xs
xsm
sm
md
lg

ลดดอกเบี้ยเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ตลาด(อาจ)ยังมีความท้าทายที่รออยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โดย ​คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
​ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เป็นขาขึ้นและทรงตัวในระดับสูงมาราว 2 ปี จนกระทั่งการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา Fed มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกถึง 50bps เพื่อลดความเสี่ยงของภาคแรงงานที่ชะลอตัวลง และประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะ Soft Landing ซึ่งการลดดอกเบี้ยของ Fed ครั้งนี้ มองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับธนาคารกลางในประเทศอื่น ๆ เริ่มพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ โดยสภาวการณ์ส่วนใหญ่แล้ว หลัง Fed ปรับลดดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจไม่เกิดภาวะถดถอย ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม การปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้ ตลาดหุ้นอาจยังต้องเผชิญความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นหลายตลาดยังคงปรับตัวขึ้นได้ดี แม้ว่าดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงก็ตาม

3 ความท้าทายที่ตลาดหุ้น(อาจ)ต้องเผชิญ
ความท้าทายแรก คือ มูลค่าตลาดหุ้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันดัชนี S&P 500 ซื้อขายบนระดับ 12-month Forward P/E Ratio ที่ราว +1.7SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งเป็นมูลค่าตลาดที่ค่อนข้างแพง อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงขึ้นและมีความเสี่ยงในการปรับฐาน เมื่อมีข่าวเชิงลบหรือความกังวลเข้ามากดดันตลาด ทั้งนี้ จากการที่เริ่มเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ทำให้มองได้ว่าจะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนลดลง ส่งผลให้กำไรมีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้น สอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุน อีกทั้ง เมื่อมีการปรับลดดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสดในอนาคต (Future Cash Flows) เพิ่มขึ้น เมื่อใช้อัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ลดลงในการคำนวณ จะทำให้มูลค่าหุ้นที่ประเมินได้สูงขึ้น จึงมีโอกาสที่มูลค่าตลาดหุ้นจะปรับลดระดับความแพงลงในระยะถัดไป หากแต่มูลค่าตลาดหุ้นจะลดระดับความแพงลงได้หรือไม่ ยังเป็นความท้าทายที่รอการพิสูจน์ด้วยการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนอีกครั้งหลังการปรับลดดอกเบี้ย

ความท้าทายที่สอง คือ ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังสามารถเติบโตได้ในระดับสูงหรือไม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากสำหรับช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ปัจจัยหนุนหลักจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จากกระแส AI Boom ดังนั้น หากประเมินเบื้องต้นแล้ว การปรับลดดอกเบี้ยซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงินของบริษัท น่าจะส่งผลดีต่อบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตสูงและมักมีความอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีช่วงที่ผ่านมา ได้แบกรับความคาดหวังของนักลงทุนต่อการเติบโตในอนาคตของหุ้นกลุ่มนี้ไว้ค่อนข้างมาก สะท้อนจาก Bloomberg Consensus ที่คาดการณ์การเติบโตของกำไรในดัชนี PHLX Semiconductor Sector (SOX) ที่เป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ว่าจะขยายตัว 15% ในปีนี้ และปีหน้าก็คาดการณ์ว่าจะขยายตัวสูงถึง 41% ดังนั้น ความท้าทายสำคัญ คือ ความสอดคล้องกันระหว่างการเติบโตของกำไรในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI และความคาดหวังที่สูงของนักลงทุน โดยต้องติดตามว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องนี้ยังมีการลงทุน หรือ เพิ่มงบ CAPEX ในส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI อยู่ในระดับสูงหรือไม่ หลังจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 งบ CAPEX โดยรวม ของ 4 บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ได้แก่ Microsoft, Alphabet (หรือ Google), Amazon และ Meta (หรือ Facebook) เพิ่มขึ้นมากถึง 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 1 แสนล้านเหรียญฯ (คาดว่า ส่วนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ น่าจะเกี่ยวข้องกับการลงทุนด้าน AI) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลของการนำเอาเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตให้กับบริษัท และผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมต่อไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งถือเป็นความท้าทายของราคาหุ้นกลุ่มนี้ในอนาคต

ความท้าทายประการสุดท้าย คือ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันระหว่างผู้สมัครจากทั้ง 2 พรรคคู่คี่ที่สูสีกันมาก ยากจะประเมินได้ว่าพรรคใดจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แน่นอนว่า ผลของการเลือกตั้งจะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ เพราะแนวทางของทั้ง 2 พรรคมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะด้านภาษีและการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จากสถิติในอดีต ดัชนีหุ้นโลก (MSCI ACWI) และ ดัชนี S&P500 มักปรับตัวขึ้นได้ดีหลังการเลือกตั้ง และมักปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าเล็กน้อย หากพรรคริพับลิกันชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากนโยบายของพรรคริพับลิกัน มุ่งเน้นการลดภาษีเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผลบวกต่อการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน ขณะที่นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของพรรคริพับลิกันก็จะมีการขึ้นภาษีนำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศจีน ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ (MSCI EM) มักมีแนวโน้มปรับตัวลงในช่วงประมาณ 1-2 เดือน หลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง-ยาวจากนี้ ยังคงต้องติดตามนโยบายการบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง หากมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากเกินไป อาจมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ Fed เริ่มปรับลดดอกเบี้ย

... แล้วนักลงทุนควรเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายนี้อย่างไร?
ตลาดหุ้นโลกมีความไม่แน่นอนจากความท้าทายที่กล่าวไว้ในข้างต้น เพราะฉะนั้นแล้ว นักลงทุนต้องมีการวางแผนที่ดีและเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การจัดพอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ประเทศหรือภูมิภาคที่แตกต่างกัน รวมทั้งแบ่งลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินทรัพย์ทางเลือก ในพอร์ตอย่างเหมาะสม โดยให้สอดคล้องกับบริบทหรือสภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจากสถานการณ์ตลาดปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนจำเป็นต้องเลือกเฟ้นสินทรัพย์ในการลงทุน (Selective) มากขึ้น เช่น การเลือกลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ (Low Volatility) และมีคุณภาพสูง (Quality) คือ มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในระดับสูง ผลประกอบการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่มีเสถียรภาพ อัตราส่วนการกู้ยืม (Financial Leverage) อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งมีความทนทานต่อความผันผวนของตลาดได้ดี เพราะเมื่อตลาดเป็นขาลง หุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสปรับตัวลงน้อยกว่าภาวะตลาดโดยรวม ขณะที่ช่วงตลาดเป็นขาขึ้น ก็คาดว่าหุ้นกลุ่มนี้จะมีโอกาสและความสามารถที่จะปรับตัวขึ้นใกล้เคียงกับภาวะตลาดโดยรวมได้เช่นกัน จึงทำให้เป็นตัวช่วยบาลานซ์ความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้อย่างดี
---------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น