สุราษฎร์ธานี - “นอมินี” หนาว! ตร.สุราษฎร์ฯ แจ้งความบริษัทต่างชาติ – คนไทย เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย นอมินี สร้างวิลล่าหรูบนเกาะสมุย รวม 8 คดี ส่วนมรดกแหม่ม ยังไม่จบ รอศาลตัดสินจัดตั้งบริษัทผิดกฎหมายหรือไม่
เวลา 10.00 น.วันนี้ (29 พ.ย.67) ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8 อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผบก.ภ.จว. สุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย(ศปชก.) ภ.จว. สุราษฎร์ธานี พ.ต.อ.ศิริชัย สุขสาตต์ รอง ผบก.ตร.สุราษฎร์ธานี และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงผลการปฎิบัติงาน การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และ แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หลังจากที่ ศปชก.ภ.จว. สุราษฎร์ธานี ได้ทำการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยาน จนสามารถดำเนินคดีอาญาจำนวน 8 คดี ประกอบด้วย บริษัทนอมินี จำนวน 8 บริษัท ,สำนักงานกฎหมาย 2 ราย,ชาวต่างชาติ 2 ราย และคนไทย 16 ราย ในความผิดร่วมกันกระทำผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542
ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางตำรวจสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินคดี บริษัท จี.วี.เอ็น.อี.จำกัด, บริษัท แม็กซิเคท จำกัด ในฐานะนิติบุคคล, นางแคทเทอร์รีน โจรี่ โรแล็นด์ เจอร์แมน เดลาโคท อายุ 59 ปี สัญชาติฝรั่งเศส ในข้อหา ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ, เป็นบุคคลต่างด้าวประกอบธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามที่กำหนดไว้ในบัญชีหนึ่ง การค้าที่ดินตามบัญชีหนึ่ง (9) เป็นคนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และเป็นบุคคลต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
และ นายทองใส (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 50 ปี, นางรัชประภา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ในข้อหา ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ,ร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือให้คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยผิดชอบด้วยกฎหมาย,เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ (การค้าที่ดิน ตามบัญชีหนึ่ง(9))โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียวหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้รวมทั้งคนต่างด้าวซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้กระทำการดังกล่าว” จึงเป็นเหตุให้ป้าติ๋มชวดรับมรดก 100 ล้านจากหญิงชาวฝรั่งเศษ ใช้ปืนจ่อขมับปลิดชีพตัวเองริมสระน้ำในวิลล่าหรู บนเกาะสมุยซึ่งก่อนตายทำพนัยกรรมยกทรัพย์สินให้แม่บ้านคนสนิท
พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ได้กล่าวว่า ตามนโยบายการบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ข้อ 7 เรื่อง ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และวิทยุ ศปชก.ภ.8 ที่ 0023.24 (ศปชก.ภ.8)/6942 ลงวันที่ 23 พ.ย.2567 เรื่อง ระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดของคนต่างด้าว เช่น การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ.2522การทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตลอดจนการกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ ที่มีคนต่างด้าว เป็นผู้กระทำผิด
โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เทศบาลนครเกาะสมุย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจพบว่ามีการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่เขาสูง จำนวน 15 แปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมา วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เทศบาลนครเกาะสมุย ได้มอบอำนาจให้ นายประกิจ แก้วประเสริฐ วิศวกรโยธา ชำนาญการ มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.บ่อผุด ให้ดำเนินคดีกับ บริษัท วิลล่า อะมาน่า จำกัด , บริษัท ซีบรีซ วัน จำกัด , บริษัท ซีบรีซ ทู จำกัด , บริษัท เอสทีเค.ไอเอ็นวี. จำกัด , บริษัท สกายไลน์ วิว จำกัด , บริษัท ร็อค โซล แอนด์ วิว จำกัด และบริษัทอื่นๆ ที่ก่อสร้างอาคาร บนที่ดินดังกล่าว ในความผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ และ อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเปิดบริษัทโดยใช้คนไทยถือหุ้นแทน (คดีนอมินี)
ทางตำรวจภธธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ ศปชก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี และ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่ง ภ.จว.สุราษฎร์ธานี ที่ 544/2567ลง 7 ส.ค.67 สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานสรุปได้ความ ดังนี้ เมื่อปี พ.ศ.2559 นายโฮลเกอร์ แอส สัญชาติเยอรมัน ได้ซื้อที่ดินบนเขาเฉวงน้อย ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมประมาณ 10 ไร่ โดยใช้ชื่อ บริษัทนอมินีของ นายโฮลเกอร์ แอส รับโอนที่ดิน ดังนี้ บริษัท ซีบรีซ ทู จำกัด และ บริษัท เอสทีเค.ไอเอ็นวี. จำกัด หลังจากนั้น ได้ก่อสร้างวิลล่าเพื่อขายให้กับลูกค้าชาวต่างประเทศ ชื่อโครงการ “ซีบรีซ” และแบ่งแยกที่ดินตามวิลล่าที่สร้าง นำชื่อบริษัท นอมินี นายโฮลเกอร์ แอส รับโอนที่ดินที่แบ่งแยก ได้แก่ บริษัท วิลล่า อะมาน่า จำกัด, บริษัท สกายไลน์ วิว จำกัด บริษัท ซีบรีซ วัน จำกัด, บริษัท สกายไลน์ วิว จำกัด, บริษัท ร็อค โซล แอนด์ วิว จำกัด ในการทำธุรกิจของ นายโฮลเกอร์ แอส จะมีสำนักงานกฎหมายช่วยเหลือ ได้แก่ บริษัท สุโขทัย อินเตอร์ ลอว์ (เกาะสมุย) จำกัด และ น.