xs
xsm
sm
md
lg

ปานเทพชำแหละตั้ม 4 คดีฉ้อโกงเป็นปกติธุระ แนะตำรวจสอบพี่สาวเมีย-คนขายนาฬิกาหรู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" เผยพฤติการณ์ 4 คดี ทนายตั้มกับคุณอ้อย เผยคนร้องทุกข์คิดอยู่เรื่องเดียว แต่ที่งอกเพราะสื่อและตำรวจขุดคุ้ย ใช้ชื่อนิติกรรมคนอื่นแต่ตัวเองเอาเงิน กินส่วนต่าง ชักใยสแกมเมอร์ทิพย์ ถามทนายสายหยุดไม่พูดถึงเอกสารสัญญาสักคำ เสน่หาตรงไหนเดือนถัดมาเลิกจ้างเดือนละ 3 แสนเพราะไม่คุ้ม แนะตำรวจสอบพี่สาวเมีย คนขายนาฬิกาหรูและของหรู คาดทรัพย์สินถูกยักย้าย

อ่านประกอบ : "ปานเทพ" ย้อนรอยปม 71 ล้าน ชี้ไม้เด็ดตั้มเป็นไม้เดี้ยง ย้ำเมียรู้เห็นหวยออนไลน์

วันนี้ (13 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยผ่านรายการโหนกระแส ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ดำเนินรายการโดย นายกรรชัย กำเนิดพลอย กรณีที่นายสายหยุด เพ็งบุญชู ทนายความของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด ผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงเงินลงทุนแพลตฟอร์มลอตเตอรีออนไลน์ 71 ล้านบาทของ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือคุณอ้อย อ้างว่าฟังที่นายษิทราให้ปากคำแล้วยืนยันว่าน่าจะเป็นคดีแพ่งนั้นว่า เป็นการหลอกเขา ฉ้อโกงหมายถึงหลอกตั้งแต่แรกให้หลงเชื่้อและทำธุรกรรมตาม สุดท้ายไม่เป็นไปตามที่ได้พูดกัน

หลักฐานหนึ่งคือใบโอนเงินธนาคารในประเทศฝรั่งเศส ของ น.ส.จตุพร จำนวน 3 ล้านยูโร ระบุวัตถุประสงค์ของการโอนเงินเข้ามาที่บัญชีตนเอง ไม่ต้องเสียภาษี ระบุว่าเพื่อการลงทุน (ภาษาฝรั่งเศส INVESTISSEMENT IMMOBILIER) แสดงว่าเจตนาของ น.ส.จตุพรคิดจะลงทุนจริงๆ ไม่เหมือนการโอนเงินในรอบที่ผ่านมาว่าโอนเงินเข้าตัวเอง นายษิทราจะอ้างว่าเพื่อลดภาษีของตัวเองก็ไม่ได้ เพราะวิธีการลดภาษีของนายษิทราคือการถอนเงินสดจากธนาคารแล้วนายษิทราเอาไปทั้งก้อน ไม่มีในสาระบบภาษีเลย แสดงว่าเจตนาของ น.ส.จตุพร ต้องการจะลงทุนจริง ตั้งใจจะลงทุนเป็นของตัวเอง ซึ่งอีก 1 ล้านยูโรก็นำไปลงทุนเรื่องอื่น

นายปานเทพ กล่าวถึงกรณีเงินค่าออกแบบ 9 ล้านบาท ว่า หลังจากบริษัทผู้ผลิตแอปพลิเคชันถูกยกเลิกสัญญา ก็ถูกนายษิทราชักชวนว่าไปรับเหมาก่อสร้าง แล้วจะหาโครงการจากคุณอ้อยให้ เริ่มต้นด้วยการออกแบบก่อน บริษัทฯ หลงเชื่อ มีการตั้งราคาออกแบบโดยภาพรวม 9 ล้านบาท นายษิทราก็อ้างว่าตัวเองเป็นผู้จัดการโครงการ ก็ต้องเอาเงินมาอยู่ที่เขา แล้วไปออกแบบตรงนั้นตรงนี้ ถ้าคุณอ้อยไม่หยุดโครงการ เหลือเงินอยู่จะได้ดำเนินการออกแบบต่อไปจนแล้วเสร็จ หรือจะคืนเงินก็ได้

