xs
xsm
sm
md
lg

เอาจริง! ญี่ปุ่นทวงคืนตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีโลก พร้อมทุ่ม $65,000 ล้านดันโปรเจกต์ไมโครชิป-เอไอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นภาพของ เจนเสน หวง ซีอีโอของเอ็นวิเดีย (ซ้าย) กำลังพูดคุยกับ มาซาโยชิ ซง แห่งซอฟต์แบงก์ ในงานเกี่ยวกับเอไองานหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ทั้งนี้ญี่ปุ่นกำลังเตรียมอัดฉีดงบประมาณสูงถึง 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อผลักดันการผลิตไมโครชิปและกิจการด้านเอไอ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะชิงคืนฐานะความเป็นผู้นำเทคโนโลยีรายหนึ่งของโลก
ญี่ปุ่นเตรียมอัดฉีดงบประมาณ 10 ล้านล้านเยน (65,000 ล้านดอลลาร์) ในโครงการไมโครชิปและเอไอ เพื่อทวงคืนตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีโลก และตอบสนองความท้าทายเร่งด่วนของวิกฤตประชากรลดและสังคมชราภาพ

แพกเกจดังกล่าวที่คาดหมายกันว่ารัฐสภาอาจอนุมัติภายในสัปดาห์นี้ ยังถูกมองว่า เป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน โดยที่ญี่ปุ่นเองและโลกตะวันตกมีความกังวลมากขึ้น เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนจะยกพลบุกไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำเนินแผนการใหญ่เช่นนี้ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น รวมทั้งศักยภาพของแดนอาทิตย์อุทัยในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อรองรับศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งใช้พลังงานสูงมาก

เคลลี่ ฟอร์บส์ ประธานสถาบันเอไอ เอเชีย-แปซิฟิก ชี้ว่า หลังจากเป็นผู้นำฮาร์ดแวร์เทคโนโลยีในช่วงทศวรรษ 1980 ผ่านพ้นไป ญี่ปุ่นทำได้เพียงเฝ้ามองการแจ้งเกิดของนวัตกรรมไฮเทค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเอไอ กระนั้น ช่วง 2-3 ปีมานี้ดูเหมือนญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงศักยภาพของพัฒนาการเหล่านั้นอย่างแท้จริง

สัปดาห์ที่แล้ว ซอฟต์แบงก์ บริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยีชื่อดังของญี่ปุ่น และเอ็นวิเดีย บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ประกาศข้อเสนอสร้าง “โครงข่ายเอไอ” ทั่วญี่ปุ่น

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากกระแสการลงทุนของบริษัทอเมริกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์ หุ้นส่วนสำคัญของโอเพ่นเอไอ ผู้พัฒนาแชตจีพีที

เซธ เฮยส์ นักเขียนของเอเชีย เอไอ โพลิซี มอนิเตอร์ มองว่า ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอสามารถช่วยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากโมนาโก เพิ่มผลผลิตเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

ปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้า

งบประมาณก้อนใหม่ของรัฐบาลจะสนับสนุน “ราปิดัส” ซึ่งเป็นโครงการภายในประเทศเพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่

รัฐบาลญี่ปุ่นให้สัญญาว่า จะจัดสรรเงินอุดหนุน 4 ล้านล้านเยนเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายไมโครชิปที่ผลิตในประเทศเป็น 3 เท่าตัวภายในปี 2030

เซมิคอนดักเตอร์ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของนวัตกรรมเอไอนั้น ปัจจุบันส่วนใหญ่ผลิตในไต้หวัน แต่เวลานี้มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเข้าปิดล้อมหรือการรุกรานของจีน ซึ่งถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตน

