xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อดินโคลนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ถล่ม ระบุได้รับการช่วยเหลือระดับหนึ่ง ขณะบางรายกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง จังหวัดจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ 13 ชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผ่านมาเกือบ 2 เดือน เหยื่อดินโคลนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ถล่ม เผยได้รับการเยียวยาแค่บางส่วน ในขณะที่บ้าน – ห้องเช่า เสียหายเกือบ 20 หลัง ขณะผู้บาดเจ็บบางราย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ด้านจังหวัด ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้


จากกรณีเกิดเหตุดินโคลนจากเทือกเขานาคเกิด หมู่ 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ถล่ม เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งมีทั้งคนไทย ชาวต่างชาติ และ แรงงานต่างด้าว เสียชีวิต 13 ราย บ้านเรือนประชาชน ห้องเช่า บ้านเช่น ได้บริเวณ ปฏัก วอย 8 และ พื้นที่อื่นๆ ใน ต.กะรน ได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 10 ราย ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์ ดังกล่าวผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือน วันนี้ ( 15 ตุลาคม 2567) เวลา 09.30 น. จังหวัดภูเก็ต โดยอำเภอเมืองภูเก็ตร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลตำบลกะรน และ ประชาชน ในพื้นที่ ต.กะรน ได้จัดทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าว ณ ปฏัก ซอย 8 ( หลังวัดกะตะ)


โดยมี พระครูสุวรรณธรรมวินิจ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีเขต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีผู้เข้าร่วมพิธี อาทิ นายสุวิทย์ สุริยะวงค์ ปลัดจังหวัดภูเก็ต, นายวรศิษฐ์ พุฒจีบ นายอำเภอเมืองภูเก็ต, นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต, นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต, ข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เพื่อร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว เข้าร่วม


อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จพิธี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ไปเยี่ยมและมอบกระเช้าเพื่อให้กำลังใจแก่ นายสมรส ถิรพิทยาพิทักษ์ หรือ ตาไข่ อายุ 83 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 2 ตำบลกะรน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ซึ่งต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล นานกว่า 1 เดือน และ ขณะนี้ต้องกลายผู้ป่วยติดเตียง


โดย นายนิค ซึ่งเป็นหลานชาย นายสมรส และ เป็นหนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของการช่วยเหลือ ทางผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้รับการช่วยเหลือในส่วนของเครื่องครัว มาบางส่วน ซึ่งนับว่าได้มาเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่เสียหาย ซึ่งบริเวณบ้านจุดที่เกิดเหตุเฉพาะในส่วนของครอบครัวตนก็มีห้องเช่นได้รับความเสียหาย 15 ห้อง และ 4 หลัง ส่วนการช่วยเหลืออื่น ๆ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. ซึ่งตนก็เข้าในในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ


แต่สิ่งที่ชาวบ้านหวังตอนนี้คือเรื่องของการดำเนินคดี กับคนที่เป็นสาเหตุของดินโคลนถล่ม ซึ่งทางชาวบ้าน และทนายได้รวบรวบพยานหลักฐาน เพื่อแจ้งความดำเนินคดี เพื่อเรียกความเสียหายกับคนที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งทางทีมทนายได้ดำเนินการไปบางส่วน มั่นใจว่าหลักฐานที่มีน่าจะเอาผิดได้ ว่าต้นต่อเกิดจากใหนอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางทนายที่ได้รับมอบหมาย


นายนิค ยังได้กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่แม้เวลาจะผ่านมานานเกือบ 2 เดือน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังอยู่ในอาการผวา ทุกครั้งที่มีในตกลงมาไม่มีใครนอนหลับสนิท ทุกคนจะตื่นขึ้นมาดูน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าดินจะถล่มลงมาซ้ำ เพราะปัจจุบันน้ำที่ไหลลงมาไม่ได้ไหลลงคลอง แต่ไหลลงมาบนถนน เพราะคลองและคูระบายน้ำถูกปิดด้วยหินและดิน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไปปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด


ด้านนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติในจังหวัดภูเก็ ตว่า การฟื้นฟูสถานที่หลังเกิดเหตุได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการเยียวยาประชาชนและขณะนี้อยู่ในมาตรการของการเยียวยาตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ครัวเรือนละ 9,000 บาท และ การฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยดีในวันนี้ก็ได้มีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับญาติผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัยในพื้นที่เพื่อให้มีกำลังใจในการยืนหยัดต่อไป


ส่วนมาตรการในการป้องกันภัย จังหวัดภูเก็ต ได้แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณีโดยมีการออกแบบ และการสนับสนุนข้อมูลด้านวิศวกรรมเพื่อป้องกันภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 8 ร่อง ของจังหวัดภูเก็ตโดยแต่ละพื้นที่จะใช้หลักวิศวกรรมและนำความลาดชันของชั้นดินและหินมาออกแบบ


ในส่วนของการเตือนภัย ในพื้นที่ตำบลกะรน ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วม กับ มูลนิธิมดชนะภัย ได้มามอบเรื่องเตือนภัย ให้กับพื้นที่กะรน เป็นการเบื้องต้นจำนวน 10 เครื่อง นอกจากนี้ในส่วนของจังหวัดภูเก็ ตที่ผ่านมาได้มอบกระบอกวัดปริมาณน้ำฝนไปแล้วทั้ง 30 หมู่บ้าน ซึ่งก็สามารถใช้ ได้ผลดี เมื่อมีน้ำฝนปริมาณ 150 มิลลิเมตร ผู้นำชุมชนกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่จะแจ้งเตือนประชาชน และ จะต้องมีการอพยพประชาชนในพื้นที่ไปอยู่ที่ปลอดภัย


ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการตรวจสอบสาเหตุของการเกิดดินโคลนถล่ม จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ดำเนินการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณี โดยปัจจัย ที่มีผลทำให้เกิดเหตุดินถล่ม มี 2 ปัจจัย คือ อายุของชั้นดินและหิน ที่มีอายุกว่า 90 ปี ทำให้เกิดการผุกร่อน และ ปัจจัยที่เกิดจากปริมาณฝนตกสะสม ในปริมาณมาก ทำให้ดินอุ้มน้ำไม่ไหว จนถล่มลงมาก โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้วางแผนการป้องกันทั้งแผนระยะสั้นระยะกลางและระยะยาวเพื่อป้องกันภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น