภายนอกได้ ดังนั้น พื้นที่กว่า 5 พันไร่ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.ทั้งหมด”
“รฟท.” เอาจริงหรือมีลับลมคมใน?
อย่างไรก็ดี ถ้าหากย้อนกลับไปดู “คำอุทธรณ์ของการรถไฟฯ” ถึง “กรมที่ดิน” ที่ลงนามโดย“นายวีริศ อัมระปาล”ผู้ว่าฯ รฟท. ก็จะเห็นว่า แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
กล่าวคือการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ และมีลักษณะเป็นการสร้าง ขั้นตอนโดยไม่จำเป็น รวมถึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
การรถไฟฯ แจกแจงเอาไว้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตร์ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินบริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าว
ขณะที่ศาลปกครองกลางก็มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะของที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ที่สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ไม่มีอำนาจหรือดุลพินิจไปวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นซึ่งต่างไปจากคำพิพากษาของศาลได้อีก คงมีเพียงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่กำหนดให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น
ผู้ว่าฯ รฟท.ยังฟาดตรงไปที่ความชอบด้วยกฎหมายในการตั้ง “คณะกรรมการสอบสวน” ของกรมที่ดินด้วยว่า มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพราะกรรมการมีเพียง 4 คน และขาดกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่อาจใช้บังคับได้ อธิบดีกรมที่ดินจึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาดำเนินการใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อไป
ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาจากคำอุทธรณ์ของ “การรถไฟฯ” ในประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะแปลได้ว่า “กรมที่ดิน” ไม่ได้ทำตามประมวลกฎหมายที่ดินเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งในเรื่องนี้ “กรมที่ดิน” ไม่ได้ตอบ ทั้งๆ ที่หนังสืออุทธรณ์ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า การตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ ปฏิกิริยาของการรถไฟฯ ที่ดูแปร่งปร่าอยู่ไม่น้อย เพราะจากการสืบสวนทวนความและข้อมูลที่ กมธ.ที่ดินฯ ให้สัมภาษณ์ ชักไม่แน่ใจว่า ดำเนินการอย่าง “ตรงไปตรงมาหรือไม่” โดยเฉพาะกรณีที่กรมที่ดินกล่าวอ้างเรื่อง “แผนที่” ซึ่งในทัศนะของวิญญูชนน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นแต่ประการใด
แถมความเห็นของ “ผู้ว่าฯ วีริศ” ในเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว ยังบังเอิญอย่างร้ายกาจอีกเช่นกันที่ตรงกับความเห็นของ “นายอนุทินและนายทรงศักดิ์” 2 รัฐมนตรีแห่งกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย
นี่คือสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นและยังไม่รู้ว่าจะมีบทสรุปออกมาอย่างไรในขั้นตอนสุดท้าย เพราะดูเหมือนว่า บรรดาผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้จะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
คำถามก็คือ ใครจะเข้ามาจัดการสะสางปัญหานี้ นอกจากการ “รอ” ผลอุทธรณ์หลังจากการรถไฟฯ ยื่นอุทธรณ์ต่อกรมที่ดินไปแล้ว ซึ่งกินเวลารวมแล้ว 60 วัน
เพราะเห็นกันอยู่แล้วว่า ไม่มีความหวังจากทั้งกระทรวงมหาดไทยที่มี “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล”แห่งพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมที่มี“นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”แห่งพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการ และกระทรวงยุติธรรมที่มี“พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง”แห่งพรรคประชาชาติ เป็นรัฐมนตรีว่าการ
ส่วน“แพทองธาร ชินวัตร”ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้คงไม่ต้องถามถึง เพราะน่าจะดำรงตนไม่แตกต่างกัน
หรือจะปล่อยให้ “สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เขากระโดง” เป็นไปอย่างที่เห็น และยอมรับสภาพว่า ประเทศไทยคือ “รัฐล้มเหลว(Failed state)” เพราะกฎหมายของประเทศนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ที่ “จังหวัดบุรีรัมย์”