xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ภาค 9 ชี้มูล 2 ตำรวจพัทลุงทุจริตในคดีเงินเบี้ยเลี้ยงโควิด และคดีรถของกลางหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 แถลงผลงานการดำเนินงาน โดยมีคดีสำคัญชี้มูลความผิด 2 นายตำรวจใหญ่พัทลุง ในคดีทุจริตเงินเบี้ยเลี้ยงตำรวจช่วงโควิด-19 และคดีรถของกลางหาย

วันนี้ (28 ต.ค.) นายเกียรติศักดิ์ พุฒพันธุ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 9 นำทีมเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง พัทลุงและสตูล แถลงผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 และสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดในเขตพื้นที่ภาค 9 ณ โรงแรมหรรษาเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

โดยมีคดีสำคัญ ประกอบด้วย การกล่าวหา พล.ต.ต.ก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง ในการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีสั่งการไม่ให้ตรวจสอบรถยนต์ MU-X สีดำ ที่ได้ประสบอุบัติเหตุตกร่องกลางถนน บริเวณถนนเพชรเกษม (ถนนเอเชีย) ฝั่งขาขึ้น ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เมื่อคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 โดยมีการกล่าวอ้างว่าได้บรรทุกบุหรี่ และสุราหนีภาษี และไม่จัดเก็บรักษารถยนต์พร้อมทั้งของกลางดังกล่าว เป็นเหตุให้สูญหาย

พฤติการณ์ในการกระทำความผิด กรณีที่รถยนต์ ยี่ห้อ ISUZU รุ่น MU-X สีดำ ติดแผ่นป้ายทะเบียน กข 8899 สงขลา ติดเอกสารการเสียภาษี (ป้ายวงกลม) กข 8899 กรุงเทพมหานคร ประสบอุบัติเหตุ บริเวณถนนเพชรเกษม (ถนนเอเชีย) ฝั่งขาขึ้น ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เมื่อคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ได้สั่งการไม่ให้ผู้ใดทำการตรวจสอบ หรือเตะต้องหรือยุ่งเกี่ยวรถคันเกิดเหตุและสิ่งของที่บรรทุกมา และยังได้แจ้งว่ารถคันเกิดเหตุเป็นของพรรคพวกตน แต่กลับสั่งการให้นำรถคันเกิดเหตุไปจอดเก็บยังบ้านพักผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงที่ตนได้พักอาศัยอยู่


และเมื่อนำไปจอดเก็บยังสถานที่ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า ได้มีการนำรถคันเกิดเหตุออกไปจากจุดจอดเก็บ แล้วนำไปไว้ที่อู่แห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในคืนวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ทำการตรวจสอบ หรือสั่งการให้ผู้ใดหรือหน่วยงานใด ทำการตรวจสอบรถคันเกิดเหตุและสิ่งของที่บรรทุกมาว่าเป็นสิ่งใด เป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งที่รถคันเกิดเหตุมีการติดแผ่นป้ายทะเบียนไม่ตรงกับป้ายวงกลม และสิ่งของที่รถคันเกิดเหตุบรรทุกมานั้น ห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกสีดำ และลังสีน้ำตาลวางอยู่เต็มรถ ซึ่งมีลักษณะที่น่าสงสัย พิรุธว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

โดยผู้ถูกกล่าวหาได้พบเห็นและทราบพฤติการณ์ดังกล่าวด้วยแล้วตั้งแต่อยู่ในที่เกิดเหตุ ดังนั้น การไม่ตรวจสอบและปล่อยให้มีการนำรถคันเกิดเหตุ พร้อมทั้งสิ่งของที่บรรทุกมานั้นซึ่งเป็นของกลาง ออกไปจากจุดจอดเก็บ เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว มีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 158 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

ปัจจุบันส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา 91 (1) และส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 91 (2) และมาตรา 98 แล้ว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561


ส่วนอีกรายกล่าวหา พ.ต.อ. ป. อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ข้อหา ทุจริตเงินค่าเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 (ค่าเบี้ยเลี้ยงโควิด-19) ประจำปี 2563 พฤติการณ์ในการกระทำความผิด เมื่อปีงบประมาณ 2563 กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จากนั้นได้จัดสรรงบประมาณนั้นให้แก่สถานีตำรวจภูธรป่าพะยอม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้มีการสั่งการให้นำเงินเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวมาบริหารจัดการใหม่ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีตำรวจป่าพะยอมบางส่วน ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงในการปฏิบัติงานเต็มจำนวน

โดยผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า เงินส่วนต่างนั้นจะนำไปสร้างศาลานุสรณ์ที่สถานีตำรวจภูธรป่าพะยอม และนำเงินที่เหลือ (เงินทอน) ส่งให้แก่ “นาย” จำนวน 200,000 บาท โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ยินยอมทั้งหมด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนหนึ่งไม่พอใจ เนื่องจากได้รับเงินน้อยกว่าสิทธิที่ตนเองจะได้รับ จนเป็นเหตุให้มีการร้องเรียน

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 59/2567 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของ คณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า การกระทำของ พ.ต.อ.ปุริมพรรษ์ สอนสังข์ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157


และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ รวมทั้งการกระทำผิดตามมาตรา 7๘ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับพ.ต.อ.ปุริมพรรษ์ สอนสังข์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป

ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
๐ ของกลางอยู่ไหน! รถบรรทุกบุหรี่-เหล้าหนีภาษีจอดหน้าบ้านพักผู้การพัทลุงหาย
๐ ตร.พัทลุงตั้ง กก.สอบเอาผิดคดี “อมเบี้ยเลี้ยงโควิด-19” พร้อมเชิญ 2 นักข่าวให้ข้อมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น