ท่ามกลางการรุกไล่ประกาศ“พื้นที่ป่าอนุรักษ์” ตามนโยบายของหลายรัฐบาลสืบเนื่องกันมา ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนเกิดปัญหาคนกับป่าในเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ส่งผลให้ชาวบ้านดั้งเดิมผู้อยู่อาศัยในเขตป่าหลายแห่งจาก “ผู้บุกเบิก"รักษาป่าไม้ ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้บุกรุก”ทำลายป่า จนเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างหนัก และนำสู่การสางปัญหาโดยมีการแก้กฎหมายเอื้อประโยชน์ให้คนอยู่กับป่า
นั่นคือการที่คณะรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร มีมติเห็นชอบ “ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) โครงการอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562” และ “ร่างพ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ.2562...” ไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
ทั้งนี้ ปัญหาการที่ดินทำกินในพื้นที่ป่านั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื้อรังมานาน โดยนายประยงค์ ดอกลำไยที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move (พีมูฟ) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีประชาชนและชุมชนที่อยู่ในเขตป่าทั้งหมด 4,092 ชุมชน 1.8 ล้านคน ที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ (เขตอุทยานฯ เขตวนอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าฯ) ย้ำว่าเฉพาะชุมชนที่อยู่มาก่อนวันที่ประกาศ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ไม่มีทางที่จะเป็นผู้บุกรุก เพราะสิ่งที่อยู่สิ่งที่มีมาก่อนไม่มีทางที่จะไปบุกรุกสิ่งที่มาที่หลังได้
สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับมี 6 ประการด้วยกันคือ
หนึ่ง -กำหนดให้มีโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ภายในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่มีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่อาศัยที่ทำกินที่ชัดเจน และไม่มีการขยายพื้นที่อีก
สอง – ดำเนินการในเขตจอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี อุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น จังหวัดจันทบุรี และอุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดงจังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
สาม - ผู้อยู่อาศัยทำกินภายใต้โครงการ ต้องมีรายชื่อตามผลสำรวจการถือครองที่ดิน ของกลุ่มอุทยานแห่งชาติ รักษาป่า และพันธุ์พืช ไม่ครอบครัวละ 20 ไร่ ในกรณีเกินสองครัวเรือนขึ้นไปที่ทำกินในสถานที่หรือพื้นที่ทำกินเดียวกันเพื่ออยู่อาศัยหรือทำกินได้ไม่เกิน 40 ไร่
สี่ - ผู้อยู่อาศัยภายใต้โครงการแบ่งเป็น 1. ผู้ครอบครองที่ดิน 2. สมาชิกในครอบครัว หรือครัวเรือน โดยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นมีสัญชาติไทย ไม่มีที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดเกี่ยวกับการทำลายป่าหรือที่เกี่ยวกับการล่าสัตว์ป่า
ห้า - ผู้ครอบครองที่ดินจะโอนการครอบครอง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวหรือครัวเรือนเข้ามาอาศัยอยู่ในที่ทำกินไม่ได้
และหก - ผู้อยู่อาศัยที่ทำกินภายใต้โครงการมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ
นายปกรณ์ นิลประพันธ์เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของพระราชกฤษฎีกาคือเพื่อให้คนที่ขณะนี้อยู่ในป่าสามารถทำมาหากิน และอยู่อาศัยในพื้นที่ได้ระหว่างที่ตรวจสอบหรือพิสูจน์สิทธิในที่ดินว่าตกลงพวกเขาอยู่มาก่อนหรืออยู่หลังประกาศเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ทั้งนี้ เนื่องจากตามกฏหมายเดิมระบุว่าใครก็ตามอยู่ในพื้นที่ป่าจะต้องมีความผิดทางอาญาสถานเดียว
อย่างไรก็ดี หลังมี ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างฯ 2 ฉบับ ดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ภาคประชาชนให้การตอบรับในทิศทางบวก แต่ก็ต้องยอมรับว่า จำนวนไม่น้อยยังมีความวิตกกังวล และถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปีสส.พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินของประชาชน 3 ปัญหาหลักคือ
