xs
xsm
sm
md
lg

ลุยไฟตั้ง “กิตติรัตน์” ประธานบอร์ด เคลียร์ทาง “ผู้ว่าฯ แบงชาติคนใหม่” ลดดอกเบี้ย - ปูพรมประชานิยมกระตุ้นศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“เดอะโต้ง” ที่เคยได้ฉายา “โต้ง White Lie” หรือ “โกหกสีขาว” ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อตีโป่งเป้าส่งออก 15% สวนความจริงที่ทำได้เพียง 3% มาคราวนี้หลังขึ้นแท่นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะมี White Lie ตีโป่งเป้าเศรษฐกิจเติบโตทะลุ 5% ตามที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคุยโอ่ไว้หรือไม่ เพราะหัวใจของรัฐนาวาแพทองธาร ชินวัตร จะรอดหรือร่วงก็ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นสำคัญ

เหตุผลที่ปั้นตัวเลขคาดการณ์ส่งออกครานั้นก็อ้างเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ครานี้ถ้า “เดอะ โต้ง” จะ White Lie ซ้ำสองก็คงอ้างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเช่นกัน แต่ทว่าอันดับแรกสุด กิตติรัตน์ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเองก่อน ดังโพสต์แรกหลังได้รับคัดเลือกมาทำหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า “ทุกเสียงสนับสนุนคือกำลังใจ และทุกเสียงที่ติติงคัดค้านคือการเตือนใจ ให้คิดดี พูดดี และปฏิบัติดี”

กิตติรัตน์ ฝ่ากระแสต้านอันหนักหน่วงทั้งจากอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และมวลชนศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว กว่าจะขึ้นเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ได้สำเร็จ โดยเสียงที่ลงมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์เป็นประธาน ก็ใช่ว่าจะเป็นเอกฉันท์ และต้องใช้เวลาถกกันเกือบ 5 ชั่วโมง ก่อนจะเคาะชื่อออกมา

โดยคณะกรรมการฯ เสียงข้างมาก 4 เสียง เลือก กิตติรัตน์ อีก 2 เสียง โหวตให้ กุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ส่วนอีก 1 เสียง เลือก สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางคณะกรรมการฯ จะนำส่งผลการคัดเลือกเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567

ผลการคัดเลือกครั้งนี้ กิตติรัตน์ถือเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนที่ 5 หลังมี พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 นับจากคนแรก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ถัดมาคือ วีรพงษ์ รามางกูร, อำพน กิตติอำพน และ ปรเมธี วิมลศิริ ตามลำดับ

สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกสองคน คือพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และชุณหจิต สังข์ใหม่อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง คณะกรรมการคัดเลือกฯ ลงมติเลือกด้วยเสียงข้างมาก ไม่มีใครได้รับคะแนนเสียงเอกฉันท์

มีรายงานว่า ภายในห้องประชุมอันเคร่งเครียด คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีการพิจารณากันถึงคุณสมบัติและความรู้ความสามารถของตัวเต็ง คือ กิตติรัตน์ ในประเด็นเรื่องคุณสมบัติ มีสองปมที่ต้องเคลียร์ คือ คดีระบายข้าวเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว หรือ “คดีข้าวบูล็อค” ซึ่งศาลฎีกาตัดสินคดีให้ กิตติรัตน์ พ้นผิด และอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่อุทธรณ์คดีแล้ว ถือว่าตัดจบ

ส่วนอีกปมคือ ตำแหน่งทางการเมือง ด้วยว่า กิตติรัตน์ เคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และอดีตนายกฯ เศรษฐา เองก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า กิตติรัตน์ มาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่ได้ เพราะเป็นข้าราชการการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งยังไม่ถึงหนึ่งปี แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีความเห็นว่า ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ของกิตติรัตน์ ไม่ได้ถือเป็นข้าราชการการเมือง จึงไม่ขัดระเบียบฯการคัดเลือก

