xs
xsm
sm
md
lg

แอปเปิลไม่ได้คิดหย่าร้างแยกขาดจากจีนเลย แม้ต้องเผชิญทั้งการแข่งขันเดือดกับหัวเว่ย และแรงกดดันของนักการเมืองอเมริกันที่กำลังเกลียดชังปักกิ่งสุดขั้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ยังคงยืนยันคำกล่าวซึ่งนิยมพูดกันก่อนหน้านี้ที่ว่า แอปเปิลต้องการจีน มากยิ่งกว่าที่จีนต้องการแอปเปิล
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Why Apple’s not decoupling from China
by Scott Foster
18/10/2024

แอปเปิลเพิ่งเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น ในความพยายามที่จะหนุนเสริมฐานะของไอโฟน ขณะที่กำลังเผชิญคำสั่งแบนในบางระดับจากภาครัฐของจีน อีกทั้งต้องแข่งขันเดือดกับ หัวเว่ย ซึ่งกำลังฟื้นคืนชีพขึ้นมาอย่างน่าเกรงขาม

แอปเปิลเพิ่งเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) แห่งใหม่อีกแห่งขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น ถือเป็นความพยายามล่าสุดของบริษัทผู้ผลิตไอโฟนแห่งนี้ในการตอบโต้การฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งอย่างคึกคักของ หัวเว่ย รวมทั้งยังเป็นการค้ำจุนเสริมความเข้มแข็งให้แก่ฐานะของแอปเปิลในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดสมาร์ตโฟนใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้สถานที่ใหม่แห่งนี้คือศูนย์อาร์แอนด์ดีผลิตภัณฑ์แห่งที่ 5 ในจีนของแอปเปิล

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า แอปเปิล ยังคงให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ของพวกผู้ถือหุ้นของบริษัท เหนือกว่าเสียงเอะอะต่อต้านจีนอย่างอึกทึกของพวกนักการเมืองสหรัฐฯ เวลาเดียวกันนั้น มันก็กลายเป็นการลดทอนน้ำหนักข้อคาดเดากะเก็งที่ว่าแอปเปิลกำลังอำลาจีนและหันไปหาอินเดียแทน ในเมื่อความเป็นจริงปรากฏว่า บริษัทเพียงแค่เพิ่มอินเดียเข้ามาในบัญชีรายชื่อตลาดและสถานผลิตแห่งสำคัญๆ ของตน เวลาเดียวกับที่ยังคงเพิ่มพูนการปรากฏตัวของแอปเปิลในประเทศจีนไปด้วย

ประเทศจีนและดินแดนปริมณฑล (Greater China) คือตลาดระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของแอปเปิล รองลงมาจาก ทวีปอเมริกา และยุโรป เท่านั้น ทว่ายอดขายของบริษัทในแดนมหามังกรนี้ได้ตกวูบลงในระยะหลังๆ ท่ามกลางคำสั่งของภาครัฐจีนที่ห้ามใช้ไอโฟนในสำนักงานรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐบางแห่ง โดยในช่วง 9 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2023 ถึง 29 มิถุนายน 2024 ดินแดนจีนและปริมณฑลทำยอดขายได้เท่ากับ 17.5% ของยอดขายทั้งหมดของแอปเปิล ต่ำลงจาก 19.6% ในระยะเดียวกันนี้ของ 1 ปีก่อนหน้า
(คำว่า Greater China ประเทศจีนและดินแดนปริมณฑลนี้ เป็นวลีทางเชื้อชาติ-ดินแดนที่มีความหมายหลวมๆ โดยทั่วไปหมายถึง สาธารณรัฐประชาชนจีน บวกด้วย ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Greater_China- หมายเหตุผู้แปล)

ขณะเมื่อดูกันเป็นจำนวนเครื่อง ยอดขายของแอปเปิลจากประเทศจีนและปริมณฑลได้หดตัวลง 9.7% จากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ยอดขายโดยรวมของบริษัทสูงขึ้น 0.8% จากช่วง 9 เดือนนี้ของเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า เฉพาะไตรมาสสามปีนี้ไตรมาสเดียว แอปเปิลรายงานว่ายอดขายที่ดูจากปริมาณในประเทศจีนและปริมณฑล ลดต่ำลงมา 6.5% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และเปรียบเทียบกับยอดขายโดยรวมของบริษัทซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 4.9%

