นี่นับเป็นอีกหนึ่งห้วงเวลาที่“อุตสาหกรรมรถยนต์”ต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือการมาถึงของ“รถยนต์ไฟฟ้า”ที่ส่งผลกระทบต่อ “รถยนต์สันดาป”อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยมีอย่างน้อย 4 ค่ายใหญ่คือ“โฟล์คสวาเกน สเตลแลนติส อาวดี้ และนิสสัน”ที่สถานการณ์ทำท่า “ไม่สู้ดีนัก” และประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานรวมกันกว่า 15,000 คน
ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567 เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงาน ว่า “ดานิลา คาวาลโล (Daniela Cavallo)”ประธานสภาแรงงานโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) หรือ VW แถลงต่อพนักงานหลายร้อยคนที่สำนักงานใหญ่ในวูลฟส์บูร์ก (Wolfsburg) ว่า บอร์ดบริษัทโฟล์คสวาเกนต้องการปิดโรงงานไม่ต่ำกว่า 3 โรงในเยอรมนี ส่วนโรงงานที่เหลืออยู่จะทำการลดกำลังการผลิตลง โดยคาวาลโลอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้มาจากระดับบริหาร
นอกจากนี้ เดลีเทเลกราฟของอังกฤษยังรายงานด้วยว่า ค่ายรถ VW ยังมีแผนที่จะประกาศลดเงินเดือน 10% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างอีกด้วย
ทั้งนี้ โฟล์คสวาเกนมีโรงงาน 10 แห่งทั่วเยอรมนี มีพนักงานไม่ต่ำกว่า 120,000 คน และครึ่งหนึ่งอยู่ในวูลฟส์บูร์ก ซึ่งการเตรียมปิดโรงงานในเยอรมนีนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปีของค่ายเลยทีเดียว
สื่ออังกฤษชี้ว่า ค่ายรถยักษ์ใหญ่เยอรมนีต่างๆ เป็นต้นว่า โฟล์คสวาเกนต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนการผลิตจากรถใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้าที่ต้องพึ่งแบตเตอรี่ โดยปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ค่ายรถยนต์ดังเชี่ยวชาญแต่เฉพาะรถใช้น้ำมัน ขณะที่เมื่อต้องพบกับคู่แข่งค่ายรถชื่อดังจากจีน ซึ่งสามารถผลิตและจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำกว่าจึงเกิดปัญหาด้านยอดขาย
อย่างไรก็ตาม แม้มีบางโรงงานในเยอรมนีได้หันไปผลิตรถไฟฟ้า แต่ก็มีอีกหลายโรงงานเช่นกันที่ไม่สนใจที่จะลงทุนด้วยเห็นว่า อัตราการเติบของรถไฟฟ้าในระยะหลังดำเนินไม่ได้พุ่งปรู๊ดปร๊าดเหมือนช่วงแรกๆ
นอกจากโฟล์คสวาเกนแล้ว รอยเตอร์รายงานว่า“อาวดี้”ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Volkswagen ก็กำลังวางแผนจะลดจำนวนพนักงานลง 15% ในเยอรมนี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานราว 4,500 คน โดยจะเน้นไปที่ตำแหน่งงานนอกสายการผลิตของบริษัท อาทิ ด้านการพัฒนา เป็นต้น
“นายเกอร์นอด ดอลล์เนอร์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโออาวดี้ เปิดเผยว่า สาเหตุการเตรียมปลดพนักงานในเยอรมนีมากถึง 15% ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 โดยเฉพาะผลกำไรสุทธิตกต่ำอย่างมาก สาเหตุจากต้นทุนสูงในการดำเนินธุรกิจ และค่าใช้จ่ายที่สูงจากการตัดสินใจปิดโรงงานอาวดี้ที่ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวีในประเทศเบลเยียม นอกจากนี้ ความล่าช้ามากในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จําเป็นในรถอีวีของอาวดี้ ส่งผลกระทบต่อการเปิดตัวรถอีวีรุ่นคิว 6 อี-ตรอน มาถึง 2 ปีแล้ว
