เตรียมปลดล็อก ให้ “ตัวเงินตัวทอง” สามารถเพาะพันธุ์ “เพื่อขายได้” เพราะตลาดกำลัง “นิยม” พามาเจาะโมเดลธุรกิจนี้ เลี้ยง “ตัวเหี้ย” ให้อะไรมากกว่าที่คิด พัฒนาไปถึงขั้นแปลงเป็น “ยารักษาโรค”
เตรียมพบ “สัตว์เศรษฐกิจ” ตัวใหม่
น่าตื่นตาตื่นใจ กับวาระล่าสุดที่ทางภาครัฐพิจารณาร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วางแผน “ปลดล็อก”ให้ “ตัวเงินตัวทอง” สามารถ “เพาะพันธุ์” เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้
การเพิ่ม “ตัวเหี้ย”(Varanus Salvator) ให้เป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ที่สามารถเพาะพันธุ์ ในรายงานนี้บอกว่า ปัจจุบันมันกลายเป็น สัตว์เลี้ยงเพื่อความสวยงาม และ “หนัง” ของมัน เป็นที่ต้องการใน “ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง”
การปลดล็อกนี้จะเป็นการช่วย “กระตุ้นเศรษฐกิจ”ได้ ซึ่งทีมข่าวไปค้นข้อมูลก็พบว่า แบรนด์แฟชั่นหรูอย่าง “แอร์เมส”(Hermes) ก็มีกระเป๋ารุ่นที่ทำจาก “หนังของตัวเหี้ย” จริงๆ แถมราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ ด้วย
หรือนี่อาจกลายเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ”ตัวใหม่ของเมืองไทย? ทางทีมข่าวจึงขอตอบข้อสงสัยนี้ ด้วยการชวนคุยกับคนที่ทำงานวิจัยเรื่องนี้โดยตรง อย่าง “ต้น” รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุขคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงศักยภาพใน “ตัวเหี้ย” ที่เราอาจมองข้ามไป
“ต่างประเทศ ซึ่งเขาอนุญาตให้เพาะทางเศรษฐกิจแล้ว เพราะฉะนั้น มันก็เลยมีหนัง เครื่องหนัง ที่เกี่ยวกับตัว Varanusเนี่ย ออกมาเยอะแยะเลย”
{กระเป๋าแบรนด์ดังจาก “หนังเหี้ย”}
ในต่างประเทศที่เอามาทำเครื่องหนังนั้น เป็นคนละพันธุ์กับบ้านเรา ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็จะมี “ลวดลาย”ที่ “เฉพาะตัว”แต่ตลาดเครื่องหนังในโลกตอนนี้ ยังไม่มีลายตัวเงินตัวทองไทย “หมอต้น”จึงมองว่า นี่อาจเป็น “โอกาสทางเศรษฐกิจ”ของเรา
นอกจากหนังแล้ว “เนื้อ” หรือ “ไข่”ของตัวเงินตัวทอง ก็สามารถ “กินได้” หากถอดอคติจากความเคยชินทุกวันนี้ออกไป แล้วหันย้อนมองในอดีตจะพบว่า เมนูจากตัวเหี้ยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่หลังจากที่เหี้ยกลายเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง”การบริโภคก็น้อยลง เพราะ “ผิดกฎหมาย”
และถ้ามีการเปิดให้ “เพาะพันธุ์เพื่อเศรษฐกิจ” นักวิจัยรายนี้มองว่า เมนูจากตัวเงินตัวทอง ก็อาจจะกลับมาต้องการในตลาดได้อีกครั้ง และอาจกลายเป็น “จุดเด่น”อีกอันในบ้านเราก็ได้
{“ต้น” ดร.จิตรกมลกูรูผู้ทำวิจัย“ตัวเงินตัวทอง”}
ไม่ใช่แค่เครื่องหนังหรือเนื้อเท่านั้น ตอนนี้สัตว์ตระกูล “Monitor Lizard” อย่าง “มังกรโกโมโด” หรือแม้แต่ “ตัวเหี้ย” เองก็ตาม กำลังได้รับความนิยมในฐานะ “สัตว์เลี้ยง” เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต่างประเทศ
“คนที่เขาเลี้ยงสัตว์ เขาก็จะเริ่มนิยมมากขึ้น เนื่องจากว่าแต่ละพันธุ์ แต่ละสถานที่เนี่ย มันมีลาย มันเอกลักษณ์ที่ต่างกัน”
“หมอต้น” บอกว่าการปลดล็อกนี้ ด้าน “การแพทย์”ก็มีผลดีเหมือนกัน เพราะจากงานที่กำลังวิจัยอยู่ตอนนี้ ในตัวเงินตัวทอง มีสารที่สามารถพัฒนาต่อไป เป็น “สารต้านแบคทีเรีย”และ “สารต้านมะเร็ง” บางชนิดได้
“น่าจะศึกษาต่อยอดได้อีก ใน 5 ปี 10 ปี น่าจะมีอะไรที่มากกว่านี้ครับ”
แต่ปัจจุบันการทำวิจัยไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วย “หลักการสวัสดิภาพสัตว์”นักวิจัยจึงไม่สามารถจับสัตว์ในธรรมชาติมาวิจัยได้ แต่ถ้าต่อไปสามารถ “ขออนุญาต”เลี้ยงเพื่อการวิจัยได้แล้ว อะไรๆ ก็จะสะดวกขึ้นมาก
ปลดแล้ว “พร้อมหรือเปล่า?”
