รอยเตอร์/MGRออนไลน์ – แคนเบอร์ราวันพุธ(30 ต.ค)ประกาศเดินหน้าเพิ่มศักยภาพการป้องกันประเทศการโจมตีระยะไกลเร่งผลิตมิสไซล์หลังปักกิ่งทดสอบมิสไซล์พิสัยข้ามทวีป ICBM ทำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระอุเข้าสู่ยุคขีปนาวุธ
รอยเตอร์รายงานวันนี้(30 ต.ค)ว่า ออสเตรเลียจะสามารถเพิ่มความสามารถมิสไซล์เพื่อป้องกันประเทศและการโจมตีระยะไกล รวมไปถึงความร่วมมือกับชาติพันธมิตรทางความมั่นคงได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่อปัญาหาความมั่นคงในภูมิภาค รัฐมนตรีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศออสเตรเลีย แพท คอนรอย (Pat Conroy) กล่าวผ่านแถลงการณ์วันพุธ(30)
เขากล่าวที่สมาคมสื่อมวลชนแห่งชาติออสเตรเลีย(National Press Club) กลางกรุงแคนเบอร์ราว่า
“ทำไมพวกเราจึงต้องมีมิสไซล์เพิ่มมากขึ้น?
พร้อมเสริมต่อว่า “การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและจีนถือเป็นประเด็นหลักของสิ่งแวดล้อมทางความมั่นคงของออสเตรเลีย"
เขาชี้ว่า “การแข่งขันนี้แหลมคมมากที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของพวกเรา”
รัฐมนตรีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศออสเตรเลียวันพุธ(30)ชี้ว่า ภูมิภาคอยู่ในจุดเปลี่ยนของยุคมิสไซล์ใหม่ ที่ซึ่งอาวุธมิสไซล์จะกลายเป็น "เครื่องมือบีบคั้น"
คอนรอยได้อ้างไปถึงการทดสอบมิสไซล์พิสัยข้ามทวีป ICBM ของ "จีน" เมื่อกันยายนที่บินไกลกว่า 11,000 ก.ม ไปตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้ออสเตรเลียทางตะวันออกเฉียงเหนือ
คอนรอยกล่าวในการตอบคำถามภายในงาน
“พวกเราแสดงความวิตกอย่างหนักเกี่ยวกับการทดสอบมิสไซล์ ที่โดยเฉพาะมันล่วงล้ำเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ซึ่งจากสนธิสัญญาราโรตองกา (Treaty of Rarotonga) ที่ได้กล่าวไว้ว่า มหาสมุทรแปซิฟิกสมควรเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์”
ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างช่วยไม่ได้ที่ต้องเพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศอย่างมหาศาล
รัฐมนตรีคอนรอยเปิดเผยว่า แคนเบอร์ราสั่งประจำการมิสไซล์ SM-6 ในฝูงเรือรบประจัญบานกองทัพเรือออสเตรเลียเพื่อเพิมสมรรถนะการป้องกันทางมิสไซล์ของตัวเอง
และเพิ่งเมื่อต้นเดือนนี้ แคนเบอร์ราได้ประกาศข้อตกลงมูลค่า 7พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียกับสหรัฐฯในการสั่งซื้อมิสไซล์มาตรฐาน SM-2 IIIC และต่อบริษัทผู้ผลิตอาวุธอังกฤษชื่อดัง เรธีออน(Raytheon) สำหรับมิสไซล์พิสัยไกล SM-6 สำหรับกองทัพเรือออสเตรเลีย
