xs
xsm
sm
md
lg

สะดุ้งทั้งเอเชีย!USกร้าวหนุนเกาหลีใต้สุดตัว พร้อมจัดอาวุธนิวเคลียร์รับมือเกาหลีเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สหรัฐฯพร้อมสนับสนุนเกาหลีใต้ ด้วยทั้งแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์และแสนยานุภาพทางทหารที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ จากคำประกาศกร้าวของ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกา เมื่อวันพุธ(30ต.ค.) ซึ่งเกิดขึ้น 1วัน ก่อนหน้าที่เปียงยางทำการยิงทดสอบรอบใหม่ ในสิ่งที่สื่อแห่งรัฐโสมแดงออกมายืนยันแล้วว่าเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปใหม่ "ฮวาซอง-19" ที่อวดอ้างว่าเป็นขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งสุดในปฐพี

ถ้อยแถลงของ ออสติน มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดขั้นสูงในคาบสมุทรเกาหลี และเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่เกาหลีเหนือจะทำการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปในวันพฤหัสบดี(31ต.ค.)

ระหว่างแถลงข่าวร่วมกับ คิม ยอง ฮยุน รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ เมื่อวันพุธ(30ต.ค.) ออสติน กล่าวว่า วอชิงตันและโซล จะยกระดับความร่วมมือกลาโหมและการซ้อมรบร่วมทางทหารขนาดใหญ่

"ผมรับประกันกับท่านรัฐมนตรีคิมในวันนี้ ว่าสหรัฐฯยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมต่อการปกป้องเกาหลีเหนือและคำมั่นสัญญาของเราเกี่ยวกับการป้องปรามอย่างครอบคลุมยังคงแข็งแกร่ง" ออสตินกล่าว "คำมั่นสัญญานี้อยู่ภายใต้แรงสนับสนุนอย่างเต็มพิกัด ของแสนยานุภาพป้องกันขีปนาวุธทั่วไป แสนยานุภาพทางนิวเคลียร์และแสนยานุภาพทางทหารที่ไม่ใช่นิวเคลียร์"

เขาระบุว่าสหรัฐฯและเกาหลีใต้จะกลับมาซ้อมรบขนาดใหญ่ และ "เพิ่มความเข้มแข็มในด้านความพร้อมร่วมและการทำงานร่วมกัน"

เกาหลีเหนือ กล่าวโทษการซ้อมรบร่วมระหว่างโซลและวอชิงตัน ต่อสถานการณ์ความตึงเครียดที่พุ่งสูงในภูมิภาค ในขณะที่พวกเขามองการซ้อมรบดังกล่าวว่าเป็นการเตรียมการสำหรับความเป็นไปได้ในการรุกราน ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม เปียงยาง ได้ระเบิดทำลายถนนและทางรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่าง 2 ชาติเกาหลี ในการตัดขาดเส้นทางทางภาคพื้นที่มุ่งหน้าสู่เกาหลีเหนือ

ในวันพฤหัสบดี(31ต.ค.) เกาหลีใต้รายงานว่าเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธลูกหนึ่งออกมา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะป็นขีปนาวุธข้ามทวีป มุ่งหน้าสู่ทะเลทางตะวันออกของประเทศ

เคซีเอ็นเอ สื่อมวลชนแห่งรัฐของเกาหลีเหนือ รายงานอ้างคำกล่าวของ คิม จองอึน ยืนยันว่าการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป "ICBM" ครั้งนี้ เป็นการตอบโต้ "พันมิตรนิวเคลียร์" ที่อันตรายของพวกศัตรู

"สาธารณรัฐประชาชนประชาธิปไตยเกาหลี ขอยืนยันว่าไม่เคยเปลี่ยนแปลงเส้นทางในการเสริมความเข้มแข็งแก่คลังแสงนิวเคลียร์ของประเทศ" เคซีเอ็นเออ้างคำพูดของคิม พร้อมเน้นย้ำว่าการทดสอบดังกล่าวเป็นการตอบโต้ที่เหมาะสม ต่อความเคลื่อนไหวกระชับความเป็นพันธมิตรนิวเคลียร์ที่อันตรายของศัตรูและความเคลื่อนไหวทางทหารต่างๆนานาที่คุกคามความปลอดภัยของเปียงยาง

ล่าสุดสำนักข่าวเคซีเอ็นเอ ยืนยันในวันศุกร์(1พ.ย.) ว่าขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือทำการทดสอบเบ่งกล้ามทางทหารไปหนึ่งวันก่อนหน้านี้ คือขีปนาวุธข้ามทวีปเชื้อพลิงแข็งรุ่นใหม่ขนาดใหญ่ ที่มีชื่อว่า "ฮวาซอง-19" ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงโวยวายของนานาชาติ กล่าวหาเปียงยางส่งทหารไปช่วยเหลือรัสเซียสู้รบกับยูเครน

ขีปนาวุธที่ถูกยิงออกมาในวันพฤหัสบดี(31ต.ค.) พุ่งขึ้สูงกว่าขีปนาวุธใดๆที่เกาหลีเหนือเคยยิงออกมาก่อนหน้านี้ อ้างอิงข้อมูลจากทั้งเกาหลีเหนือ รวมถึงจากกองทัพเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่ติดตามการบินของมันที่พุ่งสูงขึ้นสู่อวกาศ ก่อนดิ่งลงสู่มหาสมุทรระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซีย

เคซีเอ็นเอ็น อวดอ้างว่ามันเป็นขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก

แม้ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับศักยภาพของเกาหลีเหนือในการนำวิถีขีปนาวุธนี้ รวมถึงการปกป้องหัวรบนิวเคลียร์ในระหว่างที่มันหวนคืนสู่ชั้นบรรยากาศโลก แต่การยิงทดสอบ ฮวาซอง-19 เช่นเดียวกับขีปนาวุธข้ามทวีปอื่นๆของเกาหลีเหนือ แสดงให้เห็นแล้วว่ามันมีพิสัยโจมตีได้เกือบทุกหัวระแหงในสหรัฐฯ

"ขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่นี้ พิสูจน์ต่อหน้าโลกแล้วว่า ด้วยการพัฒนาและการผลิตขีปนาวุธปล่อยนิวเคลียร์ เราได้มาซึ่งสถานะที่เหนือกว่าแล้ว" คิม จองอึน กล่าวระหว่างตรวจตราการยิง ตามรายงานของเคซีเอ็นเอ

สหรัฐฯยังกล่าวหาเกาหลีเหนือ กำลังช่วยเหลือรัสเซียในความขัดแย้งกับยูเครน โดยกระทรวงกลาโหมอเมริกา(เพนตากอน) อ้างว่าเปียงยางได้ส่งทหาร 10,000 ราย เข้าไปยังรัสเซีย เพื่อฝึกฝนและเป็นไปได้ที่จะประจำการสู้รบกับกองกำลังเคียฟ

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธคำกล่าวหาของยูเครนและสหรัฐฯเกี่ยวกับทหารเกาหลีเหนือ ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาเน้นย้ำว่ามอสโกและเปียงยางได้ลงนามในสนธิสัญญาทวิภาคีฉบับหนึ่ง ที่เปิดทางสำหรับความร่วมมือทางทหาร

เกาหลีเหนือ ปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งทหารไปยังรัสเซีย แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นเป็นครั้งแรกกับสื่อมวลชนแห่งรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าหากการประจำการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง มันจะเป็นไปตามกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ

(ที่มา:อาร์ทีนิวส์/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น