แม้ดูเหมือนจะดี ที่ไทยกำลังจะมี “สัตว์เศรษฐกิจ” ตัวใหม่ แต่ “หมอต้น”ก็ตั้งคำถามเพิ่มอีกมุมว่า เรามีมาตรการหรือแผนรองรับแล้วหรือยัง? อย่างเรื่อง “การเลี้ยงเพื่อส่งออกหนัง”
ถึงจะเห็นว่า หนังของตัวเหี้ยในต่างประเทศนั้น “ราคาสูง” แต่ในบ้านเรา ยังไม่เคยมีฟาร์มตัวอย่างจริงๆ ว่า การเลี้ยงตัวเงินตัวทอง เพื่อให้ได้หนังที่คุณภาพดี ต้องทำยังไง หรือมีขั้นตอนอะไรบ้าง
“หนังจะได้เป็นหมื่น เป็นแสน มันอาจจะเหลือแค่ ไม่กี่พัน ก็ได้นะครับ”
ยกตัวอย่างเคสที่คล้ายกันอย่าง b ที่ถ้าหากหนังมีรอยตำหนิแค่นิดเดียว ราคาก็จะตกลงมา และอีกเรื่องที่หลายคนลืมคือ “โรคสัตว์น้ำ” ในสัตว์ประเภทนี้นั้นมีเยอะมาก
แม้ตัวเงินตัวทองจะไม่ตาย จากการติดโรคต่างๆ มันก็แสดงอาการออกมาทางผิวหนัง ทำให้หนังไม่สวย แปลว่าการจะ “เพาะพันธุ์เพื่อขาย” ฟาร์มหรือบ่อ ก็ต้องมีระบบอีกหลายอย่าง เพื่อคัดกรองโรคพวกนี้ ซึ่ง“ใช้ทุนสูง”
“เพราะงั้น การลงทุนของโรงเรือน บ่อ หรือฟาร์ม มันคงไม่ใช่การเลี้ยงแบบชาวบ้านทั่วไป”
อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี กว่าเกษตรกรจะจับทางถูกว่า ต้องเลี้ยงแบบไหน ถึงจะได้คุณภาพสูงสุด แต่ในช่วงแรก หากการปลดล็อกนี้เกิดขึ้นจริง คนที่จะหวังเลี้ยงเป็นรายได้เสริมคงยาก
“ปลดแล้วทำกันเองสะเปะสะปะ สุดท้ายแล้วเนี่ย มันขายไม่ได้ มันก็ถูกปล่อย ถ้าถูกปล่อย(ลงธรรมชาติ)มา มันก็ยิ่งแย่กว่าเดิม”
ปัญหานึงคือ ตอนนี้ในหลายพื้นที่ ประชากรของตัวเงินตัวทองนั้นมีจำนวนมาก จนสร้างความรำคาญให้แก่ประชาชน แล้วถ้ามีการแอบปล่อยออกมาจากฟาร์มอีก ปัญหาจะยิ่งทวีความร้ายแรงกว่าเดิม
หรือถ้ามีการปลดล็อกแล้ว จะแน่ใจได้ยังไงว่า ไม่มีการจับตัวเหี้ยที่อยู่ตามธรรมชาติ มาไว้ในฟาร์มเพื่อสวมรอยขาย ตามหลักการเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะตัวอะไรก็ตาม
คือ “สัตว์ที่เพาะ” กับ “สัตว์ในธรรมชาติ”ต้องแยกกันโดยสิ้นเชิงต้องให้แน่ใจว่า สัตว์ที่เพาะพันธุ์จะไม่หลุดไปในธรรมชาติ หรือจับสัตว์ในธรรมชาติมาเพื่อขาย
และอีกอย่างเมื่อปลดล็อกแล้ว จะมั่นใจได้ยังไงว่า“ต่างชาติ” จะไม่นำตัวเงินตัวทอง “สายพันธุ์บ้านเรา” ไปวิจัย และ“จดสิทธิบัตรก่อนคนไทย” เหมือนอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ สมุนไพรพื้นบ้านของไทยต่างๆ
ดังนั้น ในฐานะที่เห็นด้วยกับการปลดล็อกนี้ แต่มองเห็นช่องโหว่ที่อาจกำลังจะเกิดขึ้น จึงขอแนะนำทิ้งท้าย
“จะต้องมีมาตรการอะไรขึ้นมารองรับ หรือว่ามี Roadmap อะไรทันที ขึ้นมาพร้อมกับการปลดล็อกตรงนี้ แล้วผมคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ที่สุดครับ”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : madisonavenuecouture.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **