ผลดำเนินงานของ 11 แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ 9 เดือนแรกของปีนี้ ต้องร้องโอ้โห เพราะฟันกำไรสุทธิกว่า 1.92 แสนล้าน เรียกว่าอู้ฟูกันถ้วนหน้าเลยทีเดียว โดยเฉพาะแบงก์กรุงเทพ หรือ BBL ที่ยืนหนึ่งทั้งตัวเลขกำไรและหนี้เสียที่เบ่งบาน
แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งสบายอกสบายใจกันไป เพราะเมื่อล้วงลงไปในรายละเอียดก็จะพบ “สัญญาณร้าย” ปรากฏอยู่ นั่นก็คือตัวเลข “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)” ของหลายธนาคารปรับตัวสูงขึ้น
ที่สำคัญคือ เป็น NPL ที่สูงขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตไม่ได้ตามที่คาดหวัง
รายงานผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ประจำงวด 9 เดือนปี 2567 และงวดไตรมาส 3 ปี 2567 รวม 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท เอสซีบีเอ็กซ์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) แอล เอล ไฟแนนซ์แชียล กรุ๊ป (LHFG) และธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) แจ้งกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2567 มีจำนวนรวม 64,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 60,453 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิรวม 192,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 184,200 ล้านบาท
สำหรับในรอบ 9 เดือน กสิกรไทย มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 38,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมา ได้แก่ กรุงเทพ มีกำไรสุทธิ 32,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.20% กรุงไทย มีกำไรสุทธิ 33,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.40% และเอสซีบี เอกซ์ มีกำไรสุทธิ 32,526 ล้านบาท ลดลง 0.80%
สินเชื่อหดตัว เศรษฐกิจฟื้นช้า
หากมาดูฝั่งสินเชื่อของแบงก์ ในรอบ 9 เดือนของปีนี้ จะพบว่าหดตัวลง 272,355 ล้านบาท หรือ -1.87% จากสิ้นปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า และแบงก์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยแบงก์ที่สินเชื่อลดลงมากที่สุดคือ กรุงศรีอยุธยา ลดลง 90,268 ล้านบาท (-4.5%)
ขณะที่ทหารไทยธนชาต ลดลง 71,906 ล้านบาท (-5.6%), กสิกรไทย ลดลง 56,785 ล้านบาท (-2.28%), กรุงเทพ ลดลง 33,267 ล้านบาท (-1.2%), เกียรตินาคินภัทร ลดลง 25,265 ล้านบาท (-6.6%), กรุงไทย ลดลง 12,366 ล้านบาท (-0.5%) และ ทิสโก้ ลดลง 4,867 ล้านบาท (-2.1%)
อย่างไรก็ดี มีกลุ่มแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่น ซีไอเอ็มบีไทย เพิ่มขึ้น 8,265 ล้านบาท (+3.43%), เอสซีบี เอ็กซ์ เพิ่มขึ้น 7,930 ล้านบาท (+0.3%), แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 7,176 ล้านบาท (+3.1%)
ทั้งนี้ เกียรตินาคินภัทร มีอัตราการหดตัวของสินเชื่อสูงที่สุดที่ -6.6% ส่วนซีไอเอ็มบีไทย มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ +3.43%
สำหรับกลุ่มสินเชื่อรายย่อยได้รับผลกระทบชัดเจน คือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่หดตัวมากสุด ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SME ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ขณะที่สินเชื่อบุคคลชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูล KKP ที่สินเชื่อเช่าซื้อลดลง 8.5% สินเชื่อ SME หดตัว 5.4% ด้าน SCBX สินเชื่อ SME ลดลง 2.3% ส่วน BAY สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลง 2.9%
สาเหตุหลักที่ทำให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์หดตัว มาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง ธนาคารยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรายใหม่มากขึ้น
ผยง ศรีวณิชกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการขยายตัวที่ไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped Economy มีเพียงการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลัก และปัจจัยหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ
ส่วนภาคการผลิตและส่งออกเผชิญความท้าทายจากการพัฒนาฝีมือแรงงาน เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงินบาท โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ภาคครัวเรือนยังมีแรงกดดันจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และบางพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วม
หนี้เสียยังพุ่งขึ้น ระวังไหลไม่หยุด
การปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังของแบงก์ ก็ด้วยว่าปัญหาหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงไม่น้อย โดยตัวเลขหนี้เสียตามผลดำเนินงานของ 10 ธนาคาร ประกอบด้วย กรุงเทพ, กสิกรไทย, กรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา, เอสซีบี เอ็กซ์, ทิสโก้, เกียรตินาคินภัทร, ทหารไทยธนชาติ, แลนด์ แอนด์ เฮาส์ และซีไอเอ็มบีไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 ล้นทะลักอยู่ที่ 537,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.36% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2566 ซึ่งมีตัวเลขหนี้เสียอยู่ที่ 510,523 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 0.38% จากไตรมาส 2/2567 ที่มีตัวเลขหนี้เสียรวม 535,856 ล้านบาท
แบงก์ที่หนี้เสียเบ่งบานอันดับต้นๆ เช่น กรุงเทพ มีหนี้เสียล่าสุด อยู่ที่ 103,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.99 % จากปลายปีที่ผ่านมา ที่มีหนี้เสียอยู่เพียง 85,955 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 4.90% จากไตรมาสที่ผ่านมา ที่มีตัวเลขหนี้เสียอยู่ที่ 99,140 ล้านบาท
กสิกรไทย หนี้เสียขึ้นมาอยู่ที่ 92,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.53% หากเทียบกับไตรมาสก่อน, กรุงศรีอยุธยา มีหนี้เสียอยู่ที่ 74,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.4% จากสิ้นปี 2566 และเพิ่มขึ้น 1.98% จากไตรมาสก่อนที่มีตัวเลขหนี้เสียอยู่ที่ 72,973 ล้านบาท, กรุงไทย 98,301 ล้านบาท ปรับลดลง 0.41% และเอสซีบี เอกซ์ 94,586 ล้านบาท ลดลง 0.54%
สำหรับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ณ ไตรมาส 3/2567 ภาพรวม 11 แบงก์อยู่ที่ 57,836 ล้านบาท ลดลง -8.37% จากไตรมาสก่อน และปรับลดลง -2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยไตรมาส 3/2567 แบงก์ส่วนใหญ่ตั้งสำรองลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ส่วนงวด 9 เดือน แบงก์ตั้งสำรองรวมกัน 180,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% YOY โดยแบงก์ที่ตั้งสำรองมากสุด คือ กรุงศรีฯ 35,258 ล้านบาท, กสิกรไทย 35,009 ล้านบาท เอสซีบี เอ็กซ์ 32,795 ล้านบาท, กรุงเทพ 27,204 ล้านบาท, กรุงไทย 24,344 ล้านบาท
สถานการณ์หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทำให้แบงก์ยังคงตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในระดับสูง เพื่อรองรับความเสี่ยงและป้องกันการไหลต่อเนื่องของหนี้เสีย
ขณะเดียวกัน บรรดาแบงก์ต่างทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้รายย่อยสูงสุด 0.25% เท่ากับดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า หลังจาก กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% โดยให้มีผลต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นการส่งผลต้นทุนการเงินที่ผ่อนคลายลงตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ตลาดสินเชื่อ คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 40.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย
ขณะที่ผลจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวในรอบนี้ จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจปรับลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท (เฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2567) การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจไม่มีผลทำให้ค่างวดผ่อนของลูกหนี้ในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลง แต่ลูกหนี้จะได้รับอานิสงส์ในรูปของการปิดสัญญาหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น
แก้หนี้มีแต่ราคาคุย ทำได้แค่ 5 พัน จาก 5 แสนบัญชี
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ผ่านมาหลายปีการแก้หนี้ยังไม่ไปถึงไหน แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงตัวเลขหนี้ครัวเรือน 6 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 16.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.6% ต่อขนาดเศรษฐกิจที่วัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และขยายตัวต่ำเพียง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนดีขึ้นแล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หนี้ครัวเรือนไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 1.0% ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนและความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับทบทวนประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2567 ลงมาที่กรอบ 88.5-89.5%
