จับตาเคาะประธาน ธปท. 'กิตติรัตน์' ไปต่อหรือจบ แรงต้านแรงต่อเนื่อง
ตลอดทั้งวันของวันที่ 11 พฤศจิกายน ต้องจับไปที่การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่าจะสามารถเดินหน้าเลือบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธปท.ได้หรือไม่ หรือจะต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นครั้งที่ 3
โดยแคนดิเดทประธานคณะกรรมการธปท.ยังคงมีด้วยกัน 3 คนตามรายชื่อเดิม คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกเสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน อดีตอธิบดีกรมศุลกากร -อดีตผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อดีตผู้ตรวจกระทรวงการคลัง และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยธปท.
ขณะที่แรงต่อต้านของการป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของธปท.ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าทีจากอดีตผู้ว่าฯธปท.อย่างนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โพสต์เฟซบุ๊ก “Veerathai Santiprabhob” ระบุว่า ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ candidate ชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง ก็ไม่สมควรครับ"
"ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้"
ด้าน คนในรัฐบาลก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้ยุติการนำเรื่องนี้มาสร้างความขัดแย้ง เช่น นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ระบุว่า เรื่องตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติและเรื่องตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทยที่มีการปลุกระดมคัดค้านเหมือนจะเป็นคนละเรื่องดัน แต่เนื้อแท้แล้วมีความคล้ายคลังกันมา
"ทั้งสองตำแหน่งในแต่ละกรณี ไม่ใช่ตำแหน่งที่มีอำนาจบริหารโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หรือผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย เป็นเพียงแค่ผู้กำกับดูแล ให้แนวทางการทำงานสอดคล้องประสานกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันมากขึ้น การทำงานไปคนละทิศละทางกับรัฐบาลทุกเรื่อง หรือถึงกับคอยขัดขวางก้าวก่ายนโยบายเสริมของรัฐ ความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ของประชาชนก็เป็นไปได้ยาก" นายศึกษิษฏ์ ระบุ