ที่นายสายหยุดบอกว่าความจริงควรจะคืนเงิน จะบอกว่ามันไม่ใช่ เพราะการที่นายษิทราสมควรเป็นผู้รับเงินตั้งแต่แรก โดยไม่เรียกว่าฉ้อโกง น.ส.จตุพร ต้องมอบเงินทั้งก้อนให้นายษิทราเพื่อไปบริหารจัดการ แต่นายษิทรากลับให้ผู้ผลิตแอปพลิเคชัน ที่มี น.ส.มี่ และนายเตอร์ (นามสมมติ) เจ้าของบริษัท ซึ่งเป็นพยานสำคัญ ทำใบเสนอราคาสำหรับการออกแบบ 9 ล้านบาท ให้กับ น.ส.จตุพร ซึ่ง น.ส.จตุพรต้องได้รับ ไม่เกี่ยวข้องกับนายษิทรา เดิมบริษัทฯ ทำภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มาด้วย เพราะต้องเข้าสู่ระบบภาษีในการทำรายรับ แต่นายษิทรากล่าวว่าไม่เอา VAT เดี๋ยวจะเสียภาษีเพิ่ม

ตนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการนำเงินออกนอกระบบเพื่อให้จัดการง่ายขึ้นหรือไม่ พอนำใบเสนอราคาไปให้คุณอ้อย คุณอ้อยก็โอนเงินสดทั้งก้อน 9 ล้านบาทไปยัง น.ส.มี่ เพราะฉะนั้นคุณอ้อยต้องคิดว่าบริษัทฯ เป็นผู้รับงานออกแบบทั้งหมด ไม่ใช่นายษิทรา แต่นายษิทราอาศัยสิทธิ์ว่าเป็นนักกฎหมายประจำตัวคุณอ้อย บอกว่าให้เอาเงินทั้งหมดมาให้ตน ทรัพย์ที่เป็นเงินสด คุณอ้อยจ้างบริษัทนี้ในราคา 9 ล้านบาท นายษิทรากลับคว้าเอาไปเป็นของส่วนตัว แต่บริษัทฯ รวมทั้่ง น.ส.มี่ ไม่ได้รับเงินและไม่ได้งาน แต่นายษิทราไปจ้างอีกบริษัทหนึ่งออกแบบในราคา 3.5 ล้านบาท น.ส.มี่ไม่ได้งานอีก ก็เหลือส่วนต่าง อย่างนี้เรียกว่าฉ้อโกงหรือไม่ ในเมื่อคู่สัญญาคุณอ้อยไม่เคยรู้เลยว่านายษิทราทำแบบนี้ มารู้ภายหลังจึงได้ดำเนินคดีความ

"อย่างนี้เรียกว่าฉ้อโกงไหม หรือเรียกความแพ่ง ถ้าแพ่งคือมีสัญญาต่อกันและเข้าใจตรงกัน แต่นี่มีทั้งใบเสนอราคา การโอนเงินให้บุคคลหนึ่งที่ไม่ใช่ทนายตั้ม ทนายตั้มคว้าเงินออกไป ไม่ยักยอกก็ต้องฉ้อโกงใช่ไหม ถ้าฉ้อโกงก็คือวางแผนเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก ถ้ายักยอกคือได้เงินมาแล้วคว้าเอาไปทีหลัง" นายปานเทพ กล่าว

เมื่อนายกรรชัยถามว่า นายษิทราบอกกับ น.ส.จตุพรแต่แรกหรือไม่ว่าจะเอาเงินมาไว้ที่ตน นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่ได้บอก

นายปานเทพกล่าวต่อว่า จากนั้นนายษิทรามีการนำเงิน 1 ล้านบาทไปให้พี่สาวภรรยานายษิทรา ส่วน น.ส.มี่ และนายเตอร์ ซึ่งรับงานมาแล้วไม่ได้เงินก็ระแวง เพราะถูกหลอกเรื่องแอปพลิเคชันมาครั้งหนึ่งและไม่รู้ว่ามีการให้เงินแล้ว จึงเก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งตอนได้เงิน 9 ล้านบาทก็ถ่ายรูปเก็บไว้ แคปโลเคชัน การเดินทาง การมอบเงิน เก็บทุกอย่าง กระทั่งเป็นพยานปากเอกสำคัญ เมื่อเงินก้อนนี้ผิดวัตถุประสงค์แล้วกลายเป็นเงินเข้าสู่นายษิทรา นายษิทราก็จะบอกว่า การออกแบบต้องทำเป็นส่วนๆ ทำไปค่อยๆ ออกแบบไป บังเอิญว่าการออกแบบและการก่อสร้างต้องมีระบบครบจึงจะออกแบบได้ ก็ต้องมีแบบก่อสร้าง แบบสถาปนิก แบบระบบงาน ระบบน้ำประปา ระบบไฟฟ้า ถึงจะขอแบบก่อสร้างได้