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ครัวเรือนในแต่ละกลุ่มระดับรายได้มีความสามารถในการรับมือกับภาระหนี้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในภาพใหญ่ของทั้งประเทศ จึงไม่อาจสะท้อนว่า ภาระหนี้สินและปัญหาการชำระหนี้ในระดับครัวเรือนจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามในทันที
อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในภาพใหญ่ของประเทศจะทยอยปรับลดลง แต่อัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในแต่ละปียังคงสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย
และเมื่อเจาะลึกลงไปเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในระดับครัวเรือนจากผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 พบว่า ครัวเรือนในแต่ละกลุ่มระดับรายได้มีความสามารถในการรับมือกับภาระหนี้ที่แตกต่างกัน แม้หลายครัวเรือนจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องและดูแลภาระหนี้สินที่มีอยู่ได้ แต่ก็มีอีกหลายครัวเรือนมีปัญหาขาดสภาพคล่อง สถานะทางการเงินเริ่มมีความเปราะบาง เนื่องจากภาระหนี้เริ่มเต็มมือ
สุรพล โอภาสเสถียรผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ให้ข้อมูลอ้างอิงจากสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรจำนวน 158 แห่ง พบว่ามียอดสินชื่อ 13.63 ล้านล้านบาท เติบโต YoY ต่ำที่ 0.8% MoM 0.0% คือแทบไม่มีการเติบโต ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (NPL) ใกล้เคียง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.7% ของยอดสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าสูง
เขาบอกว่า หนี้เสียก้อนนี้ที่ค้างเกิน 90 วัน กำลังรอมาตรการแก้ไขแบบแรงๆ มีแรงจูงใจสูงทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เข้ามาตกลงกัน ภายใต้กติกาที่ผู้กำกับดูแลจะทำอะไรก็รีบทำ ดอกมันเดินทุกวัน
ส่วนหนี้กำลังจะเสีย หรือหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือ SM. ในเดือนสิงหาคม 2567 ในระบบของเครดิตบูโร มาหยุดอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.7%
มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ DR. ที่เริ่มบันทึกข้อมูลในระบบเครดิตบูโรตั้งแต่เมษายน 2567 ตอนนี้มียอดสะสมจนถึงสิงหาคม 2567 คิดเป็นจำนวน 1 ล้านบัญชีเศษ จำนวนเงินที่ทำ DR. สะสมถึงตอนนี้ 5.4 แสนล้านบาท มาตรการนี้เป็นเหมือนฝายทดน้ำไม่ให้ SM.ไหลไปเป็น NPLs เพราะตามเกณฑ์การให้สินเชื่อที่รับผิดชอบ เจ้าหนี้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้ถ้าเห็นว่าลูกหนี้จะผ่อนตามเงื่อนไขเดิมไม่ไหว กล่าวคือปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะค้างเกิน 90 วัน
สุรพล ชี้ปัญหาที่กำลังมีจำนวนทวีเพิ่มในเวลานี้คือ ลูกหนี้ร้องมาที่เครดิตบูโรว่า พอไปทำ DR. เป็นเหตุให้ถูกปฏิเสธ ขอสินเชื่อไม่ได้ ลูกหนี้บางรายบอกยอมเข้าโครงการ DR. เพราะนึกว่าไม่ใช่การปรับโครงสร้างหนี้ที่จะมีการใส่รหัสไว้ในรายงานเครดิตบูโร เจ้าหนี้ที่เสนอให้ทำ DR. พูดไม่ชัดว่าทำแล้วจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
กล่าวสรุปคือถ้ารู้ว่าจะโดนปฏิเสธสินเชื่อก็อาจจะไม่เข้าโครงการ DR. ดังนั้น ผู้ที่ออกกติกาต้องสื่อสารให้ชัดเจน ถ้าเอาใจลูกหนี้มากก็เละ ถ้าไม่ชัดกับเจ้าหนี้ก็ละล้าละลังกันไปทั้งขบวน สถานการณ์แบบนี้ กลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง ถ้ายังเป็นแบบนี้ ขยันทำอยู่ผิดที่ 10 ปี ก็ไม่ถึงเป้าหมายอ่ะครับ”ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรว่าไว้อย่างนั้น
อีกประเด็นน่าสนใจที่ผู้จัดการเครดิตบูโร ชี้ชัดก็คือ มาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้เรื้อรังที่ต้องแก้ไขตามที่ทางแบงก์ชาติ ผลักดันมาอย่างต่อเนื่องสัมฤทธิ์ผลเพียงเล็กน้อย
กล่าวคือ บัญชีสินเชื่อที่ถือว่าเป็นหนี้เรื้อรังที่ควรต้องได้รับการแก้ไข (Severe PD) ได้รับข้อเสนอจากเจ้าหนี้ให้เข้าโครงการแก้ไข และลูกหนี้ตอบรับการเข้ากระบวนการแก้ไข มีจำนวนเพียง 5.3 พันบัญชี จากจำนวน 5 แสนบัญชี ที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง คิดเป็นเงินที่เก็บข้อมูลได้ว่าเข้าโครงการปิดจบใน 5 ปี ที่ดอกไม่เกิน 15% มีจำนวน 247 ล้านบาท จากยอดที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังทั้งหมดประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท
สินเชื่อเติบโตต่ำ หนี้เอ็นพีแอลยังไหลไม่หยุด แก้หนี้ไม่เข้าเป้า เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นหย่อมๆ เป็นระบบนิเวศน์ชีวิตของประชาชนคนไทยในยามนี้ที่ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นกี่โมง?