การตกต่ำเช่นนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ทางภาครัฐจีนมีการออกคำชี้แนะระบุให้พวกเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลและพวกพนักงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ต้องยุตินำเอาไอโฟนตลอดจนสมาร์ตโฟนต่างประเทศอื่นๆ มาทำงานด้วย สื่อบลูมเบิร์กรายงาน ว่า จนกระทั่งถึงเดือนธันวามคมปีที่แล้ว คำสั่งในลักษณะมุ่งเข้าสู่สงครามเทคเช่นนี้ ได้มีการขยายนำไปใช้ตามมณฑลต่างๆ ของจีนอย่างน้อย 8 มณฑล ซึ่งก็รวมทั้งพวกมณฑลแถบชายฝั่งที่เจริญมั่งคั่งทั้งหลายด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-12-15/china-s-apple-iphone-ban-accelerates-across-state-firms-government?sref=oTGRLJoa)

สภาพเช่นนี้ดูจะกำลังทำให้พวกสมาร์ตโฟนแบรนด์ท้องถิ่นได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาช่วงใหญ่ ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ตามข้อมูลตัวเลขของ ซินโน รีเสิร์ช (CINNO Research) บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติจีน มูลค่ายอดขายพวกโทรศัพท์มือถือในจีนของ หัวเว่ย สามารถแซงหน้าของแอปเปิลได้เป็นครั้งแรกในรอบ 46 เดือน หรือถ้าดูกันที่จำนวนเครื่องที่ขายแล้ว หัวเว่ย ก็สามารถแซงหน้า แอปเปิล ได้สำเร็จในไตรมาสแรกของปี 2024 ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขที่รวบรวมโดย แคนาลิส (Canalys) องค์การวิจัยตลาดซึ่งตั้งฐานอยู่ที่สิงคโปร์

รายงานจาก ห้องข่าวส่วนกลางหัวเว่ย (Huawei Central Newsroom) เว็บไซต์ข่าวประชาสัมพันธ์ของค่ายหัวเว่ย ระบุว่า หัวเว่ย กับ แอปเปิล ปะทะกันอย่างดุเดือดคู่คี่ ในศึกชิงตำแหน่งอันดับหนึ่งสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์ขายดีที่สุดในช่วงเทศกาลช็อปปิ้งคู่ 11 (Double 11 คือวันที่ 11 เดือน 11) ของจีน ซึ่งจะแข่งกันไปจนกระทั่งผ่านพ้นวันที่ 11 พฤศจิกายน

หากดูจากเว็บไซต์ช็อปปิ้งชื่อดังของจีนอย่าง JD.com สมาร์ตโฟนไฮเอนด์ขายดีที่สุดในจีน 10 อันดับแรกในตอนนี้ทั้งหมด ถ้าไม่ใช่ของค่ายแอปเปิลก็ต้องมาจากค่ายหัวเว่ย โดยรุ่นที่ปรากฏอยู่ในรายชื่อนี้ได้แก่ iPhone 15 Pro Max, iPhone 16 Pro Max, iPhone 16 Pro, Huawei Mate 60 Pro, Huawei Pura 70 Pro, iPhone 15, iPhone 16, Huawei Pura 70 Pro+, Huawei Mate 60 Pro+ และ Huawei Mate X5

หัวเว่ย ได้รับความสนใจอย่างแรงจากการเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่น Mate XT Ultimate Design ที่สามารถพับได้ 2 ทบ กลายเป็นเครื่องมือถือพับได้ซึ่งมีหน้าจอ 3 หน้าจอ เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยราคาที่ตั้งไว้เครื่องละ 2,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่านั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านหน่วยความจำ หัวเว่ย ดูตั้งใจเปิดตัวไฮเอนด์รุ่นนี้ของตนเพื่อตัดหน้าการเปิดตัว iPhone 16 ในประเทศจีนของแอปเปิล โดยเสนอจุดเด่นทั้งขนาดหน้าจอที่เมื่อขยายสูงสุดจะอยู่ที่ 10.2 นิ้ว ตลอดจนฟีเจอร์ระดับท็อปออฟเดอะไลน์อย่างอื่นๆ

ท่ามกลางฉากหลังของการแข่งขันอันเข้มข้นเช่นนี้เอง แอปเปิลประกาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ถึงการจัดตั้ง “ศูนย์อาร์แอนด์ดีแอปพลิเคชั่นก้าวหน้า” (advanced application R&D center) แห่งใหม่ของตนขึ้นภายในสวนอุตสาหกรรมเซินเจิ้น ของเขตพื้นที่ความร่วมมือทางด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เหอเท่า เซินเจิ้น-ฮ่องกง (Shenzhen Park of the Hetao Shenzhen-Hong Kong Science and Technology Innovation Cooperation Zone)

ศูนย์แห่งนี้จะเป็นแล็ปวิจัยประยุกต์แห่งหลักของแอปเปิลในพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area) สืบแทนหน่วยงานเดิมซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 2016 โดยที่ แอปเปิล ยังคงศูนย์อาร์แอนด์ดีแห่งอื่นๆ ในจีน ซึ่งตั้งอยู่ในปักกิ่ง, เซี่ยวไฮ้, และซูโจว เอาไว้