เพราะฉะนั้นการบอกว่าออกแบบทีหลังย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะผิดรูปแบบของการออกแบบ และในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ต้องเกิดครั้งเดียว รอบเดียว จนการก่อสร้างเดินหน้า อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับการยุติก่อสร้าง เพราะออกแบบมาอย่างไรก็ต้องสร้างแบบนั้น ไม่ได้สัมพันธ์กับการก่อสร้างในอนาคต โครงการนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนนายษิทรารับเงินไปแล้วก็ยังไม่คืน ยังไม่เคยบอกกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น ปัญหานี้มีนัยยะสำคัญ เพราะต่อมาประเด็นแห่งคดี คือเรื่องรถยนต์เมอร์ซิเดสเบนซ์ นายสายหยุดอ้างว่าค่านายหน้า ใครๆ ก็ทำกันทั้งประเทศ จะผิดอะไรนักหนา ประเด็นนี้เป็นค่านายหน้าจริงหรือไม่ ต้องดูจากราคาตลาด ไม่ถึง 12.9 ล้านบาท

แต่ความแตกตรงที่ น.ส.จตุพรได้รับใบเสร็จช้ามาก จ่ายเงินสดให้นายษิทราไปแล้ว แต่นายษิทราไปจ่ายเงินสดให้เต็นท์รถ 11.4 ล้านบาท ส่วนต่าง 1.5 ล้านบาท จะเป็นความแพ่งหรือค่านายหน้าปกติหรือไม่ อยู่ที่ใบเสร็จออกอะไร ถ้าใบเสร็จตัวจริงก็ต้องจ่ายภาษีจริง ใบเสร็จที่แท้จริงเข้าสู่ระบบคือ 11.4 ล้านบาท แล้วให้บริษัทเต็นท์รถออกใบเสร็จอีกใบหนึ่ง เป็น 12.9 ล้านบาทให้ น.ส.จตุพร อย่างนี้ฉ้อโกง ปกปิดอำพรางหรือไม่ ในเมื่อบริษัทเดียวกัน เต็นท์รถเดียวกัน รถคันเดียวกัน ผู้รับผลประโยชน์คนเดียวกัน แต่มีใบเสร็จ 2 ใบ ตำรวจพบใบเสร็จ 11.4 ล้านบาทภายหลัง ทางเต็นท์รถจึงสารภาพว่านายษิทราขอให้ออกใบเสร็จอีกใบหนึ่ง 12.9 ล้านบาท อย่างนี้ถือว่าค่านายหน้าหรือหลอกลวง น.ส.จตุพร

กรณีนี้ถ้าสมมติจะเป็นหัวคิว พี่อ้อยต้องไปซื้อเงินสดกับบริษัทเต็นท์รถ เต็นท์รถได้ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรฐาน เขาจะจ่ายค่านายหน้าให้นายษิทรา พร้อมกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย อย่างนี้เรียกว่าค่าการตลาดหรือค่านายหน้า แต่กรณีชักหัวคิวไม่เรียกอย่างนั้น เพราะเป็นการออกใบเสร็จ 2 ใบ ใบหนึ่งต้องปลอมเพราะไม่ได้เข้าสู่ระบบ ทำให้จากเดิมคดีเงินค่าลงทุนลอตเตอรีออนไลน์ 71 ล้านบาท และเงินค่าออกแบบก่อสร้าง 9 ล้านบาท ก็งอกมาอีกหนึ่งคดี เรื่องรถเบนซ์จากเดิมเป็นการบ่นกันก็กลายเป็นคดี

