พิษณุโลก – เขื่อนท้ายเมืองสองแควใกล้เป็นจริง..กรมชลฯเตรียมสร้างกั้นน้ำน่านเฉียดพันล้าน ไม่ต้องทำ EIA คาดเริ่มลุยปีงบประมาณ 68 งานก่อสร้างใน 4 ปี สามารถกักเก็บน้ำเหนืออาคาร 30.79 ล้าน ลบ.ม.-ยกระดับแม่น้ำน่าน เอื้อการเกษตร 20,000 ไร่ หนุนท่องเที่ยว และมีน้ำใสๆ ให้คนเมืองอุปโภคบริโภค
โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำ ( เขื่อนท้ายเมืองพิษณุโลก) ได้เปิดเวทีปฐมนิเทศ ที่ศูนย์ประสานแผน ที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก หลังกรมชลประทานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น ไว้ก่อนแล้ว
ซึ่งตัวโครงการฯ เป็นอาคารบังคับน้ำท้ายเมืองพิษณุโลกหรือเขื่อนท้ายเมืองพิษณุโลก จะก่อสร้างในช่องลัดของแม่น้ำน่าน จุดศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 (เดิม) ม.5 ต.งิ้วงาม อ.เมืองพิษณุโลก ลักษณะสร้างเป็นประตูระบายน้ำ กั้นแม่น้ำน่าน เพื่อเก็บกักน้ำเหนืออาคาร 30.79 ล้าน ลบ.ม. ช่วยให้พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 20,000 ไร่ ยกระดับน้ำ 4-6 เมตร เอื้อต่อการอุปโภคบริโภคน้ำของคนเมืองพิษณุโลก ทำให้น้ำนิ่งและใสขึ้นในช่วงเขตเทศบาลนครพิษณุโลก อีกทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวริมฝั่งแม่น้ำน่าน ตลิ่งมีเสถียรภาพ ไม่ทรุดพังง่ายๆ
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า มาปฐมนิเทศโครงการหลังกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำน่านที่มีความยาวทั้งหมด 700 กว่ากิโลเมตร เป็นลักษณะอาคารบังคับน้ำไว้ 11 แห่ง(ไม่เกี่ยวกับสร้างเขื่อน)
ซึ่งในเขต จ.พิษณุโลก มีพื่นที่ที่เหมาะสมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 2 จุด คือ ต.งิ้วงาม อ.เมือง และ ต.บ้านโคกสลุด อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก แต่ละอาคารจะมีความจุประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม.
ล่าสุดได้รับงบประมาณ สำรวจและออกแบบ ปี 2568 โครงการอาคารบังคับน้ำท้ายเมืองพิษณุโลก (เขื่อนท้ายเมืองพิษณุโลก) เพียง 1 แห่ง ที่ ต.งิ้วงาม อ.เมือง เพื่อเตรียมก่อสร้างในช่องลัด โดยไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือEIA ทำให้ดำเนินโครงการรวดเร็วขึ้น กรมชลประทานวางแผนก่อสร้างปี 2569-2572 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี งบประมาณ 900 กว่าล้านบาท
ส่วนแผนการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ที่ ต.บ้านโคกสลุด อ.บางกระทุ่ม ยุ่งยากกว่า เพราะต้องสร้างในแม่น้ำน่านและต้องใช้เวลาศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีก 2 ปี หากมีความเหมาะสม จึงจะดำเนินการสำรวจและออกแบบเพื่อเตรียมการก่อสร้างต่อไป