xs
xsm
sm
md
lg

นักข่าวเก่าดึงสติคดี “ดิไอคอน” ชี้ไม่ควรเอาความรู้สึกโกรธ หมั่นไส้ เข้าไปปนกับข้อเท็จจริงในข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สรกล อดุลยานนท์ นักคิด นักเขียนดึงสติชาวเน็ต ชี้คดีดิไอคอนต้องแยกแยะข้อเท็จจริงกับความรู้สึก แนะสื่อทำงานต้องอยู่บนข้อเท็จจริง อย่าให้หลักการของความเป็นสื่อสั่นไหว

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “หนุ่มเมืองจันท์“ หรือ สรกล อดุลยานนท์ นักคิด-นักเขียน ได้ออกมาโพสต์ข้อความดึงสติชาวเน็ตประเด็นเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ “บอสพอล” เป็นจำนวนมากในขณะนี้ เจ้าตัวชี้ คดี “ดิไอคอน” ต้องแยกข้อเท็จจริง กับ ความรู้สึก โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า

”ตอนนี้ข่าว “บอสพอล” เริ่มไปไกลมาก จนต้องตั้งสตินิดหนึ่งว่าแต่ละเรื่องราวมี “ความเป็นไปได้“ แค่ไหน

”พอล“ นั้นคง ”ผิด“ แน่ๆ แต่ ”ผิด“ แค่ไหน ระดับไหน ผู้ต้องหาคนอื่นๆ ก็เช่นกัน

เรื่องนี้เราคงต้องแยกระหว่าง ”ข้อเท็จจริง“ กับ ”ความรู้สึก“ ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่าข่าวนี้ทำให้คนติดตามข่าวรู้สึกโกรธแค้น ไม่พอใจ เพราะมีคนฆ่าตัวตายจากการโดนขายฝันให้ “เปิดบิล” มีคนที่เอาเงินเก็บยามชรา กดบัตรเครดิต ฯลฯ มาลงทุนด้วยคิดว่าจะเป็นรายได้แบบ Passive income ฯลฯ

ผมอ่านข่าวแล้วยังเศร้าเลยครับ นอกจาก ”ความโกรธ” แล้ว เรื่องราวของข่าวนี้ยังทำให้คนรู้สึก “หมั่นไส้” เยอะมาก เพราะพฤติกรรมของ “บอส” ทั้งหลายที่ “อวดรวย” แบบไร้กาลเทศะ ทำตัวเวอร์วังอลังการ ทั้งรถ ทั้งนาฬิกา ทั้งเสื้อผ้าแบรนด์เนม เพื่อสร้างฝันให้คนฝันตาม
มันน่าหมั่นไส้จริงๆ ครับ แต่กระแสตอนนี้ เป็นการผสม ”ความรู้สึก“ โกรธ+หมั่นไส้ เข้าไปกับ ”ข้อเท็จจริง“ ในข่าว พอเราเกลียดใคร เรามักจะเชื่อข้อมูลที่ตรงกับความรู้สึกของเราเองง่าย “การเมือง” เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ถ้าเกลียดใคร คนนั้นทำอะไรก็เลวไปหมด

เคยมีกรณีศึกษาเรื่องหนึ่ง คือคดี “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ที่กระแสความโกรธและความเกลียดแรงมากในช่วงที่เป็นข่าว เพราะทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยอย่างมาก แต่จากเรื่องการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวจีนกลายเป็นข้อหาหนักถึงขั้นอั้งยี่ ฟอกเงิน ฯลฯ
“บิ๊กโจ๊ก” ที่ยิ่งใหญ่มากในยุค “ลุงป้อม” เป็นคนดูแลคดีนี้

สุดท้ายศาลยกฟ้องทั้ง 3 ศาล เหลือแค่ผิดพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว ”ทัวร์ศูนย์เหรียญ“ นั้นผิดจริง และทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยเสียหาย แต่ระดับของความผิดไม่ได้ร้ายแรงเหมือนกับข่าวในช่วงนั้น