อย่างไรก็ดี ปมนี้อาจมีคนเอาเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาล ตามที่เชาว์ มีขวดทนายความ อดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ว่าไว้ว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ลงคะแนนให้ กิตติรัตน์ นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เตรียมสู้คดีในชั้นศาลได้เลย

เชาว์ ได้ยกระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ พ.ศ. 2551 หมวดที่ 2 การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ข้อ 16 (4) ที่ระบุว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม “เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี” เจตนารมณ์ของระเบียบฯ เพื่อต้องการให้บุคคลที่จะได้รับคัดเลือกเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนแรก

วีรพงษ์ รามางกูร ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนที่ 2

อำพน กิตติอำพน ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนที่ 3

ปรเมธี วิมลศิริ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนที่ 4
เขาอธิบายว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีของ กิตติรัตน์ แม้โดยนิตินัยจะไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง แต่โดยพฤตินัยตามคำสั่งที่ระบุให้ กิตติรัตน์ ให้คำปรึกษา พิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้ส่วนราชการสนับสนุน จึงอยู่ในความหมายของ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ตามระเบียบฯ ข้อ 16 (4) โดย กิตติรัตน์ เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตามอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ตกเก้าอี้จากคดีแต่งตั้ง “ทนายถุงขนม” เป็นรัฐมนตรี

มองผิวเผินดูเหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไร คณะกรรมการคัดเลือกฯ คงพิจารณารอบคอบถี่ถ้วนดีแล้ว แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เพราะดูทรงแล้วตอนนี้ “เทวดา ชั้น 14” ที่เป็น “นายใหญ่” แห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า ยังมีขบวนการตามล้างตามเช็ดไม่เลิก ซึ่งเหล่าบริวารแวดล้อมที่การเมืองส่งไปคุมขุมกำลังตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ก็อาจเจอบ่วงคดีมัดมือมัดเท้า ทำให้การขยายอิทธิพลและอำนาจของ “นายใหญ่” ไม่ราบรื่นตามความมุ่งมาดปรารถนาก็อาจเป็นไปได้ทั้งนั้น

ขณะที่พิชัย ชุณหวชิรรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะเป็นใครก็เหมือนกัน เพราะพ.ร.บ.เขียนชัดเจนว่าประธานบอร์ดและคณะกรรมการแบงก์ชาติต้องทำหน้าที่อย่างไร มีการแบ่งหน้าที่ไว้ชัดเจนว่าคณะกรรมการชุดใหญ่ดูแลอะไร และ 4 ชุดที่เหลือมีหน้าที่อะไร ฉะนั้นทุกอย่างมีหน้าที่ชัดเจนและมีความเป็นอิสระ

ส่วนการทำงานของรัฐบาลกับแบงก์ชาตินั้น รัฐบาลดูเรื่องคลัง และแบ่งหน้าที่เรื่องเงินในภาพใหญ่ให้ ธปท.ดูแล และพยายามปรับจูนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาของตลาดที่ขานรับการมาของ “เดอะโต้ง” ไม่น่าประทับใจสักเท่าใดนัก ทั้งค่าบาทอ่อนยวบมากสุดในเอเชีย ส่วนตลาดหุ้นก็แดงเถือกทั้งกระดานอีกต่างหาก

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ว่า เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินของประเทศในเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเงินบาทร่วงลงกว่า 1% แตะที่ระดับ 34.739 บาทต่อดอลลาร์ในที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคมของปีนี้ หลังมีข่าวว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

ยูจีเนีย วิกโตริโน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์เอเชียของธนาคาร Skandinaviska Enskilda Banken AB สิงคโปร์ กล่าวว่า นักลงทุนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธปท.นับตั้งแต่รัฐบาลเพิ่มแรงกดดันให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และข่าวลือเกี่ยวกับการแต่งตั้ง กิตติรัตน์ ยิ่งส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายมากขึ้น
“ตราบใดที่ความเป็นอิสระของธปท.ยังคงมีความเสี่ยง นักลงทุนก็จะยังคงหันไปถือครองสกุลเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับบาทในระยะยาว” วิกโตริโน กล่าว

เงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 7% ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งทำผลงานย่ำแย่ที่สุดในเอเชีย หลังจากรัฐบาลกดดันให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แนวโน้มเงินบาทย่ำแย่ลงอีกเมื่อนักลงทุนเริ่มระมัดระวังการซื้อขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีการค้าเป็นวงกว้าง

ลอยด์ ชาน นักกลยุทธ์ค่าเงินจากธนาคาร MUFG ในสิงคโปร์ มองว่า การแต่งตั้ง กิตติรัตน์ เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ อาจทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีหน้า และการที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเผชิญผลกระทบจากภาษีการค้าของทรัมป์นั้น อาจทำให้เงินบาทได้รับผลกระทบมากเป็นสองเท่า

ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ปรับลดลงจุดต่ำสุด 1,443.15 จุด และจุดสูงสุด 1,460.13 จุด จากกระแสเงินทุนไหลกลับที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และโยกไปเล่นคริปโตเคอเรนซี และค่าบาทอ่อนนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทย ราคาน้ำมันปรับลดกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียที่ปรับลดลงเช่นกัน

เผ่าภูมิ โรจนสกุลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาโต้กลับว่า การเลือกกิตติรัตน์มานั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่น่าจะใช่ประเด็นหลักที่ทำให้บาทอ่อน แต่มีสาเหตุจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างมาก

แม้จะมีเสียงต้านรอบทิศ แต่เมื่อลุยไฟมาถึงขั้นนี้แล้ว เชื่อแน่ว่า “เดอะโต้ง” ต้องมีภารกิจสำคัญที่ยิ่งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า ไม่เช่นนั้นรัฐบาลคงไม่เสี่ยงเดิมพันสูงขนาดนี้

ต้องไม่ลืมว่าคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

แม้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายการเงินโดยตรง แต่มีอำนาจในการประเมินผลงานของผู้ว่าการธปท. มีส่วนร่วมคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายชุดต่าง ๆ การกำกับดูแลสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

และที่สำคัญที่สุด คือ การสรรหาผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ ที่จะมาแทน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนกันยายน 2568 หากประตูบานแรกถูกเปิด ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เป็นคนของรัฐบาล ประตูบานถัดไป การสรรหาผู้ว่าแบงก์ชาติ มาแทน “ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ” ยิ่งน่ากังวลกว่าหลายเท่าตัว

นอกจากนั้น ยังต่อเนื่องไปถึงนโยบายการให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่ฝั่งการเมืองเห็นว่าควรเปิดเสรี แต่แบงก์ชาติจะเปิดให้แค่ 3 ราย

ทั้งนี้ การทลายอุปสรรคขวางกั้นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ฝ่ายรัฐบาลกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แบงก์ชาติ ไฝว้กันมาตลอด รวมถึงการดูแลค่าเงินบาท การกำหนดกรอบเงินเฟ้อ ที่รัฐบาลกับทางแบงก์ชาติมีความเห็นสวนทางกันอยู่เนือง ๆ รวมไปถึงการทำโครงการประชานิยม เพื่อหวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จะกระทบกับฐานะทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว เช่น โครงการแจกเงินหมื่น ที่รัฐบาลกับแบงก์ชาติกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน กำลังถูกจับตามองจากสังคม

เช่นเดียวกันกับ การแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่บัญชีบริหารหนี้ของ ธปท. แทนที่จะอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง เพื่อเอื้อให้รัฐบาลก่อหนี้เพื่อทำโครงการประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ส่วนอีกเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อยเช่นกัน ก็คือ การล้วงทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่มีอยู่กว่าสองแสนล้านดอลลาร์ ออกไปแสวงหาประโยชน์บางส่วน ตามแนวคิดดึงทุนสำรองมาตั้งกองทุนความมั่งคั่งของรัฐ (Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) เหมือนกับต่างประเทศ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ภารกิจสำคัญของ “เดอะโต้ง” จึงเดิมพันด้วยอนาคตของประเทศไทยกันเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น