1. ปัญหาการขาดความชอบธรรมทางการเมือง เนื่องจาก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ในยุครัฐบาล คสช. ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน เนื้อหาในกฎหมายไม่อาจแก้ปัญหาป่าทับคน-คนทับป่าได้
2. ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ฎ. คือประชาชนที่อาศัยในเขตป่า แต่กรมอุทยานฯ กลับเปิดรับฟังความเห็นในวงจำกัด ทำให้ประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สามารถเข้าถึง รับรู้ข้อมูล หรือแสดงความเห็นได้อย่างเพียงพอ
และ 3. ปัญหาการขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดจะออก พ.ร.ฎ. ทั้งที่รายละเอียดของแผนที่แนบท้ายไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ขัดต่อมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และ มาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ที่ต่างบัญญัติว่าต้องจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการแนบท้ายไว้ เพื่อให้ทราบว่าการใช้บังคับกฎหมายในเรื่องนั้นครอบคลุมบริเวณพื้นที่ส่วนใดบ้าง
ส่วนข้อกังวลในแง่ของเนื้อหานั้น ประเด็นสำคัญอยู่ในเรื่องการออกกฎหมายที่มุ่งจำกัดสิทธิของประชาชน ไม่ใช่คุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน เป็นการ “อนุญาต” ไม่ใช่การ “ให้สิทธิ์” ดังนี้
ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดว่าเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินเป็นการชั่วคราว ซึ่งไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง เพราะประชาชนในหลายพื้นที่อาศัยมาก่อนการประกาศเป็นป่าอนุรักษ์และมีการตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร
ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดระยะเวลาในการอนุญาตอยู่อาศัย 20 ปี โดยไม่ได้บัญญัติว่าจะมีการอนุญาตต่อได้หรือไม่ด้วยเงื่อนไขอะไร หากยึดถือตามนี้หมายความว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชาชน 4,042 ชุมชนและพื้นที่ 4.2 ล้านไร่ จะต้องส่งคืนกรมอุทยานฯ ทั้งหมด
ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดเนื้อที่ในการอนุญาต ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว ส่วนที่เกินต้องส่งมอบแก่กรมอุทยานฯ เพื่อนำไปฟื้นฟูเป็นป่า แม้การกำหนดเพดานจำนวนการถือครองที่ดินเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ต้องไม่มีเจตนาเพื่อยึดที่ดินที่ประชาชนใช้ดำรงชีพตามวิถีชีวิตปกติของคนในชุมชนท้องถิ่น และการกำหนดมาตรการใดๆ จะต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม
ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดคุณสมบัติหลายประการที่จำกัดสิทธิประชาชน เช่น ผู้มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัย ต้องไม่มีที่ดินอื่นนอกเขตโครงการ เงื่อนไขนี้ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ มาก่อนหน่วยงานรัฐประกาศเป็นเขตป่า ต้องสูญเสียที่ดินซึ่งครอบครัวหรือบรรพบุรุษได้ทำมาหากินมานานแล้ว, ผู้มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัย ต้องไม่เคยกระทำความผิดในเขตป่าอนุรักษ์ เงื่อนไขนี้จะส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่เคยถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในยุครัฐบาล คสช. จากปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ต้องสูญเสียสิทธิ์, พี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ จะถูกตัดสิทธิการอยู่อาศัยทำกินในเขตป่าอนุรักษ์
ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการออกกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อทบทวนการพิจารณาเสนอแก้ไขมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ยกระดับสิทธิชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาป่าทับคน-คนทับป่าได้อย่างแท้จริง
ต้องยอมรับว่านโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่ในอีกมิติหนึ่งกระทบต่อผู้คนในวงกว้างเรื่องสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยรัฐมีความพยายามแก้ปัญหาออกกฏหมายเอื้อให้คนสามารถอยู่กับป่าได้ ซึ่งดำเนินท่ามกลางความปริวิตกของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