xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ใช้ระบบ” ไบโอเมตริก”สแกนใบหน้า ลดเวลาเดินทางผ่าน 6 สนามบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ทอท. เปิดใช้ระบบสแกนใบหน้า พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) เดินทาง 6 สนามบินสะดวก รวดเร็ว ประเดิมผู้โดยสารในประเทศใช้ก่อน 1 พ.ย.67

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือทอท. กล่าวว่า ทอท.ได้นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated BiometricIdentification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร โดยได้พัฒนาและทดสอบระบบฯ ให้มีความพร้อมใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว รวมทั้งจะช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.)
ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ผู้โดยสารภายในประเทศสามารถใช้งานได้ก่อน และในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 พร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล โดยในช่วง แรก จะเก็บข้อมูลผู้โดยสารที่ลงทะเบียนไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นจะทำลายข้อมูล ส่วนระยะยาวจะพัฒนาระบบเพื่อจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ไว้นานๆ มีความปลอดภัยและผ่านขั้นตอน PDPA ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ก่อน คาดว่าจะใช้ได้ใน 2 ปี


@สุวรรณภูมิ ติดตั้งKiosk เช็คอิน ระบบ Biometric 200 เครื่อง

โดยมีการติดตั้งเครื่องตรวจเพื่อรองรับการใช้งานระบบ Biometric 3 จุด คือ 1.จุดเช็กอิน Kiosk (ตู้คีออส)ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 200 เครื่อง ที่สนามบินดอนเมือง จำนวน 50 เครื่อง 2.จุดเช็คบัตรโดยสาร ระบบ Biometric จำนวน 10 เครื่อง และยังมีระบบ Manual 5 ช่องและ 3. จุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง มี 2 ช่อง และ Manual 1 ช่อง โดยจะคงรูปแบบ การให้บริการแบบ Manual ควบคู่ไปด้วยในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 6 เดือน

สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนใช้งานเมื่อมาเช็กอินที่สนามบินโดยมี 2 วิธี ได้แก่ (1) เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบ Biometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) โดยระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ (2) เช็กอินที่เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS) โดยหลังจากเช็กอินเสร็จแล้ว ให้ผู้โดยสารเลือกสายการบินที่เดินทาง ต่อด้วยเลือก “Enrollment” จากนั้นสแกน barcode จากบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) เสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน และสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ซึ่งระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ เช่นเดียวกัน

ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วถือว่าผู้โดยสารได้ให้ความยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้โดยสารจะโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง ไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometric สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น


นายกีรติ กล่าวว่า AOT มั่นใจว่าระบบ Biometric มีความพร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารทั้งผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศจะได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ใช้เวลาน้อยในแต่ละจุดบริการ ทำให้ผู้โดยสารมีเวลาเพียงพอที่จะเดินเล่น เลือกซื้อสินค้าปลอดอากรและของฝาก รับประทานอาหาร หรือพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากที่ผ่านมา AOT ได้มีการติดตั้งระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUPPS (Common Use Passenger Processing System) ที่สนับสนุนการให้บริการทั้งหมด 5 ระบบ ได้แก่ (1) เครื่อง CUTE (เครื่องตรวจ
บัตรโดยสาร ซึ่งใช้งานโดยเจ้าหน้าที่สายการบิน) (2) เครื่อง CUSS (เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ) (3) เครื่อง CUBD เครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (4) ระบบ PVS (Passenger Validation System) สำหรับตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (5) ระบบ SBG (Self-Boarding Gate) หรือระบบประตูทางออกขึ้นเครื่อง โดยทั้ง 5 ระบบดังกล่าว
ได้ติดตั้งเพื่อรองรับระบบ Biometric ไว้เรียบร้อยแล้วและเมื่อระบบทั้งหมด 6 ระบบได้มีการใช้งานและเชื่อมต่อกันอย่างครอบคลุม จะทำให้ข้อมูลต่างๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอย่างสมบูรณ์

“การลงทุนระบบ Biometric AOT ใช้รายได้จากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) หรือค่าธรรมเนียมสนามบิน ทั้ง 6 แห่ง ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ 730 บาทต่อคนและภายในประเทศ 130 บาทต่อคน มาดำเนินการ ซึ่งมีรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี”






กำลังโหลดความคิดเห็น