คดี ”ดิ ไอคอน“ ในวันนี้ก็คล้ายกันในเรื่อง “ความรู้สึก+ข้อเท็จจริง” จากคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่” เริ่มพัฒนาเป็น “ฉ้อโกง” และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กันนั้นรายละเอียดข่าวคนที่ถูกหลอกไปลงทุนใน “ดิ ไอคอน” ซึ่งเป็น “เรื่องจริง” ก็สะเทือนใจขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน “ความรู้สึก” กับ “ข้อเท็จจริง” เริ่มผสมผสานกันถ้าข่าว “บอสพอล” เป็น ”ระเบิด“ตอนนี้สะเก็ดระเบิดเริ่มกระจัดกระจายขยายวงจนควบคุมทิศทางและพัฒนาไปสู่เกม ”การเมือง“ เรื่อง “เทวดา” บ้านป่าราวกับว่า “กรรมเก่า” จะเริ่มทำงาน

ล่าสุดที่มีข่าวแฉเบื้องหลังคดีนี้ ตอนแรกก็ตื่นตาตื่นใจ เพราะมีการเปิดตัวคนอยู่เบื้องหลัง “พอล” และจำนวนสมาชิกที่แท้จริง แต่พอถึงขั้นจ่ายเงินใต้โต๊ะเป็น 10,000 ล้านบาท ชักเริ่มแปร่งๆ เพราะถ้าใจนิ่งๆ และคิดโดยใช้ตรรกะระดับธรรมดาทั่วไป
“ความเป็นไปได้” ต่ำมากเลยครับ ขนาดพนันออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์หรือค้ายาเสพติดที่เป็นคดีที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ธุรกิจที่ “ดำสนิท” เขายังไม่จ่ายใต้โต๊ะกันขนาดนี้เลย คดีนี้ยังออก “เทาๆ” ไม่น่าจะจ่ายกันถึงหมื่นล้านแน่นอน ที่สำคัญก็คือ ธุรกิจสีเทาหรือสีดำที่ยอมจ่ายใต้โต๊ะหมื่นล้าน ต้องมีกำไรเท่าไรถึงกล้าจ่ายใต้โต๊ะมากขนาดนี้ อย่างน้อยต้องมีกำไรไม่ต่ำกว่าแสนล้าน ธุรกิจที่มีกำไรระดับนี้ต้องใหญ่มาก ระดับ ปตท.

“ดิ ไอคอน” ไม่น่าจะมีกำไรมากขนาดนั้น หรือความซับซ้อนของการฟอกเงิน มีข่าวว่า ”บอสพอล“ เปลี่ยนเงินสดไปฟอกเป็นเงินดิจิทัลโดยใช้ ”กลุ่มทุนจีนสีเทา“ เป็นคนกลาง การพูดถึง “จีนสีเทา” ทำให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ ซับซ้อนระดับอาชญากรรมข้ามชาติ แต่เรื่องนี้มีเครื่องหมายคำถามเยอะทีเดียวครับ หรือการโอนเงิน 8,000 กว่าล้าน เป็นเงินดิจิทัลก่อนถูกจับ คนในวงการก็มีการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้เช่นกัน สื่อหลายสำนักจึงทั้งรายงานข่าวและตรวจสอบข่าวนี้ด้วย ครับ ข่าวกระแสแรงๆ แบบนี้ต้องใช้หลักกาลามสูตรมากๆ ประเมินความเป็นไปได้ดีๆ อย่าเชื่ออะไรเร็วเกินไปครับ

ในวันที่โซเชียลมีเดียทรงพลังมากอย่างในวันนี้ทำให้สื่อทำงานยากขึ้น น่าเห็นใจมากครับ
เพราะข่าวมาทุกทิศทาง กรณี "ดิ ไอคอน" นั้น "ผิด" แน่นอน “ผิด” คือ “ผิด” แต่ “ระดับ” ของ “ความผิด” ต้องยืนอยู่บน “ข้อเท็จจริง“ อย่ารีบโดยไม่ประเมินน้ำหนักของความผิด เราต้องระวังอย่าให้ ”เสียง” ของ “ความรู้สึก” ทำให้ ”หลักการ“ ของการเป็น ”สื่อ“ สูญเสียไป ถ้าหลักการมั่นคง เราจะไม่สั่นไหว
ถือเป็นการตั้งข้อสังเกต ตามประสานักข่าวเก่าครับ“
กำลังโหลดความคิดเห็น