สื่อ เซินเจิ้นเดลี่ (Shenzhen Daily) รายงานว่า แล็ปแห่งนี้ออกแบบขึ้นมาเพื่อครอบคลุมการดำเนินงานทางธุรกิจต่างๆ ของ แอปเปิล เกรตเทอร์ ไชน่า (Apple Greater China) รวมไปถึงการดำเนินงานด้านอาร์แอนด์ดีซึ่งแต่เดิมวางแผนเตรียมเอาไว้สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะเท่ากับยิ่งเป็นการรวมศูนย์บทบาทความเป็นแกนกลางของเซินเจิ้น ในเครือข่ายอุตสาหกรรมการผลิตและห่วงโซ่อุปทานอัจฉริยะ (intelligent manufacturing and supply chain) ของแอปเปิล”

ย้อนกลับมายังปี 2016 ซีอีโอ ทิม คุก ของแอปเปิล เคยพูดเอาไว้ในตอนนั้นว่า “เราตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่าระดับทักษะความชำนาญของพวกโรงงานต่างๆ ในเซินเจิ้น กำลังค่อยๆ นำหน้าสถานที่แห่งอื่นๆ ในทั่วโลก” สภาพเช่นนี้อาจจะปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกด้วยซ้ำในเวลานี้

พนักงานลูกจ้างกว่า 1,000 คนในศูนย์อาร์แอนด์ดีที่เซินเจิ้นนี้ จะทำงานทางด้านการพัฒนาฮาร์ดแวร์, การผลิตและการทดสอบแบบอัจฉริยะสำหรับผลิตภัณฑ์ไอโฟน, ไอแพด, และผลิตภัณฑ์อื่นๆ พวกเขายังจะทำงานร่วมมือประสานงานกับบรรดาซัปพลายเออร์ท้องถิ่นเพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ยิ่งแข็งแกร่ง

โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อในเครือพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานโดยอ้างอิง หลี่ หยง (Li Yong) นักวิจัยอาวุโสอยู่ที่สมาคมการค้าระหว่างประเทศของจีน (China Association of International Trade) ที่กล่าวว่า “นี่เป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลของแอปเปล ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการเมืองและทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีความสลับซับซ้อนยิ่ง”

เป็นเรื่องสมเหตุสมผล และบางทีกระทั่งเป็นความจำเป็นเสียด้วยซ้ำสำหรับแอปเปิลที่จะต้องประคับประคองฐานะขอวตนในตลาดที่ทำรายได้งามๆ อย่างจีนเอาไว้ “แอปเปิลยังคงเพิ่มการดำเนินงานในจีนถึงแม้รัฐบาลสหรัฐฯยังคงแสวงหาทาง ‘หย่าร้างแยกขาด’ จากจีน ด้วยการเพิ่มมาตรการแซงก์ชั่นอย่างดุเดือดยิ่งขึ้น, การตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่มีมูล, และการยั่วยุพวกบริษัทจีนซ้ำแล้วซ้ำอีก” รายงานของโกลบอลไทมส์ระบุ

รายงานชิ้นนี้ชี้ว่า เจฟฟ์ วิลเลียมส์ (Jeff Williams) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (chief operating officer) ของแอปเปิล ได้เดินทางมาเยือนจีนในเดือนกรกฎาคม ไม่นานนักหลังจากการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ลงมติรับรองญัตติฉบับหนึ่งซึ่งเรียก “การเปิดกว้าง” แก่โลกภายนอก ว่าเป็น “ลักษณะตัดสินชี้ขาดประการหนึ่งของกระบวนการมุ่งสู่ความทันสมัยของจีน”

วิลเลียมส์ บอกกับพวกสื่อทางด้านข่าวสารของจีนว่า บรรดาซัปพลายเออร์ของแอปเปิลมากกว่า 70 แห่งยังคงรักษาโรงงานต่างๆ เอาไว้ นี่นับเฉพาะในมณฑลกวางตุ้งเพียงแห่งเดียวเท่านั้น “ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ขาดให้เห็นความสำคัญอย่างเป็นพิเศษของภูมิภาคกวางตุ้งที่ถือเซินเจิ้นเป็นศูนย์กลาง ในห่วงโซ่อุปทานของแอปเปิล” (กวางตุ้งเป็นหนึ่งในมณฑลแถบชายฝั่งของจีนซึ่งออกคำสั่งห้ามไม่ให้พวกลูกจ้างพนักงานของภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจต่างๆ นำเอาไอโฟนมาทำงานด้วย)

