“ธีระชัย” โต้อดีตทูตไทยประจำสเปน บอกกัมพูชาลากเส้นเขตแดนทางทะเลตาม UNCLOS แบบเดียวกับไทย จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนและต้องทำ MOU44 ยันอ้างไม่ถูกต้อง เพราะเขมรลากเส้นโดยบิดเบือนสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เอามาใช้เป็นกรอบเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกันไม่ได้
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อความเห็นทูตไทยไม่ครบถ้วน มีรายละเอียด ระบุว่า
มีคนส่งข้อมูลให้ผม กล่าวว่า เป็นความเห็นของท่านปรีดี บุญโญภาส อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสเปน
"คนไทยควรเลิกพูดเรื่องเกาะกูดเป็นพื้นที่ทับซ้อน เพราะทุกอย่างชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย แต่คนไทยก็ต้องยอมรับว่า พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาเป็นเรื่องจริง มีอยู่จริง ไม่ใช่เส้นไทยถูกกฎหมายคนเดียว แล้วเส้นของกัมพูชาผิดกฎหมายคนเดียว ดังนั้นถ้าจะใช้ประโยชน์ได้ก็ต้องเจรจา"
โดยท่านเห็นว่า ตาม UNCLOS กัมพูชาสามารถลากเส้นตามอนุสัญญาฯ ได้ โดยถ้าทับกันก็ถือเป็นพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งไทยก็ไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา ในขณะที่กัมพูชาก็ไม่ได้ยอมรับเส้นของไทย
ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีแบบนี้ UNCLOS กำหนดให้เจรจากัน และก็เป็นที่มาของการทำ MOU ปี 2544
"ดังนั้นเราจะบอกว่าเส้นกัมพูชาผิดกฎหมายทั้งหมดไม่ได้ เพราะกัมพูชาก็ลากเส้นตาม UNCLOS แบบเดียวกับไทย …
การปั่นกระแสชาตินิยมโดยเอาเกาะกูดมาเกี่ยวกับ MoU 44 นอกจากจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจหลักกฎหมายจนเอาสองเรื่องมาร่วมเป็นเรื่องเดียวแล้ว
ยังส่งผลเสียต่อไทย เพราะตอนนี้หลายกลุ่มในไทยที่ออกมาพูดเรื่องเกาะกูดเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่พูดเรื่องนี้ ทำให้เกาะกูดกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนทั้งที่มันไม่เคยทับซ้อน
ส่วนเรื่องอาณาเขตทางทะเล ย้ำอีกครั้งว่าเป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด
การลากเส้นและปักปันเกิดขึ้นตาม UNCLOS ซึ่งด้วยกายภาพทำให้มีพื้นที่ทับซ้อน การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลไม่ได้นำไปสู่การเสียดินแดนใด ๆ ทั้งสิ้น ..."
ผมไม่สามารถตรวจสอบยันกับท่านปรีดีได้ แต่มีคนไทยเชื่อในข้อความดังกล่าว จึงขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้
**หนึ่ง ที่ท่านอ้างว่า "กัมพูชาก็ลากเส้นตาม UNCLOS แบบเดียวกับไทย" นั้น ไม่ถูกต้อง
รูป 1 กฤษฎีกาของกัมพูชา ระบุว่า ไม่ได้ลากเส้นตาม UNCLOS อย่างเดียว แต่ใช้สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสประกอบด้วย หลักฐานนี้ชัดเจน
รูป 2 กัมพูชาอ้างสนธิสัญญาฯ เพราะ UNCLOS ข้อ 12 - 1 อนุญาตให้ใช้ "เหตุแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์"
สนธิสัญญาฯ มีข้อความระบุถึง "ยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด" กัมพูชาจึงลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ที่ชายฝั่ง ผ่านยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด กินแดนเข้าไปในอ่าวไทย
แต่ผมเขียนหลายครั้งแล้วว่า กัมพูชาอ้างสนธิสัญญาฯ ไม่ถูกต้อง บิดเบือน เพราะสนธิสัญญาฯ บรรยายสถานที่บนชายฝั่ง หลักฐานนี้ชัดเจนเช่นกัน
ดังนั้น การที่ท่านอ้างว่ากัมพูชาลากเส้นตาม UNCLOS นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการบิดเบือน เพื่ออ้างเหตุแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์ ย่อมไม่เป็นไปตาม UNCLOS
พูดแบบชาวบ้าน UNICLOS อนุญาตให้อ้างเหตุแห่งสิทธิทางประวัติศาสตร์ได้แบบแท้จริงเท่านั้น แต่การอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ที่จอมปลอมนั้น ไม่เป็นไปตาม UNICLOS
**สอง JDA จะต้องใช้เส้นที่สองประเทศลากตาม UNCLOS ทั้งสองเส้น
ฝากให้ท่านช่วยคิด สมมุติประเทศหนึ่งลากเส้นที่ไม่เป็นไปตาม UNCLOS ท่านจะเจรจากับเขาหรือไม่
เช่น สมมุติกัมพูชาลากเส้นพาดผ่านสูงขึ้นถึงเกาะสีชังไปเลย ซึ่งท่านรู้ดีอยู่ว่าไม่เป็นไปตาม UNCLOS ท่านยังจะใช้เป็นกรอบสำหรับ JDA ได้ไหม?
กรณีเส้นของกัมพูชาที่อ้างสนธิสัญญาฯ อย่างบิดเบือน ซึ่งไม่เป็นไปตาม INCLOS ท่านเห็นว่า ไทยควรจะเอามาใช้ประกอบการเจรจาหรือ?
ถ้าจะเอามาเจรจา เป็นเพื่อประโยชน์ของใคร?