สงครามในยูเครนและภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังทำให้คลังสำรองระบบป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯ เริ่มร่อยหรอ ตามข้อมูลจากนายพลเรือสหรัฐฯ ซึ่งควบคุมภารกิจของกองกำลังอเมริกันในเอเชีย-แปซิฟิก
คำพูดของ พล.ร.อ.แซม ปาปาโร (Sam Paparo) ผู้บัญชาการกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (19 พ.ย.) น่าจะเรียกความสนใจไม่น้อยจากทีมงานชุดเปลี่ยนผ่านของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่เห็นด้วยที่วอชิงตันทุ่มเทงบประมาณมหาศาลไปกับสงครามในยูเครน และยังกล่าวหาประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่าไม่ได้เตรียมความพร้อมมากพอเพื่อรับมือความขัดแย้งกับจีน
“ด้วยขีปนาวุธแพทริออต (Patriot) บางส่วนที่ถูกส่งไปประจำการ ขีปนาวุธชนิดยิงจากอากาศสู่อากาศบางส่วนที่ถูกส่งไปประจำการ มันทำให้อาวุธที่เหลืออยู่ในคลังของเราร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ และถ้าผมไม่พูดเช่นนี้ก็คงเป็นการไม่ซื่อสัตย์” ปาปาโร กล่าวในงานอีเวนต์หนึ่ง
พลเรือเอกผู้นี้ย้ำว่า การที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯ ถูกนำไปใช้มากมายขนาดนี้ “กระทบต่อระดับความพร้อม” ของสหรัฐฯ เองในการตอบสนองภัยคุกคามในเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “จีน” กลายเป็นศัตรูของสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพสูงสุดในโลกตอนนี้
รัฐบาล ไบเดน ได้จัดส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ซับซ้อนที่สุดของสหรัฐฯ ไปช่วยเหลือยูเครนและอิสราเอล ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ก็ยังต้องคุ้มกันเส้นทางเดินเรือในทะเลแดงจากปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนและมิสไซล์ของพวกกบฏฮูตีในเยเมน
ในกรณีของยูเครน ไบเดน ได้อัดฉีดระบบป้องกันสารพัดอย่างให้กับเคียฟ รวมถึงขีปนาวุธแพทริออต และระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศขั้นสูงแห่งชาติ (NASAMS)
เดือนที่แล้ว สหรัฐฯ ยังส่งมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศในบรรยากาศขั้นสูง (THAAD) ให้กับอิสราเอล พร้อมด้วยทหารอเมริกันอีกราว 100 นายในการควบคุมอาวุธดังกล่าว ซึ่ง THAAD นั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญของระบบป้องกันภัยทางอากาศอันซับซ้อนหลายชั้นที่สหรัฐอเมริกาใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา : รอยเตอร์