ประเด็นสุดท้ายที่มีการออกหมายจับ คือ กรณีเงินก้อนใหญ่ 39 ล้านบาท น.ส.จตุพรถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคดีสแกมเกมอร์หลอกลวงเป็นดาราจีนชื่อ เฉิน คุน น.ส.จตุพรอยากให้มาจัดงานที่ประเทศไทย และต้องมีวิธีการโอนเงินแต่โอนไม่ได้ มาถึงเมืองไทยมิจฉาชีพซึ่งคาดว่าเป็นมิจฉาชีพปลอมอีกทีหนึ่ง อ้างว่าจะโอนเงินให้ เฉิน คุน ได้จะต้องจ่ายเงินเป็นบิตคอยน์หรือคริปโตเคอเรนซี น.ส.จตุพรโอนไม่เป็น นายษิทราเสนอตัวว่ามีเพื่อนชื่อนุ หรือนายนุวัฒน์ ยงยุทธ นายนุ เป็นลูกความคนหนึ่งเคยมีคดีเกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์แล้วมีโฆษณาพนันออนไลน์ มีทะเบียนรถยนต์เหมือนกัน คือ 999 นายษิทราอ้างว่านายนุเป็นเพื่อนอีกคนหนึ่ง เก่งคริปโตฯ จะช่วยโอนเงินได้ น.ส.จตุพรหลงเชื่อ โอนไป 2 ครั้งเป็นเงินสด ให้นายนุไปโอนเงินคริปโตฯ ให้กับอินสตาแกรมดารา ผลปรากฎว่าดารารายนี้อ้างว่าไม่มีตัวตน

วันดีคืนดีก็มาบอก น.ส.จตุพร ว่าความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เพราะบัญชีที่โอนเงินให้นั้นเป็นมิจฉาชีพ บัญชีของเขาก็เลยถูกแขวน แล้วนำภาพโทรศัพท์ที่โชว์อีเมลของ BINANCE และใบลงบันทึกประจำวันจาก สน.บางซื่อ ลงวันที่ 23 พ.ค. 2566 มาให้ น.ส.จตุพรดูเพื่อให้ทราบว่ามีความเสียหายจริง โดยอ้างว่า น.ส.สารินี นุชนารถ ภรรยานายนุ เป็นผู้เสียหาย และเป็นผู้โอนเงินที่แท้จริง โอนเงินไปทั้งสิ้น 7 ครั้งในสกุลเงินบิตคอยน์ ทั้งที่บ้านอยู่ที่เขตดินแดง แจ้งความข้ามเขตไม่ได้ แต่ที่แจ้งความได้เพราะนายษิทราเป็นเพื่อนกับ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล หรือบิ๊กโจ๊ก อีกทั้ง ผกก.สน.บางซื่อก็เป็นเพื่อนบิ๊กโจ๊ก และสนิทกับนายษิทรา จึงให้ลงบันทึกประจำวันข้ามเขตได้ แต่ไม่ระบุมูลค่าความเสียหายซึ่งผิดวิสัย และการโอนเงินผิดไม่สามารถเข้าถึงได้อีกเลย มีระบบแบบนี้จริงหรือไม่ ซึ่งคนที่เล่นคริปโตฯ จะรู้กัน

ใบบันทึกประจำวันในตอนท้ายระบุว่าขอให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนบัญชีปลายทาง และผู้แจ้งจึงมาแจ้งความ โจทย์นี้จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายษิทรา จึงเกิดคำถามว่าใช้เอกสิทธิ์ในการลงบันทึกประจำวัน ในรูปแบบข้อความที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการแจ้งความหรือไม่ เพราะใบลงทันทึกประจำวันไม่ต้องตั้งเลขคดีใหม่ แต่ถ้าแจ้งความต้องตั้งเลขคดีและสืบสวนสอบสวนทันที ถ้าเป็นเช่นนั้นจะรู้ว่าไม่จริง แต่ น.ส.จตุพรหลงเชื่อ เพราะนายนุและ น.ส.สารินีมาร้องไห้ต่อหน้าและโชว์หลักฐานใบแจ้งความ แล้วอ้างว่าเป็นบัญชีที่เกิดความเสียหาย ทั้งที่ น.ส.สารินีไปแจ้งความ ตำรวจไม่หาหลักฐานว่าโอนเงินจริงหรือไม่ เพราะบัญชี BINANCE ที่ถูกแช่เป็นบัญชีของนายนุ ไม่ใช่ น.ส.สารินี แต่ น.ส.สารินีมาแจ้งว่าเป็นคนโอนเงินบิตคอยน์ ซึ่งไม่จริง เมื่อขัดแย้งกันและไม่แจ้งความเสียหาย ทุกอย่างจึงไม่จริงทั้งหมด