ส.กรกต เบสเซ็ท บริษัท กรกต ลีเกิ้ล แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ย.67 พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ ร่มไทร รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.กาญจนดิษฐ์ ได้รับมอบหมายให้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ บริษัท นอมินี จำนวน 6 คดี ข้อหา นิติบุคคล และ นายโฮลเกอร์ แอส “ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จ ลงในเอกสารราชการ , เป็นบุคคลต่างด้าวประกอบธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามที่กำหนดไว้ ในบัญชีหนึ่ง (การค้าที่ดิน ตามบัญชีหนึ่ง(9)), เป็นคนต่างด้าวได้ที่ดินมา โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และเป็นบุคคลต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัตินี้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้” ข้อหา สำนักงานกฎหมาย และคนไทย “ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ , ร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือให้คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย , เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ (การค้าที่ดิน ตามบัญชีหนึ่ง(9))
โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของ คนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียวหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งคนต่างด้าวซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้กระทำการดังกล่าว” นอกจากนี้ การกระทำยังอาจเข่าข่าย หลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากการตรวจสอบภาษีแล้ว ไม่พบการเสียภาษี ซึ่งทางพนักงานสอบสวนจะได้ออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาหากไม่มาจะออกหมายจับต่อไป
พล.ต.ท.สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในขั้นตอนการดำเนินคดี จะมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นปกครองท้องถิ่น ที่ดิน สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กองทัพภาคที่ 4 และสำนักผู่ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากมีกฎหมายในหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง และขณะเดียวกันระหว่างที่มีการรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินคดีจะส่งเรื่องให้ สรรพากร ดำเนินการเกี่ยวกับ ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และภาษีการซื้อขาย ,ส่งเรื่องให้ สำนักงานที่ดิน ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน รวมถึงการส่งเรื่องให้ฝ่ายปกครองดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโรงแรม ของกลุ่มบริษัทนิติบุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วย
“ตำรวจภูธรภาค8 จะนำรูปแบบการสืบสวนสอบ ดำเนินคดีนอมินีกับบริษัทนิติบุคคล ของ ศปชก.ภ.จว. สุราษฎร์ธานี ไปขยายผลใช้กับพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั้งที่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา และ จ.กระบี่ เนื่องจากล่าสุดพบว่าในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญพี่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 8 ก็มีปัญหาลักษณะเดียวกัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาปัญหาการเข้าถือครองที่ดินและการประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว
ด้านการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาส สูญเสียรายได้ และเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวกลับได้รับผลประโยชน์น้อยมาก หลังจากนี้การทำงานของเราจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำงานร่วมกันยับยั้งการก่อเหตุอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ “ พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิต ผบช.ภ.8 กล่าวในที่สุด
ส่วนกรณีของ นางแคทเธอรีน นักธุรกิจวิลล่าชาวฝรั่งเศส ที่ฆ่าตัวตายบนวิลล่าหรู ใน อ. เกาะสมุย แล้วทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สิน ให้ ป้าติ๋ม แม่บ้านคนสนิท มูลค่าร่วม 100 ล้าน ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวน ศปชก.ภ.จว. สุราษฎร์ธานี รวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดีบริษัทนิติบุคคลรวมถึงนางแคทเธอรีนตามความผิด พรบ. ประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว พ.ศ.2542 นั้น พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ ร่มไทร รอง ผกก.สภ. กาญจนดิษฐ์ ช่วยราชการพนักงานสอบสวน ศป.กล่าวว่า ในส่วน กรณีบริษัทนิติบุคคลเธอรีน ซึ่งเราได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษไปแล้วนั้น หากภายหลังศาลมีคำพิพากษา ว่า เป็นการจัดตั้งบริษัทนิติบุคคล โดยผิดกฎหมาย ศาลก็จะมีคำสั่ง ให้จำหน่ายทรัพย์ของนิติบุคคลออกไป แล้วนำเงินสด กลับคืนสู่หุ้นส่วน ซึ่งในคดีนี้ เมื่อเป็นนอมินี คนไทยทั้ง 2 คน จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับแบ่งผลประโยชน์ ตามอัตราหุ้น ดังนั้นเงินสดที่ได้จากการขายทอดทรัพย์สินจะต้องตกไปเป็นของนางแคทเธอรีน ทั้งหมด ฉะนั้นจะต้องไปดูในส่วนของพินัยกรรม ว่าจะครอบคลุมถึงเงินสด ที่ได้จากการขายทรัพย์สินหรือไม่