ขณะที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกันก็ส่งสัญญาณไม่ดีให้เห็นเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ“สเตลแลนทิส (Stellantis)”ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 4 ของโลก ที่เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 1,100 คน ที่โรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองโทเลโด เซาท์ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ สเตลแลนทิส เป็นเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ทั้งChrysler, Dodge, Fiat, Jeep และ Ramโดย ฃการปรับลดพนักงานนี้จะมีผลในวันที่ 5 มกราคม 2568
ทางบริษัทเปิดเผยว่า จะเปลี่ยนจากรูปแบบการทำงาน 2 กะ ไปเป็นแบบกะเดียวที่โรงงานทางใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตรถ Jeep Gladiator ส่วนโรงงานทางตอนเหนือของศูนย์ประกอบซึ่งผลิตรถยนต์ Jeep Wrangler และ Jeep Wrangler 4xe ไม่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง
บริษัทแถลงว่า ในขณะที่สเตลแลนทิสก้าวผ่านปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน โดยมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในสหรัฐฯ เพื่อให้แน่ใจว่าจะเริ่มต้นปี 2568 ได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงการดำเนินการที่ยากแต่จำเป็น เพื่อลดระดับสินค้าคงคลังที่สูง โดยการจัดการการผลิตเพื่อสอดคล้องกับยอดขาย สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำที่ยากลำบาก แต่จำเป็นเพื่อให้บริษัทสามารถฟื้นความสามารถในการแข่งขัน และคืนการผลิตไปสู่ระดับก่อนหน้าได้ในที่สุด
สเตลแลนทิส กล่าวว่า ตามสัญญาปี 2023 กับ United Auto Workers บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานที่ได้รับผลกระทบเป็นเวลา 1 ปี ร่วมกับสิทธิประโยชน์การว่างงานของรัฐ ซึ่งเท่ากับ 74% ของค่าจ้าง และความช่วยเหลือในการเปลี่ยนผ่าน 1 ปี บริษัทยังให้ความคุ้มครองด้านการดูแลสุขภาพเป็นเวลา 2 ปีด้วย
ทั้งนี้ รายรับในไตรมาสที่ 3 ของสเตลแลนทิส ลดลง 27% เนื่องจากการจัดส่งลดลง 20% เหลือ 1.2 ล้านคัน ในช่วงไตรมาสดังกล่าว เทียบกับ 1.5 ล้านคันในปีก่อนหน้า
จากนั้นไม่นานนักก็ถึงคิวของ “ค่ายญี่ปุ่น” อย่าง “นิสสัน”ที่สถานการณ์ย่ำแย่กว่าเพื่อน โดยแถลงปรับลดพนักงานมากถึง 9,000 อัตรา พร้อมให้เหตุผลอันน่าสะพรึงว่า ทางบริษัทกำลังใช้มาตรการเร่งด่วนในการจัดการกับ “สถานการณ์รุนแรง”
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่นรายงานผลประกอบการมีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกลดลงถึง 93% โดย “มาโคโตะ ยูชิดะ” ซีอีโอของนิสสัน เปิดเผยว่า ยอดขายที่อ่อนแอในตลาดอเมริกาเหนือ คือปัจจัยสำคัญของกำไรที่ดำดิ่ง
นิสสันและบรรดาคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นต่างกำลังดิ้นรนยืนหยัดต่อสู้ในจีน ในขณะที่เหล่าบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนจากปักกิ่ง เติบโตขึ้นอย่างมากและบางส่วนได้แซงหน้าพวกเขาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ด้วยต้องเผชิญกับสถานการณ์รุนแรง นิสสันกำลังใช้มาตรการเร่งด่วนในการพลิกสถานการณ์ และสร้างธุรกิจที่มีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม และมีศักยภาพในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างรวดเร็ว” ถ้อยแถลงของบริษัทระบุ
ถ้อยแถลงระบุต่อว่า “นิสสันจะปรับลดศักยภาพการผลิตทั่วโลกลง 20% และลดพนักงานทั่วโลกลง 9,000 อัตรา” ขณะที่ทาง อูชิดะ จะสมัครใจลดเงินเดือน 50% เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2024 และสมาชิกคณะกรรมการบริการคนอื่นๆ จะสมัครใจลดเงินเดือนเช่นกัน
เวลานี้ทางบริษัทมียอดขายสุทธิ 12.7 ล้านล้านเยน (ราว 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 14 ล้านล้านเยน