การที่นายษิทราอ้างว่ามาช่วยระงับไม่ให้โอนเงินเสียด้วยซ้ำ ฉากทัศน์นั้นจบไปแล้ว แต่ฉากทัศน์นี้ในความเสียหาย นายษิทราอยู่ที่การบัญชาการและสั่งการ เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น น.ส.จตุพรจึงตัดสินใจออกแคชเชียร์เช็คจำนวน 39 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 มูลค่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยความที่ น.ส.จตุพรไม่มีความรู้ และนายษิทราแนะนำมา เห็นว่าเป็นคนดี เป็นนักกฎหมายมืออาชีพจึงหลงเชื่อ ซึ่งโทรศัพท์ของทุกคนที่เกี่ยวข้องเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด นายนุได้ปรึกษากับ น.ส.มี่ เพราะเห็นว่าทำงานธนาคารมาก่อน ถามว่าถ้าโอนเงิน 39 ล้านบาทขบวนการฟอกเงินจะเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับใครบ้างในยอดเงินเท่าไหร่ เมื่อ น.ส.มี่อธิบายถึงผลที่ตามมา นายนุจึงใช้ภรรยาคือ น.ส.สารินีเปิดบัญชี เพื่อรับเงินแคชเชียร์เช็ค 39 ล้านบาท

เมื่อตำรวจสำรวจว่าเกิดความเสียหายจริงหรือไม่ พบว่าบัญชีคริปโตฯ ของ น.ส.สารินีที่ไปแจ้งความ ไม่เคยโอนเงินแทน น.ส.จตุพรสักครั้งเดียว ซึ่งตรวจสอบแล้ว ส่วนขั้นตอนการถอนเงินสด น.ส.มี่ และนายเตอร์ อยู่ที่ย่านเซ็นทรัลลาดพร้าว ไม่รู้ว่าเหตุ 39 ล้านบาทมาจากอะไร แต่ได้รับการร้องขอว่าให้ช่วยประสานงานในการถอนเงิน ในฐานะที่เป็นพนักงานธนาคารเดิม จึงโทรศัพท์ไปที่ธนาคารว่าจะถอนเงิน 39 ล้านบาท ธนาคารแจ้งว่าต้องรอวันที่ 28 พ.ค. 2566 เหตุที่ น.ส.มี่ยอมทำให้นายนุ เพราะนายษิทราโทรศัพท์ขอ น.ส.มี่ให้ช่วยทำ และสั่งการว่าขอให้เป็นธนบัตรใบใหม่ด้วย จึงมีการปล่อยข่าวผ่านนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ และตนว่า น.ส.มี่เป็นคนถอนเงินสดให้นายษิทราและแบ่งให้นายษิทรา

เมื่อตนสอบถาม น.ส.มี่และนายเตอร์ จึงรู้ว่ามีความพยายามปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิต น.ส.มี่และนายเตอร์ เพื่อให้เปลี่ยนข้างจากพยานปากสำคัญให้เป็นจำเลยร่วม แต่ในวันเกิดเหตุ น.ส.มี่และนายเตอร์ อยู่ในสวนทุเรียน จึงไม่ได้อยู่ในขบวนการถอนเงิน แต่ก็มีการปล่อยข่าวผ่านสื่อมวลชนบางช่อง ทำให้ได้รับความเสียหาย เพื่อดิสเครดิตพยาน จึงแจ้งว่าถ้ายังใส่ร้ายหรือใส่ความเรื่องที่เป็นเท็จอย่างต่อเนื่อง น.ส.มี่และนายเตอร์ จะฟ้องกลับทุกกรณี และตำรวจยืนยันว่าจะช่วยจัดการด้วย มาถึงเวลาถอนเงิน น.ส.มี่ถามนายนุว่าจะถอนเงินยังไงเพราะเยอะมาก นายนุกล่าวว่า เตรียมกระเป๋าเดินทาง 2-3 ใบ และมีการ์ดประมาณ 3 คน เป็นทหารไปบริการ ซึ่งนายษิทรามีการประสานงานทางโทรศัพท์และไลน์ แต่หลังจากนี้เกี่ยวกับรูปคดี

