เหล่าผู้นำทางการเงินที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีไอเอ็มเอฟ-เวิลด์แบงก์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่างแสดงความกังวลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบการเงิน การค้า และเศรษฐกิจโลก หลังจากโพลระยะหลังๆ บ่งชี้คะแนนนิยมของ โดนัลด์ ทรัมป์กระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 10 วันข้างหน้า
คาสึโอะ ยูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น บอกว่า ทุกคนดูจะต่างมีความกังวลว่า ใครจะได้เป็นผู้นำอเมริกาคนต่อไปและจะมีนโยบายอย่างไร
ขณะเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอีกคนที่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตน อธิบายด้วยถ้อยคำชัดเจนกว่านั้นอีกว่า “คนเริ่มรู้สึกกันว่า ทรัมป์จะชนะ”
แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกันผู้นี้ประกาศลั่นออกมาแล้วว่า จะขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากทุกๆประเทศ 10% รวดและขึ้นถึง 60% ทีเดียวสำหรับสินค้าจีน โดยที่พวกนักวิเคราะห์ต่างมองกันว่า การดำเนินการเช่นนี้จะส่งผลกระทบหนักต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก อีกทั้งมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะตอบโต้และทำให้ต้นทุนพุ่งขึ้น
คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี เตือนว่า สงครามการค้าอเมริกา-สหภาพยุโรป (อียู) ถ้าหากปล่อยให้เกิดขึ้นมา ก็จะมีแต่ผู้แพ้
ไม่เพียงเรื่องขึ้นภาษีเอากับสินค้าเข้าจากต่างแดน ทรัมป์ยังพยายามโน้มน้าวผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกัน ด้วยข้อเสนอลดภาษีหลายๆ อย่าง ถึงแม้นักวิเคราะห์ด้านงบประมาณพากันเตือนว่า จะทำให้อเมริกามียอดหนี้สินสาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 22 ล้านล้านดอลลาร์ที่สำนักงานงบประมาณรัฐสภาประเมินไว้จนถึงปี 2034
ในทางกลับกัน ถ้ารองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตชนะ คาดว่า จะมีการสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการร่วมมือระดับพหุภาคีในประเด็นต่างๆ อาทิ สภาพภูมิอากาศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล การผ่อนปรนหนี้ และแม้แฮร์ริสมีแนวโน้มสร้างหนี้เพิ่มแต่น่าจะน้อยกว่าทรัมป์มาก
ถึงแม้ว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไบเดน ไม่ได้ยกเลิกมาตรการหลายอย่างซึ่งประกาศใช้ในยุคของทรัมป์ ตรงกันข้ามกลับสานต่อมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ซึ่งเก็บจากเหล็ก อลูมิเนียม และสินค้าจีน รวมทั้งขึ้นภาษีสูงมากกับสินค้านำเข้าจากจีนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อีวีและแผงพลังงานแสงอาทิตย์
แฮร์ริสเวลานี้ประกาศสนับสนุนแนวทางแบบกำหนดเป้าหมายของไบเดน และประณามแผนรีดภาษีแบบเหมารวมของทรัมป์ว่า ทำให้ในทางเป็นจริงแล้วคนอเมริกันต้องเป็นผู้แบกรับการจ่ายภาษีการบริโภคถึงครอบครัวละ 4,000 ดอลลาร์
ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่ทรัมป์จะผลักดันนโยบายการค้าและการใช้จ่ายในแบบของเขา เกิดขึ้นขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศว่า การต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกได้ชัยชนะเป็นส่วนใหญ่โดยไม่ต้องมีการปลดคนงานจำนวนมาก และการเติบโตแข็งแกร่งของอเมริกาก็กำลังช่วยชดเชยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีนและยุโรป
กระนั้น คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ก็เรียกร้องให้พวกผู้วางนโยบายเริ่มลดภาระหนี้สาธารณะก้อนใหญ่ที่สะสมมาจากช่วงโรคระบาดโควิด ไม่เช่นนั้นอาจต้องเผชิญภาวการณ์เติบโตตกต่ำในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่พอใจมากขึ้น
สำหรับเรื่องที่ว่า การได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองของทรัมป์ส่งผลต่อการประชุมเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟคราวนี้ ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายของไอเอ็มเอฟมากน้อยแค่ไหนนั้น จอร์จิวาตอบว่า การหารือของพวกเขามุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ และสมาชิกในที่ประชุมคิดว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของคนอเมริกัน สิ่งที่เกี่ยวข้องกับไอเอ็มเอฟคือ การระบุความท้าทายและวิธีจัดการความท้าทายเหล่านั้น
ขณะเดียวกัน การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพิ่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.5% ปกติแล้วควรเป็นสัญญาณบ่งชี้สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยสำหรับการเติบโตในพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ในเมื่อมันจะทำให้เงื่อนไขในการระดมทุนและความกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง
ทว่า ยอดขาดดุลของอเมริกาที่มีแนวโน้มเพิ่มพรวดขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของทรัมป์ ทำให้บางคนกังวลว่า สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยดังกล่าวอาจจบลงอย่างรวดเร็ว
เมห์เม็ต ซิมเซ็ค รัฐมนตรีคลังตุรกี อธิบายว่า เนื่องจากการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ย่อมหมายถึงปริมาณหนี้สินที่สูงขึ้น และผลที่ตามมาคืออัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีทิศทางแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามไปด้วย เหล่านี้ล้วนไม่ส่งผลดีต่อชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่า สงครามการค้าที่ทำท่ารุนแรงขึ้นในระยะต่อจากนี้ไป อาจทำให้ความพยายามที่จะรผ่อนคลายความกดดันด้านเงินเฟ้อต้องพลอยหยุดชะงัก โดยลีเซตจา คันยาโฮ ผู้ว่าการแบงก์ชาติแอฟริกาใต้ ชี้ว่า เมื่อทั่วโลกเกิดมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กัน สินค้าจะมีราคาแพงขึ้น และกระบวนการทำให้เงินเฟ้อลดลงจึงอาจยิ่งกลายเป็นความท้าทายสำหรับธนาคารกลางทั่วโลก
กระนั้น โมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน รัฐมนตรีคลังซาอุดีอาระเบีย ที่เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการของไอเอ็มเอฟ ยังคงพยายามมองโลกแง่ดี โดยย้ำว่าที่ผ่านมาไอเอ็มเอฟก็สามารถร่วมมือด้วยดีกับคณะบริหารของอเมริกา ไม่ว่าจะมาจากเดโมแครต หรือ รีพับลิกัน รวมทั้งคณะบริหารทรัมป์ชุดที่แล้วด้วย และสำทับว่า สิ่งที่ต้องทำคือ ตรวจสอบว่า ยังคงมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง
(ที่มา: รอยเตอร์)