xs
xsm
sm
md
lg

ทช.ปักธงประมูลสะพาน”สงขลา & เกาะลันตา”พ.ค. 68 สรุปแผน”อนุรักษ์โลมาอิรวดี-เงินกู้”ลุยก่อสร้าง 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ทช.เผยเคลียร์แผนอนุรักษ์และฟื้นฟู ฝูงโลมาอิรวดี และเงินกู้จบแล้ว เตรียมชงครม.เคาะโปรเจ็กต์”สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา & เกาะลันตา"มูลค่ารวมกว่า 6.69 พันล้านบาท คาดเปิดประมูลพ.ค. 2568 ก่อสร้าง 3 ปี

นายมนตรีเดชาสกุลสมอธิบดีกรมทางหลวงชนบทเปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และ โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ว่า จากที่ทช.ได้ หารือร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อหาแนวทางดำเนินการร่วมกันในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และขยายพันธุ์โลมาอิรวดี รวมถึงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา สำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ได้ข้อสรุปแล้ว ซึ่งเหลือเพียงการตั้งงบประมาณในการอนุรักษ์ วงเงินประมาณ 430 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรฯ จะเป็นผู้ดำเนินการ และจะต้องหารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)ด้วย เนื่องจาก รูปแบบการดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการสะพานฯ โดยใช้เงินกู้จากธนาคารโลก ร่วมกับ งบประมาณ


คาดว่าทั้ง 2 โครงการ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติเรื่องเงินกู้และเปิดประมูลได้ภายในปี 2567 ตามแผนงานจะเปิดประมูลได้ในเดือนพ.ค. 2568 ได้ตัวผู้รับจ้างกลางเดือน ก.ค. 2568 และลงนามสัญญากับผู้รับจ้างในเดือน ส.ค. 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

“ หลังได้ข้อสรุป กับกระทรวงทรัพยากรฯ และหารือกับสำนักงบประมาณเรียบร้อย จะเสนอครม.ขออนุมัติโครงการ เพื่อเปิดประกวดราคานานาชาติ (International Competitive Bidding) เนื่องจากโครงการใช้ แหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณสัดส่วน 70:30 “


โดย มติครม.​ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 อนุมัติในหลักการ โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง วงเงิน 4,841 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 4,700 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 141 ล้านบาท โดยในส่วนของค่าก่อสร้าง 4,700 ล้านบาท โดย ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็น 70:30 สัดส่วนเงินกู้คิดเป็นวงเงิน 3,290 ล้านบาท และสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 1,410 ล้านบาท

สะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทาง 7 กม. ช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่าง อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ถึง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 ก.ม. เป็น 7 ก.ม. และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 15 นาที สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน - อ่าวไทย และเชื่อม 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา รวมถึง ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทาง และหากเกิดภัยพิบัติจะสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว


ส่วนโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ วงเงินรวม 1,854 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 54 ล้านบาท โดยในส่วนของวงเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณ 70:30 คิดเป็นเงินกู้วงเงิน 1,260 ล้านบาท และสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 540 ล้านบาท

แนวเส้นทางโครงการจะเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 (กม.ที่ 26+620) ตำบลเกาะกลาง ไปบรรจบกับทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ตำบลเกาะลันตาน้อย ระยะทางรวม 2,240 เมตร โดยออกแบบก่อสร้างสะพาน ผสมผสานระหว่างสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่งรวมระยะทาง 415 เมตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทาง จากการเดินทางด้วยแพขนานยนต์ซึ่งจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง มาใช้สะพานจะลดเวลาเหลือเพียง 2 นาที ช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง จากเกาะลันตาสู่แผ่นดินใหญ่ ให้เกิดความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น