หลังจากที่เป็นข่าว น.ส.มี่และนายเตอร์ถูกข่มขู่มาจากผู้ชายแบรนด์เนม คอยถามว่า ลูกยังอยู่ดีใช่ไหม อยู่โรงเรียนนี้ใช่ไหม ถ้ามี่ไม่อยู่ข้างเขา ถือว่าไม่อยู่ข้างเดียวกัน ไม่เอาไว้หรอก สื่อมวลชนที่จะไปทำข่าวถึงไม่ให้สัมภาษณ์ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อไปอยู่หน้าบ้าน ไปถล่มเขาจนธุรกิจได้รับความเสียหาย คู่สัญญาต้องยกเลิกเพราะคิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ยืนยันว่า น.ส.มี่ไม่เคยถูกดำเนินคดีข้อหายาเสพติดมาก่อน เป็นคนละคนกับเอมมี่ (หรือ น.ส.อาเมเรีย จาคอป ลูกความนายษิทราที่หนีคดียาเสพติดไปต่างประเทศ) แต่ น.ส.มี่เป็นนักธุรกิจธรรมดาถูกใส่ความใส่ร้าย เตือนว่าแม้สื่ออยากทำข่าวแต่ทำตัวไม่ถูก เขากลัวอันตรายถึงครอบครัว และสถานการณ์นี้ถ้าไม่ได้รับความคุ้มครองจะปลอดภัยตลอดทางหรือไม่ ถ้าฝ่ายผู้ต้องหาเป็นผู้ทรงอิทธิพล มีเครือข่ายตำรวจ จะปลอดภัยไหม จะรอดไหม เราต้องคิดอย่างเดียวต้องคุ้มครองเขา ทั้งตำรวจรวมทั้งสื่อมวลชน

กรณีนี้สังเกตว่า ตั้งแต่คดี 71 ล้านบาท ใช้ชื่อนิติกรรมคนอื่น แต่ตัวเองเอาเงิน ฉ้อโกงหรือไม่เพราะไม่ใช่ทรัพย์ตัวเอง สอง รถยนต์เอาเงินเขาไปซื้อราคาหนึ่ง ใบเสร็จหนึ่ง แต่ออกอีกใบเสร็จหนึ่ง ในราคาสูงกว่าความเป็นจริง ใบเสร็จสองใบ ฉ้อโกงหรือไม่ สาม ค่าออกแบบมีสัญญาคู่ชัดเจน น.ส.จตุพรนึกว่าจ่ายเงิน 9 ล้านบาทให้กับนายเตอร์ และ น.ส.มี่ ก็ต้องหลงเชื่ออย่างนั้น ปรากฎว่าชักออกไปอีก 9 ล้านบาท ฉ้อโกงหรือไม่ สุดท้าย เงิน 39 ล้านบาท แนะนำเขามาและรับรู้ทั้งหมดว่ากระบวนการโอนเงินวันไหนและทำอย่างไร ขอแบงก์สดๆ ให้ น.ส.มี่ช่วยประสานด้วย ตกลงนายษิทรารู้หรือเปล่า หรือทำเป็นไม่รู้

และถ้าทำทั้งหมด ทำเป็นประจำ ตนถามว่า นายสายหยุดมาพูดว่า น.ส.จตุพรคิดยังไงกับนายษิทรากันแน่ ในวันที่สลากออนไลน์ 5 ก.พ. 2566 เซ็นสัญญา จากนั้นโอนเงินมา แล้ว มี.ค. 2566 ยกเลิกสัญญาจ้างนายษิทรา 300,000 บาทต่อเดือน ให้เหตุผลว่าจ้างนายษิทราไม่คุ้มค่า หมายความว่าแม้แต่ค่าทนายเขายังหวงเอาไว้เลย นับประสาอะไรจะให้โดยเสน่หากับคนที่เขาเลิกสัญญาในการจ้างรายเดือน เดือนละ 300,000 บาท มันขัดแย้งกันเอง โดยรวมแล้วเมื่อรวมทั้งหมด ถึงพฤติการณ์ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ตนอยากจะบอกว่ายังมีอีกที่ยังไม่ดำเนินคดีความ ไม่ว่าจะเป็นซื้อคอมพิวเตอร์ ซื้อรถพยาบาล สร้างโรงเรียน ทำบุญต่างๆ สิ่งเหล่านี้เขายังไม่ดำเนินการ ฝ่ายที่ร้องทุกข์ยังเหนื่อยเลย

