xs
xsm
sm
md
lg

‘อินโดนีเซีย’หวังรง.แบตเตอรี่อีวีแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลักดันเป้าหมายเบียด‘ไทย’ขึ้นเป็นศูนย์รถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพถ่ายจากทางอากาศเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2024 แสดงให้เห็นโรงงานผลิตแบตเตอรี ของ พีที เอชแอลไอ กรีน เพาเวอร์ บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรีใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของอินโดนีเซีย  ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองคาราหวัง จังหวัดชวาตะวันตก
อินโดนีเซียหวังใช้ประโยชน์จากการมีนิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลก รวมทั้งการเป็นที่ตั้งโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการดันตัวเองเป็น “ผู้เล่นสำคัญระดับโลก” ด้านห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า แดนอิเหนายังต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่าง และยังห่างไกลมากจากเป้าหมายศูนย์กลางรถอีวีในภูมิภาค เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งยอดขายของไทยที่สูงถึง 78.7%

หลังได้รับเลือกจากบริษัทร่วมทุนระหว่างฮุนไดและแอลจีของเกาหลีใต้ให้เป็นที่ตั้งโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียเริ่มกระตือรือร้นหาวิธีกระตุ้นการลงทุนเพื่อดันตัวเองในสนามแข่งขันเพื่อเป็นฮับอีวีประจำภูมิภาค

ตอนที่เปิดโรงงานมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์ดังกล่าวที่ชวาตะวันตกเมื่อเดือนกรกฎาคม โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีแดนอิเหนาในขณะนั้นระบุว่า การลงทุนเหล่านั้นจะส่งให้อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์กลายเป็น “ผู้เล่นสำคัญระดับโลก” ในด้านห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า

กระนั้น ขณะที่อินโดนีเซียอวดสถานะประเทศที่มีนิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลก นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า แดนอิเหนายังต้องเผชิญอุปสรรคจากศักยภาพการแปรรูปและการทำให้นิกเกิลบริสุทธิ์ ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และการแจ้งเกิดของแบตเตอรี่ประเภทอื่นๆ

นอกจากนั้นยังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่อินโดนีเซียจะตามทันไทยที่ครองส่วนแบ่งยอดขายรถอีวีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 78.7% ส่วนอินโดนีเซียมีแค่ 8% ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นปี 2023

ที่ผ่านมาทางการจาการ์ตาได้ออกมาตรการจูงใจหลายอย่างเพื่อส่งเสริมตลาดอีวี ซึ่งรวมถึงการละเว้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยที่ช่วยกระตุ้นยอดขายอีวีและดึงดูดแบรนด์ดังหลายแห่งเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียที่มีผู้บริโภค 280 ล้านคน ในจำนวนนี้รวมถึงบีวายดีของจีนและวินฟาสต์จากเวียดนาม

ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์อินโดนีเซียระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคมปีนี้รถพลังงานแบตเตอรี่กว่า 23,000 คันถูกขายให้กับตัวแทนจำหน่าย เทียบกับ 17,000 คันตลอดปี 2023

ภายใต้ข้อบังคับที่ประกาศเมื่อปีที่แล้ว อีวีที่นำเข้าสู่อินโดนีเซียจะไม่ต้องเสียภาษีจนถึงปีหน้า หากบริษัทตกลงสร้างโรงงานผลิตและผลิตรถในอินโดนีเซียเท่ากับจำนวนที่นำเข้าจนถึงสิ้นปี 2027

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เดือนที่แล้ว วู่หลิงของจีน ประกาศแผนการผลิตแบตเตอรี่อีวีในโรงงานในอินโดนีเซียภายในปลายปีนี้

ขณะเดียวกัน ลูเธอร์ ปันไจตัน เจ้าหน้าที่ของบีวายดี อินโดนีเซีย ระบุว่า บริษัทเล็งเห็นศักยภาพการซื้ออีวีในอินโดนีเซียที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

รัคมัต ไคมุดดิน เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ลาออกในช่วงผ่องถ่ายอำนาจให้แก่คณะบริหารของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชี้ว่า กุญแจสำคัญของกลยุทธ์ของจาการ์ตาคือการดึงดูดบริษัทรถต่างๆ ก่อนที่บริษัทเหล่านั้นจะไปตั้งโรงงานในประเทศอื่น เขาสำทับว่า การมีนิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลกอาจทำให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่อินโดนีเซียมีในสิ่งที่ไทยและเวียดนามไม่มี

อย่างไรก็ดี ขณะที่อินโดนีเซียตั้งเป้าเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีชั้นนำของโลก ทว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ยังน้อยมาก

ข้อมูลจากอุตสาหกรรมการลงทุนแสดงให้เห็นว่า เงินลงทุนที่ได้รับจริงในอุตสาหกรรมนิกเกิลระหว่างปี 2020 ถึงเดือนกันยายน 2024 อยู่ที่ 514.8 ล้านล้านรูเปียห์ และ 19.14 ล้านล้านรูเปียห์ในภาคแบตเตอรี่อีวี

นอกจากนั้น ฮอง วู-พยอง ผู้อำนวยการบริหารพีที เอชแอลไอ กรีน พาวเวอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้อินโดนีเซียมีนิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลก แต่ยังต้องนำเข้าวัตถุดิบบางอย่างสำหรับโรงงานแห่งใหม่ที่รวมถึงนิกเกิลแปรรูปจากเกาหลีใต้และจีน เนื่องจากขาดแคลนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ด้านนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเตือนว่า การทำเหมืองนิกเกิลเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซีย ขณะที่นักวิเคราะห์สำทับว่า การแจ้งเกิดของแบตเตอรี่แอลเอฟพีที่ใช้อย่างกว้างขวางในจีน อาจกระทบต่อดีมานด์

ปุตรา อาดิกูนา กรรมการผู้จัดการกลุ่มคลังสมอง สถาบันอิเนอร์จี้ ชิฟต์ ทิ้งท้ายว่า ภาวะแบตเตอรี่ล้นตลาดอาจทำให้อินโดนีเซียดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมยากขึ้น

(ที่มา: เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น