อ้างอิงจากเว็บไซต์ทางการของบริษัทเรธีออน พบว่ามิสไซล์ SM-6 มีความพิเศษจากการที่เป็นมิสไซล์แบบ 3 ใน 1 และจะเป็นอาวุธประเภทเดียวเท่านั้นที่มีความสามารถต่อต้านทั้งอากาศยาน ขีปนาวุธนำวิถี และต่อต้านยานเหนือพื้นผิวได้อย่างไม่มีปัญหา ปัจจุบันนี้ทำการผลิตเพื่อป้อนให้กองทัพสหรัฐฯ และกองทัพเรือออสเตรเลียเป็นชาติที่ 2 ที่มีใช้ และตามมาด้วยชาติพันธมิตรสหรัฐฯอื่นทั้ง กองกำลังป้องกันตัวเองทางทะเลญี่ปุ่น และกองทัพเรือเกาหลีใต้ อ้างอิงจากวิกีพีเดีย
รอยเตอร์รายงานว่า แคนเบอร์ราก่อนหน้าเคยประกาศจะทุ่มงบประมาณทางการทหารสูงถึง 74 พันล้านออสเตรเลีย (49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)ในการจัดซื้อมิสไซล์และการป้องกันประเทศทางมิสไซล์ในระยะเวลา 10 ปี รวมไปถึง 21 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียที่จะให้เงินอุดหนุนบริษัทอาวุธออสเตรเลียใหม่ Australian Guided Weapons and Explosive Ordnance Enterprise
คอนรอยแถลงว่า “พวกเราต้องการแสดงต่อบรรดาฝ่ายตรงข้ามที่เด่นชัดเหล่านั้นว่า พฤติกรรมแสดงความเป็นปรปักษ์ต่อออสเตรเลียจะไม่ประสบความสำเร็จและไม่สามารถยั่งยืนหากว่าความขัดแย้งนั้นถูกขยายออกไป”
ออสเตรเลียจะใช้เงินจำนวน 316 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเพื่อตั้งบริษัทผลิตอาวุธภายในประเทศที่จะเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับบริษัทล็อกฮีด มาร์ตินของสหรัฐฯเพื่อผลิตระบบยิงจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี GMLRS (Guided Multiple Launch Rocket Systems) เพื่อผลิตในการประจำการอย่างรวดเร็วสำหรับอาวุธแบบภาคพื้นสู่ภาคพื้นเพื่อการส่งออกนับตั้งแต่ปี 2029 เป็นต้นไป
และโรงงานแห่งนี้จะสามารถมีกำลังการผลิต GMLRS ได้ถึง 4,000 ระบบต่อปี หรือราว 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั่วโลกปัจจุบัน รัฐมนตรีกล่าว
นอกจากนี่้บริษัทอาวุธฝรั่งเศส Thales จะร่วมการผลิตกับออสเตรเลียสำหรับกระสุนปืนใหญ่ 155mm M795 เพื่อใช้ในปืนใหญ่วิถีโค้ง Howitzer ที่โรงงานผลิตกระสุนของรัฐบาลในเมืองบีนาลลา(Benalla) ในรัฐวิคตอเรีย
รัฐมนตรีชี้ว่า “ในโลกที่มีปัญหาจากห่วงโซ่อุปทานติดขัด( supply chain disruption) และความเปราะบางทางยุทศาสตร์ ออสเตรเลียไม่เพียงแต่ต้องการมีซื้อมิสไซล์เพิ่ม แต่จำเป็นต้องผลิตเพิ่มมากขึ้นที่นี่ในบ้าน”
รอยเตอร์รายงานว่า เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลแคนเบอร์ราประกาศจะร่วมมือกับบริษัทการทหารนอร์เวย์ชื่อดัง Kongsberg Defence สำหรับการผลิตมิสไซล์โจมตีระยะไกลทางทะเล (long-range Naval Strike Missiles) และมิสไซล์โจมตีร่วม (Joint Strike Missiles) ที่เมืองนิวคาสเซิล (Newcastle) บนชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศ
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่จะเป็นการผลิตนอกประเทศนอร์เวย์
รอยเตอร์รายงานว่า และกองทัพเรือออสเตรเลียจะมีมิสไซล์โทมาฮอกของสหรัฐฯที่มีพิสัยทำการ 2,500 ก.ม ภายในสิ้นปี เพิ่มพิสัยทำการอาวุธเรือรบออสเตรเลียมากขึ้นอีก 10 เท่า