ตอนที่ น.ส.จตุพรมาบ้านพระอาทิตย์ คิดอยู่กรณีเดียว คือ เงิน 71 ล้านบาท แต่ที่คดีงอกเพราะสื่อมวลชนช่วยระดมจนความจริงปรากฎ ตำรวจก็ไปสืบและสอดรับกระทั่งคดีงอก เพราะฉะนั้นคดีอาจไม่จบแค่นี้ก็ได้ แต่เฉพาะ 4 กรณี พอหรือยังที่จะเป็นการฉ้อโกงโดยปกติธุระ หมายถึงทำเป็นสันดาน ทำเป็นปกติ ทำเป็นประจำ ทำอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งทำกับผู้มีพระคุณ นายสายหยุดไม่ได้พูดถึงศีลธรรมและจรรยาบรรณ ตนเชื่อว่ากฎหมายมีไว้คุ้มครองความสงบเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ การที่เราจะทำกฎหมายช่วยใครก็ตาม เราต้องรู้ว่าคนๆ นั้นเป็นคนชั่วหรือคนดีกันแน่ ประการที่สอง การที่เราจะไปช่วยคนๆ นั้นผิดศีลธรรมหรือไม่ ที่สำคัญ การทำซ้ำๆ กฎหมายที่คุ้มครองสังคมคำนึงถึงจริยธรรมและศีลธรรมประกอบกฎหมายถึงพฤติการณ์และเจตนาว่าเข้าข่ายทุจริตหรือฉ้อโกงเป็นปกติธุระ เขาเรียกว่าโกงเป็นสันดาน ทำเป็นประจำ ทำซ้ำๆ และทำต่อเนื่อง

"ทนายตั้มอาจจะโดนคนแรก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นคนแรกแล้วจะผิดหรือถูกเสมอไป ก็จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและพิสูจน์กันในชั้นศาล ผมไม่ใช่คู่กรณีของทนายตั้ม และเคารพการทำงานของทนายสายหยุด ว่าทำหน้าที่ได้เหมาะสมฐานะที่ไปช่วยทนายตั้มด้วยเหตุผลและปัจจัย เขาทำหน้าที่ถูกต้องแล้ว ต่างคนต่างทำหน้าที่ ผมไม่ใช่คู่กรณี แต่ที่ทำมาถึงวันนี้ เพียงเพราะสองเรื่อง หนึ่ง มีผู้ร้องเรียนกับสื่อ เรามีหน้าที่เป็นสื่อมวลชน เราก็ทำให้เขาได้รับความคุ้มครอง เผยแพร่ความจริง พยานถูกอันตราย เรารีบทำให้เกิดความจริง ทำให้เขาไม่ถูกคุกคาม เรามีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฎโดยคำนึงถึงผู้เสียหาย จริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งสูงกว่ากฎหมาย สำหรับผมยืนอยู่ข้างความจริงแบบนี้ คือความจริงมีหนึ่งเดียว" นายปานเทพ กล่าว

ในตอนท้าย นายปานเทพ กล่าวว่า นายสายหยุดไม่ได้พูดถึงสัญญาสักคำเดียว ไม่ได้พูดเลยว่าสอดรับกับเวลาและยอดเงินอย่างไร กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา อีกด้าน นายสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมทรัพย์สินที่นายษิทราเคยโชว์สาธารณะมากกว่านี้ ตอนนี้อยู่ที่ไหน อยากให้ตำรวจตรวจสอบเพิ่มเติม 3 คน คือ 1. พี่สาวของนางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยานายษิทรา ซึ่งเป็นคนรับเงิน 300,000 บาททุกเดือน และอื่นๆ 2. บุคคลที่ชื่อ "แจ็ค" ทำพวกการค้าขายนาฬืกาหรูอยู่ในแอปพลิเคชันหนึ่ง 3. บุคคลที่ชื่อ "โอ๋" และ 4. บุคคลรายหนึ่ง อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย เป็นคนที่ขายสินค้าหรู คิดว่าทรัพย์สินไม่ได้อยู่ที่นายษิทราและภรรยา ตำรวจควรสอบสวนเชิงลึกมากกว่าหลักฐานที่ปรากฎตอนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น