ในบรรดาซัปพลายเออร์รวม 187 ราย ซึ่งเป็นแหล่งรองรับ 98% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่แอปเปิลจับจ่ายไปโดยตรงทั้งทางด้านวัตถุดิบ, โรงงานการผลิต, และการประกอบผลิตภัณฑ์ในรอบปีการเงินที่ผ่านมา ปรากฏว่า 157 แห่งเป็นพวกที่ดำเนินงานอยู่ในจีน และ 56 แห่งมีคนจีนเป็นเจ้าของ เปรียบเทียบกันแล้วมีเพียง 14 รายเท่านั้นที่คนอินเดียเป็นเจ้าของ ถึงแม้มีอัตราเติบโตที่รวดเร็วมากในระยะหลังๆ นี้ ทว่าอินเดียยังคงเป็นแหล่งที่มาเพียงไม่ถึง 5% ของรายรับโดยรวมของแอปเปิลอยู่ดี

แอปเปิล และซีอีโอ คุก เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมหาศาลจริงๆ จากพวกนักการเมืองสหรัฐฯซึ่งคัดค้านการดำเนินการทางธุรกิจของบริษัทในประเทศจีน

ในเดือนตุลาคม 2019 วุฒิสมาชิกเท็ด ครูซ (Ted Cruz) แห่งเทกซัส, รอน ไวเดน (Ron Wyden) แห่งออริกอน, ทอม คอตทอน (Tom Cotton) แห่งอาร์คันซอส์, และมาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) แห่งฟลอริดา, และ ส.ส.อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทซ (Alexandria Ocasio-Cortez) จากนิวยอร์ก, ไมก์ แกลลาเกอร์ (Mike Gallagher) จากวิสคอนซิน, และ ทอม มาลิโนว์สกี (Tom Malinowski) จากนิวเจอร์ซีย์ ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกไปถึง คุก “เพื่อแสดงออกถึงความกังวลห่วงใยอย่างแรงกล้าของเราเกี่ยวกับการที่แอปเปิลดำเนินการเซนเซอร์แอปต่างๆ รวมทั้งแอปตัวสำคัญยิ่งซึ่งพวกผู้ประท้วงใช้อยู่ในฮ่องกง ตามคำสั่งของรัฐบาลจีน”

ในเดือนพฤศจิกายน 2022 วุฒิสมาชิก โจช ฮาวลีย์ (Josh Hawley) แห่งมิสซูรี เขียนไปถึงแอปเปิล ว่า “ผมปรารถนาที่จะทราบว่าทำไมแอปเปิลจึงยังคงช่วยเหลือและสนับสนุนระบอบปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จในจีนต่อไป ... กิจกรรมต่างๆ (ของแอปเปิล) ในจีนนั้นขาดไร้ศีลธรรมจรรยา และก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างสำคัญมากต่อพวกผู้ถือหุ้นของคุณ ... ผมจึงขอรบเร้าคุณให้ดำเนินก้าวเดินที่มีความหมายเพื่อยุติการดำเนินงานในจีน และหวนกลับมาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ”

ในช่วงปลายดือนกันยายน 2024 ส.ส.จอห์น มูลีนาร์ (John Moolenaar) แห่งรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์จีนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House Select Committee on the Chinese Communist Party) เขียนจดหมายไปถึงรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกัน ลอยด์ ออสติน เกี่ยวกับสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากจอภาพแบบจอแบนของจีน ก่อนหน้านั้นในเดือนเดียวกัน แอปเปิลได้เริ่มต้นใช้จอภาพ OLED ที่ผลิตจาก บีโออี เทคโนโลยี (BOE Technology) ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่ มูลีนาร์กล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์โยงใยอยู่กับกองทัพจีน

อย่างไรก็ดี รายงานข่าวต่างๆ ที่ปรากฏออกมาในเดือนตุลาคมบ่งชี้ให้เห็นว่า คณะบริหารไบเดนกำลังพูดจากับจีนเกี่ยวกับการต่ออายุข้อตกลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน (US-China Science and Technology Agreement) ซึ่งหมดอายุลงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ฝ่ายสหรัฐฯนั้นต้องการที่จะแก้ไขเนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทว่าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีนอย่างสมบูรณ์แบบเลย

ในทางตรงกันข้าม มูลีนาร์ เชื่อว่า “เราไม่ควรส่งเสริมสนับสนุนการร่วมมือประสานงานทางวิทยาศาสตร์หรือทางเทคใดๆ ทั้งสิ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน” อารมณ์ความรู้สึกต่อต้านจีนของ มูลีสาร์ ตลอดจนนักการเมืองสหรัฐฯคนอื่นๆ จะมีผลกระทบกระเทือนต่อแอปเปิลอย่างไรหรือไม่ คงไม่น่าที่จะทราบกันจนกระทั่งภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีและเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐฯในต้นเดือนหน้าผ่านพ้นไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น