xs
xsm
sm
md
lg

แก้กฎหมายต่อเวลาคดีตากใบ ปาฏิหาริย์สร้างได้ แต่ต้องวัดใจรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



แก้กฎหมายต่อเวลาคดีตากใบ ปาฏิหาริย์สร้างได้ แต่ต้องวัดใจรัฐบาล


ในช่วงเวลาที่คดีการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ใกล้หมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม ปรากฎว่าเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเอาตัวคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาขึ้นศาลก็ยังคงดังขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าคนในรัฐบาลรับปากว่าจะดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะได้ตัวจำเลยมาขึ้นศาลแต่อย่างใด

โดยเฉพาะอย่างอย่างยิ่งกับพล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งลาออกจากการเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมกับยืนยันถึงอาการป่วยของตัวเอง แต่นั่นก็ไม่ได้มีการยืนยันว่าจะเดินทางมาขึ้นศาลก่อนคดีจะหมดอายุความแต่ประการใด

ท่าทีของรัฐบาลล่าสุดต่อกรณีที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะไม่แสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังในการเอาตัวผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่กลับเรียกร้องให้สังคมอย่ามองรัฐบาลในแง่ร้าย

"รู้สึกไม่สบายใจ ที่มีการหยิบยกเอาคดีตากใบขึ้นมาโทษรัฐบาลนี้ ว่าเป็นผู้ร้าย แต่เราเข้าใจถึงความเจ็บปวด ความเสียหายของญาติทั้งหมด ไม่ควรที่จะมากล่าวหารัฐบาลหรือกล่าวหานายกรัฐมนตรี ว่ารู้เห็นเป็นใจ เพราะเรื่องนี้เกิดเมื่อ 20 ปีก่อน เพราะฉะนั้นไม่อยากให้มองคดีตากใบในประเด็นจุดเดียว" ท่าทีจาก ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เริ่มมีการจุดประเด็นในการแก้ไขกฎหมายเพื่อยืดอายุความของคดี เช่น ข้อเสนอของอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแสดงความคิดเห็นผ่านวงเสวนาวิชาการ ‘คดีอาญาตากใบขาดอายุความ: ความรับผิดชอบใคร จะดำเนินคดีต่อได้หรือไม่’ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า หากต้องแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ว่าด้วยเรื่องอายุความให้ทันอายุความคดีตากใบ ต้องให้รัฐบาลอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เพื่อตราพระราชกำหนด ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ทันที

เช่นเดียวกับอาจารย์ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายอาญาว่า หากผู้กระทำผิดหลบหนี ช่วงเวลานั้นไม่ควรถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และควรให้อายุความสะดุดหยุดลง เพื่อที่จะตามจับผู้ต้องหา หรือดำเนินกระบวนการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเกิดขึ้น เพื่อความจริงจะได้ปรากฏตามกระบวนการทางกฎหมาย หากทำผิดต้องรับโทษ หากไม่ผิดก็ไม่ต้องรับโทษ

จากข้อเสนอและกระแสเรียกร้องที่เกิดขึ้นนั้นด้านหนึ่งอาจเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ทั้งในแง่ของการตราพระราชกำหนด ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยตรง หรือ เสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยขึ้นอยู่กับมุมมองและความจริงใจของรัฐบาลเป็นสำคัญ

หากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วให้ทันกับสถานการณ์ก็สามารถออกพระราชกำหนดได้เลย แม้จะมีช่องให้ส.ส. หรือ ส.ว.เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนด แต่ในยามนี้หากมีส.ส.หรือส.ว.หิวแสงขึ้นมา ก็ต้องบอกว่าคนนั้นไม่อาจเรียกตัวเองว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้อีกต่อไป

เช่นกันกับการเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติเข้าสภาฯ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรง อาจเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะต้องผ่านทั้งสภาฯและวุฒิสภา แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรงที่จะใช้พลังในทางการเมืองเพื่อสร้างเส้นทางลัด อีกทั้งเรื่องการแก้ไขอายุความในทางทฤษฎีกฎหมาย ต่อให้มีการแก้ไขกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง ก็ไม่ได้เป็นลักษณะของการแก้ไขย้อนหลังที่ให้ร้ายแก่บุคคล เนื่องจากอายุความไม่ใช่กฎหมายสารบัญญัติ

ที่สำคัญการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเรื่องอายุความการดำเนินคดีนั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย เพราะสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านมาก็เคยตรากฎหมายเพื่อให้อายุความคดีทุจริตสะดุดหยุดลงระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดีมาแล้ว ดังที่ปรากฎให้เห็นในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ถึงที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการวางอิฐก้อนแรกในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในดินแดนด้ามขวานอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
กำลังโหลดความคิดเห็น