xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาไฟไหม้รถบัส ต้นตอจากนโยบายรัฐ เอื้อประโยชน์ทุนพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปัญหาไฟไหม้รถบัส ต้นตอจากนโยบายรัฐ เอื้อประโยชน์ทุนพลังงาน

หากจะมีประเด็นให้พูดถึงอยู่บ้างสำหรับกรณีรถบัสเพลิงไหม้ที่คร่าครูและเด็กนักเรียนไปมากกว่า 20 ชีวิต นอกเหนือไปจากเรื่องคดีความแล้วนั้นน่าจะเป็นมาตรกระบวนการล้อมคอกของหน่วยงานภาครัฐ ที่เวลาดูเหมือนว่ากำลังจะใกล้เป็นปรากฎการณ์ไฟไหม้ฟางมากขึ้นไปทุกที

โดยจากที่เคยขึงขังประกาศโรดแมปจัดระเบียบรถโดยสารขับเคลื่อนพลังก๊าซของ 'สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ' รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปรากฎว่าความขึงขังที่เคยมีนั้นกำลังมีแนวโน้มไปสู่การหย่อนยานมากขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แก่นแท้ของปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ความประมาทของเจ้าของรถบัสต้นเหตุแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่านโยบายของภาครัฐในภาพใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนให้รถโดยสารใช้ก๊าซ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาไม่ต่างกัน โดยในเรื่องนี้มีการแสดงความคิดเห็นและให้แง่มุมมาจาก หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ

โดยนักวิชาการด้านพลังงานรายนี้ เป็นคนแรกๆที่ออกมาฉายภาพของปัญหาผ่านเฟซบุ๊กตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า เนื่องจากรัฐมุ่งโปรโมตขายก๊าซ NGV ใช้ในรถขนส่งผู้โดยสาร จนชะล่าใจ วางมาตรฐานความปลอดภัยต่ำ โดยเฉพาะมาตรฐานวาล์วที่หัวถังอันตรายมาก ดังนั้นการโยนความผิดให้เอกชนฝ่ายเดียวจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก่อนอื่นเลยเราต้องเข้าใจว่า หลายประเทศในทวีปยุโรป นั้นใช้ก๊าซในยานยนต์มานานก่อนประเทศไทย ได้มีบทเรียนและสร้างมาตรฐานยุโรป ที่เรียกว่า ECE R110 ซึ่งกำหนดว่า ยานพาหนะที่ติดก๊าซ NGV ทุกชนิด จะต้องใช้วาล์วที่ต้องปิดเปิดอัตโนมัติด้วยระบบไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า โซลินอยด์ วาล์ว และเมื่อเกิดเหตุก๊าซรั่ว หรือปิดเครื่องยนต์ หรือใช้น้ำมัน จะต้องปิดวาล์ทันทีแบบอัตโนมัติ ซึ่งช้าสุดต้องไม่เกิน 2 วินาที

มาตรฐานการติดตั้งก๊าซ LPG ในยานยนต์ของประเทศไทยนั้น ได้ปรากฏเป็นประกาศกรมขนส่งทางบก ลงประกาศราชกิจจานุเบกษามีมาตั้งแต่ วันที่ 17 ธันวาคม 2551 กำหนดให้รถที่ติดก๊าซ LPG ใช้ “ลิ้นปิดเปิดอัตโนมัติ” ที่หัวถัง หากก๊าซรั่วแม้แต่เพียงเล็กน้อย หากสลับใช้น้ำมัน และหากดับเครื่องยนต์ วาล์วโซลินอยด์จะปิดอัตโนมัติทันที แต่การติดก๊าซ NGV ในยานยนต์ของประเทศไทยนั้น กลับเป็นเรื่องแปลกประหลาด

เพราะได้มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยต่ำกว่ายุโรป และต่ำกว่าก๊าซ LPG ด้วย คือ กำหนดให้ผู้ติดตั้งก๊าซ NGV ในยานยนต์เลือกได้ ว่าจะใช้วาล์วแบบไหนก็คือ จะเป็น “วาล์วแบบอัตโนมัติ” ก็ได้ หรือจะเป็น “วาล์วแบบใช้มือปิดเปิด” ก็ได้

"เมื่อกำหนดให้เลือกได้ว่าจะให้มีมาตรฐานความปลอดภัยปิดเปิดแก๊สอัตโนมัติตามแบบยุโรปก็ได้ หรือจะเป็นวาล์วที่ใช้มือปิดเปิดก็ได้ ผู้ติดตั้งก๊าซ NGV ในเมืองไทย ส่วนใหญ่จึงเลือก “วาล์วอัตโนมือ - ที่ใช้มือปิดเปิด” เกือบทั้งหมด เพราะ ถูกกว่า-ประหยัดกว่า และภาครัฐอนุญาตให้ทำอย่างนั้น" ประเด็นสำคัญที่หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ ชี้ให้เห็น

ไม่เพียงเท่านี้ นโยบายดังกล่าวยังได้มาซึ่งความอู้ฟู่อของปตท.อีกด้วยภายใต้แผนการขยายการใช้ NGV เพื่อเป็นทางเลือกเชื้อเพลิงในภาคขนส่งในปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้น โดยเป็นสารตั้งต้นที่นำมาซึ่งการส่งเสริมการใช้ก๊าซNGVครั้งใหญ่

โดยหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ อธิบายในประเด็นนี้ว่า สามารถทำให้รัฐบาลมีมาตรการสั่งไปได้หลายกระทรวง รวมถึงมาตรการบังคับ ให้ยานยนต์ขนส่งมวลชน ให้มาติดก๊าซ NGV ให้หมด คือ แท็กซี่ในกรุงเทพ, รถให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ, รถเมล์, รถบขส., รถตู้โดยสาร, รถบัส, รถเก็บขยะใน กทม., รถของหน่วยราชการ, รถของรัฐวิสากิจ ปตท. และรัฐบาลถึงขนาดประชาสัมพันธ์ว่า ก๊าซ NGV ทนความร้อนได้สูงกว่า ก๊าซลอยตัวขึ้นสูงจึงปลอดภัยกว่า ทำให้คนหลงเชื่อผิด ๆ และอยากติดก๊าซ NGV มากขึ้น

ไม่รู้เหมือนกันว่าข้อคิดเห็นของหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ ซึ่งมีความน่าสนใจและชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหานั้นจะไปถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลหรือไม่ในยามที่เรื่องนี้กำลังจะเลือนหายไปจากสังคม หรือบางทีอาจจะไปถึงโต๊ะของรัฐมนตรี แต่ก็ถูกโยนทิ้งเพราะมองว่าเป็นข้อเสนอจากคนของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นคู่แข่งในทางการเมืองเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น