กระทั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีเอสเอ็มซี ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ซึ่งถูกกดดันทั้งจากลูกค้าและรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้กระจายฐานการผลิตออกจากไต้หวัน ได้เปิดโรงงานชิปมูลค่า 8,600 ล้านดอลลาร์ทางใต้ของญี่ปุ่น และมีแผนเปิดโรงงานแห่งที่ 2 เพื่อผลิตชิปขั้นสูงยิ่งขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา กำลังทุ่มอัดฉีดงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้สร้างโรงงานชิปขึ้นภายในสหรัฐฯ เช่นกัน โดยรวมถึงการจัดสรรเงินอุดหนุน 6,100 ล้านดอลลาร์ให้แก่ไมครอน และ 6,600 ล้านดอลลาร์ให้แก่ทีเอสเอ็มซี

อย่างไรก็ดี ฟอร์บส์เตือนว่า นอกจากลงทุนเพื่อพยายามรักษาความได้เปรียบในด้านชิปแล้ว ญี่ปุ่นยังต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น รวมถึงหาแหล่งพลังงานรองรับโครงการผลิตชิปและดำเนินการศูนย์ข้อมูลเพื่อฝึกโมเดลเอไอที่ล้วนใช้พลังงานสูงมาก

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นต้องพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาก และรัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อฟื้นโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกระงับไปหลังวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะปี 2011

เฮยส์ยกตัวอย่างว่า ทีเอสเอ็มซีใช้กระแสไฟฟ้าราว 8% ของปริมาณการใช้ทั้งหมดในไต้หวัน

กฎข้อบังคับเอื้ออำนวย

ในส่วนความร่วมมือระหว่างเอ็นวิเดียกับซอฟต์แบงก์นั้น ครอบคลุมถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ใช้แบล็กเวลล์ เอไอ ชิปสุดล้ำของเอ็นวิเดีย

เจนเซน หวง ซีอีโอเอ็นวิเดีย ประกาศระหว่างขึ้นเวทีที่โตเกียวว่า จะแปลงโฉมเครือข่ายโทรคมนาคมในญี่ปุ่นเป็นเครือข่ายเอไอ ซึ่งจะถือเป็นการปฏิวัติอย่างแท้จริง พร้อมยกตัวอย่างหอส่งสัญญาณวิทยุที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรถอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มดี ซึ่งเป็นสถาบันศึกษาด้านการบริหารจัดการของสวิตเซอร์แลนด์ จัดให้ญี่ปุ่นทอยู่อันดับ 31 ในตารางขีดความสามารถแข่งขันด้านดิจิทัลปีนี้ ดังนั้นจึงหมายความว่าญี่ปุ่นยังต้องพยายามอีกมาก

กระนั้น เฮยส์ชี้ถึงข้อดีที่สำคัญมากของแดนอาทิตย์อุทัย โดยระบุว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เป็นมิตรต่อเอไอมากที่สุดในโลก โดยจุดสำคัญคือเปิดทางให้พวกบริษัทเอไอสามารถนำเอาข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองมาใช้ในการฝึกการเรียนรู้ให้แก่ระบบเอไอของพวกเขาได้ กระทั่งเป็นการฝึกเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำกำไรก็ตาม

เวลาเดียวกัน ญี่ปุ่นยัง “กำลังเข้าเป็นผู้นำ” ของการอภิปรายถกเถียงระดับนานาชาติในเรื่องว่าด้วยเอไอ ซึ่งก็รวมไปถึงความริเริ่มที่เปิดฉากขึ้นในการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี7 ที่เมืองฮิโรชิมาในปีที่แล้ว

ทางด้านนายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น ก็ให้สัญญาว่า จะจัดทำกรอบโครงใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนสำหรับเอไอและชิปทั้งจากภาครัฐและเอกชนมูลค่ากว่า 50 ล้านล้านเยนภายใน 10 ปี

ฟอร์บส์ทิ้งท้ายว่า ญี่ปุ่นสามารถจะได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านเอไอในส่วนการดูแลสุขภาพ และระบุว่า การลงทุนระลอกล่าสุดถือเป็นความพยายามขับเคลื่อนญี่ปุ่นสู่แนวหน้าในการปฏิวัติเทคโนโลยีนี้

(ที่มา : เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น