อย่างไรก็ตาม นิสสันยังไม่เผยแพร่ตัวเลขประมาณการกำไรสุทธิในวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากเคยปรับลดประมาณการเมื่อเดือนกรกฎาคม เหลือ 300,000 ล้านเยน ในขณะที่ช่วง 6 เดือนจนถึงเดือนกันยายน กำไรสุทธิของทางบริษัทอยู่ที่แค่ 19,200 ล้านเยน
“จำเป็นต้องสรุปรายได้สิทธิอีกรอบ สืบเนื่องจากยังอยู่ระหว่างประเมินค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับแผนความพยายามพลิกฟื้นธุรกิจ” อูชิดะกล่าว
เขากล่าวว่า รถยนต์รุ่นต่างๆ ที่เป็นเสาหลักของนิสสัน มียอดขายไม่ดีเท่าก่อนหน้านี้ในอเมริกาเหนือ พร้อมบอกว่า "จากมุมมองเกี่ยวกับต้นทุนและมุมมองเกี่ยวกับความเข้มแข็งของแบรนด์ เราจะฟื้นฟูแบนด์ของเราในอเมริกา"
นอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์แห่งนี้จะลดการถือหุ้นในมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ด้วยการขายหุ้นกลับไปยังมิตซูบิชิ
ถ้อยแถลงระบุว่าหุ้นของนิสสันในมิตซูบิชิจะลดลงเหลือราว 24% จากระดับ 34% ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม อูชิดะ บอกว่า นิสสันจะคงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมิตซูบิชิต่อไป
เมื่อถามถึงชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อูชิดะบอกว่า นิสสันได้ยินมาหลายเรื่องเช่นเรื่องภาษี แต่มองว่าไม่ได้มีแค่บริษัทเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ
“เราจะล็อบบี้ และทิศทางของแผนในระยะกลางถึงระยะยาวของเรายังคงเหมือนเดิม แต่เราจะดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับการจับตาสถานการณ์อย่างระมัดระวัง” อูชิดะ กล่าว
สำหรับในประเทศไทย จากการตรวจสอบข้อมูลของ “บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” พบว่า สถานการณ์ในปี 2567 ดำเนินไปในทิศทางที่ดีแม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศไทยจะดิ่งลง 43% เหลือเพียง 7,968 คันในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 สวนทางกับบริษัทแม่ในญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญวิกฤตหนัก
กล่าวคือพลิกกลับมาทำกำไรสุทธิ 1,503 ล้านบาทในปี 2567 หลังจากขาดทุนต่อเนื่อง 4 ปี โดยในปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 7,212 ล้านบาทปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 6,102 ล้านบาทปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 267 ล้านบาทและปี 2566ขาดทุนสุทธิ 2,031 ล้านบาท
ส่วนภาพรวมของโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ไปแล้วคือ การประกาศปิดโรงงานของ ซูซูกิ มอเตอร์(ปลายปี 2568) และ ซูบารุ ขณะที่ค่ายรถยนต์อื่นๆ ตามรายงานข่าวก็ได้รับคำยืนยันว่า กำลังมีการปรับลดกำลังการผลิต และเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวที่อยู่ในสายการผลิตออกไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวนหนึ่งเช่นกัน
ดังนั้น คงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดรถยนต์จะขยายวงกว้างออกไปกว่าหรือไม่ โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจของไทยยังไม่เห็นวี่แววว่าจะดีขึ้นตามคำโฆษณาของรัฐบาล รวมทั้งการที่สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อจากปัญหา “หนี้เสีย” ซึ่งกระทบกับยอดขายหนัก
ก็ได้แต่ “หวังว่า” คงไม่มีค่ายไหนตัดสินใจลดกำลังการผลิต ปิดโรงงาน หรือโบกมือลาประเทศไทยไปอีก เพราะในความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้ หลายค่ายก็มีสัญญาณไม่สู้จะดีนัก