ระยอง- ชาวบ้าน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง สุดทนปัญหาสารเคมีโรงงานกรดมะนาวร้างไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำพืชผลเกษตร-สัตว์น้ำตายเกลี้ยง จี้กรมบังคับคดี เร่งออกคำสั่งเจ้าของโรงงานให้ย้ายเครื่องจักร สารเคมีออกโดยเร็ว ลั่นหากยังนิ่งบุกทวงถามถึงส่วนกลาง
วันนี้ (18 พ.ย.) นายภราดร ชนะสุนทร ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และประธานกลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน จ.ระยอง พร้อมด้วย นายมานพ เจริญมหาบารมี รองประธานกลุ่มเฝ้าระวังผิวดิน จ.ระยอง และชาวบ้านกว่า 20 คน ได้เดินทางไปบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ ม.2 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย ซึ่งเป็นโรงงานกรดมะนาวที่ปิดกิจการไปแล้ว ซึ่งพบว่ามีน้ำขังทั่วทุกชั้นและมีกลิ่นฉุนของสารเคมีจนแสบจมูก
โดยมีนายธีรวัฒน์ จันทนุพงศ์ วิศวกรปฏิบัติการ อุตสาหกรรม จ.ระยอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ระยอง ร่วมตรวจสอบอาคาร 7 ชั้นพร้อมเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจหาค่าความเป็นกรดและด่างว่าเกินค่ามาตรฐานหรือไม่
สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานร้างแห่งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากสารเคมีถูกน้ำฝนชะล้างหลังมีฝนตกหนักจนทำให้น้ำปนเปื้อนสารเคมีไหลออกจากโรงงานทะลักลงสู่คลองปลากั้ง ซึ่งเป็นคลองที่อยู่ด้านท้ายโรงงาน และชาวบ้านได้นำน้ำไปใช้รดต้นทุเรียน และพืชผลทางเกษตร จนทำให้ต้นทุเรียนแห้งเฉา และปลาในคลองลอยตายเกลื่อน
นายธีรวัฒน์ จันทนุพงศ์ วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง เผยถึงการตรวจสอบค่าของน้ำที่ขังอยู่ภายในอาคารว่า มีค่ากรดและด่างเกินมาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสัตว์น้ำ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานอุตสาหกรรมระยอง ได้เข้าตรวจสอบโรงงานแห่งนี้แล้วหลายครั้งจนมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังสำนักงานบังคับคดี จ.ระยอง และกองบังคับคดีล้มละลาย 6 กรมบังคับคดี ให้ทราบถึงผลกระทบ
เพื่อให้เจ้าของโรงงานเร่งนำเศษซากเครื่องจักร เศษท่อ และวัสดุภายในอาคารทั้ง 7 ชั้นที่ปนเปืัอนสารเคมีออกไปกำจัดอย่างถูกวิธีโดยเร็ว แต่ปัจจุบันผ่านมา 1 เดือนแล้วเจ้าของโรงงานดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินการใดๆ และหากยังปล่อยไว้เช่นนี้จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านมากขึ้นอีก
ด้าน นายมานพ เจริญมหาบารมี รองประธานกลุ่มเฝ้าระวังผิวดิน จ.ระยอง เผยว่าจากนี้จะรวบรวมพยานหลักฐานเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อโรงงานดังกล่าวที่ สภ.หนองกรับ และจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับทางโรงงาน เพราะชาวบ้านได้รับเดือดร้อนมาโดยตลอดนับตั้งแต่โรงงานแห่งนี้เริ่มการผลิต และเมื่อถูกสั่งปิดเพราะสร้างมลพิษเกินมาตรฐาน ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่ เผยว่า ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นมายาวนานจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรับผิดชอบความเสียหาย และไม่ทราบว่า กรมบังคับคดีมีอะไรแอบแฝงหรือไม่จึงมองไม่เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน พร้อมฝากวอนไปยังผู้ใหญ่ในกรมบังคับคดี ให้ช่วยตรวจสอบโดยเร็วก่อนที่ชาวบ้านจะหมดความอดทน และบุกไปทวงถามความคืบหน้าถึงกรมบังคับคดี