กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงเหตุระเบิดโครงการก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม อ.เทพา จ.สงขลา พร้อมจดหมายข่มขู่ไม่รับรองชีวิตคนงาน ชี้ทำลายสัญลักษณ์ของความเป็นพหุวัฒนธรรม ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและศาสนา พบเกิดขึ้นหลังจาก "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" ทำพิธีพุทธาภิเษกเจดีย์สัมฤทธิ์ผลคุ้มลูกกันภัยเพียง 6 วัน
วันนี้ (21 พ.ย.) จากกรณีที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด จำนวน 2 ลูก บริเวณที่พักคนงานก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ในพื้นที่บ้านปากบางสะกอม หมู่ที่ 1 ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 20 พ.ย. ทำให้มีคนงานก่อสร้างได้รับบาดเจ็บ 3 ราย นำส่งโรงพยาบาลเทพา ระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พบจดหมายข่มขู่ผู้ที่ทำงานในโครงการ พิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาเมียนมา ตกอยู่บริเวณใกล้พื้นที่เกิดเหตุ ระบุข้อความว่า "ถ้าใครที่ทำงานในโครงการนี้ที่นี่และในสามจังหวัดชายแดนใต้ เราขอเตือนจงหยุด ไม่งั้นเราจะไม่รับรองชีวิตของท่าน" ต่อมาเวลา 10.30 น และ 10.40 น. เกิดระเบิดลูกที่ 3 และลูกที่4 บริเวณเส้นทางเข้าที่เกิดเหตุห่างจากที่เกิดเหตุจุดแรกประมาณ 400 เมตร แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
พ.อ.ปองพล สุทธิเบญจกุล รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงได้พยายามที่จะทำลายรูปเคารพทางศาสนาซึ่งเป็นการทำลายสัญลักษณ์ของความเป็นพหุวัฒนธรรม เป็นความพยายามที่จะสร้างสังคมเชิงเดี่ยว โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักของศาสนาอันดีงาม ซึ่งความเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลาย แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ให้ความสำคัญและได้มอบนโยบายในการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความเป็นพหุวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนมาโดยตลอด
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และแกนนำคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อ้างว่าไม่ใช่การวางระเบิดแบบปกติ เพราะการแจกใบปลิวในจุดเกิดเหตุเป็นภาษาพม่า และการใช้ระเบิด RPG ไม่เคยเห็นใช้ในเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่พยายามคัดค้านการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือการท่องเที่ยว แต่สุดท้ายกระแสก็แผ่วลง และชาวบ้านเห็นว่าเป็นสิทธิ์ของนายทุนในการก่อสร้าง กระทั่ง 3-4 เดือนให้หลัง เริ่มมีความคืบหน้าโดยการลงเสาขนาดใหญ่ในพื้นที่ ส่วนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้ยุติโครงการชั่วคราว ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ก่อน
เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) นำโดยนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ นายภากร เลี่ยวไพรัตน์ และนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกเจดีย์สัมฤทธิ์ผลคุ้มลูกกันภัย ณ สถานที่ก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 14 พ.ย. หรือ 6 วันก่อนเกิดเหตุ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 และนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย รวมถึงข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้
ภายในงานเริ่มจากประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นทำพิธีบวงสรวงเทพเทวา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดสงขลา และประกอบพิธีบวงสรวงเจดีย์สัมฤทธิ์ผลคุ้มลูกกันภัยทั้ง 10 ทิศ พระสงฆ์เจริญพิธีพุทธาภิเษกจำนวน 9 รูป พระอริยสงฆ์นั่งปลุกเสกจำนวน 4 รูป และในพิธีได้มีการแสดงพระธรรมเทศนา พระธรรมกิตติเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร รับพร ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ หลังจากนั้นประธานในพิธีมอบของที่ระลึกแก่แขกผู้มีเกียรติ เป็นอันเสร็จพิธี
ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ เล็งเห็นว่า องค์เจ้าแม่กวนอิมนั้นเป็นที่ศรัทธาของนานาประเทศ การก่อสร้างในครั้งนี้จะเป็นการสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ที่สุดในจักรวาล ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ ที่มีศักยภาพในฐานะของแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ ณ ปัจจุบัน เพราะบรรยากาศโดยรอบขององค์เจ้าแม่กวนอิม นับว่ามีความสวยงามตามธรรมชาติ หาดสวย ทะเลน้ำใส มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้อย่างนับไม่ถ้วน เป็นการพัฒนา การสร้างงาน การสร้างเงิน และการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ชายแดนใต้ ให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง
สำหรับโครงการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 โดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดซื้อที่ดิน 65 ไร่ ก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แสดงความเป็นพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ เช่นเดียวกับเจ้าแม่กวนอิมในต่างประเทศ แต่ต่อมาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลานำชาวมุสลิมกว่า 4,000 คน ละหมาดฮายัตเพื่อคัดค้านการก่อสร้าง อ้างว่ามีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะอยู่เบื้องหลัง และอ้างว่าล้อมรอบด้วยชุมชนชาวมุสลิม ทั้งที่ความจริงที่ดินอยู่ห่างไกลจากชุมชนมาก ส่วนใหญ่เป็นรีสอร์ต สวนยางพารา และสวนมะพร้าวเท่านั้น นอกจากนี้ในพื้นที่ตำบลสะกอมมีชาวพุทธอาศัยอยู่ถึง 35% และมีเจดีย์ในพุทธศาสนาอยู่ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย