จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ได้เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยเป็นร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งวัตถุประสงค์ ในการออกกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางรางนี้ เพื่อควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางของประเทศ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและการบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ
@เปิดรายละเอียดร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯฉบับของรัฐบาล
โดย ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ฉบับผ่านครม. วันที่ 8 ต.ค. 2567 มี 10 หมวด165 มาตรา สาระสำคัญ กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โครงการของหน่วยงานรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางรางและแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง
กําหนดให้มีการจัดทำโครงการขนส่งทางรางประกอบด้วย
1.การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางรางเพื่อประโยชน์ ในการกำหนดแนวเส้นทางเพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง
2. การเสนอโครงการการขนส่งทางราง โดยแยกเป็นกรณีรถไฟและรถไฟฟ้า ให้จัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานผล การศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการ และกรณีรถรางให้จัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการ เสนอต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบแล้วเสนอต่อคณะกรรมการ โดยโครงการใดที่มีเอกชนร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
3.การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือ ก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาการขนส่งทางราง กำหนดเขตระบบรถขนส่งทาง รางและเขตปลอดภัยระบบขนส่งทางรางโดยกำหนดเงื่อนไขการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ในเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง รวมทั้งกำหนดข้อห้ามกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือเป็นอุปสรรค ต่อการขนส่งทางราง
นอกจากนี้ ยังกำหนดประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง โดยมี 3 ประเภท ได้แก่ 1) ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง 2) ใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง และ 3) ใบอนุญาต ประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง
กำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางใน การจัดให้มีประกันความเสียหาย หน้าที่ในการแจ้งเหตุที่จะทำให้การเดินรถขนส่งทางรางหยุดชะงัก เหตุฉุกเฉิน หรืออุปสรรคต่อการขนส่งทางราง
กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง และไกล่เกลี่ยข้อ ขัดแย้งที่เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง
กําหนดให้มีคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและ อุบัติการณ์ของการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และ อุบัติการณ์
กําหนดให้มีผู้ตรวจการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางราง
กําหนดให้รถขนส่งทางรางที่จะให้ในการประกอบกิจการขนส่งทางรางต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนและกำหนด ประเภทรถขนส่งทางรางที่ไม่ต้องจดทะเบียน ได้แก่ พระราชพาหนะและรถขนส่งทางทหาร กําหนดให้ผู้ได้รับ ใบอนุญาตต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการโดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรี มีครรภ์ และเด็ก
@ดันร่างฉบับเดิมของรัฐบาลที่แล้ว เข้าครม.เพื่อความรวดเร็ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ฉบับผ่านครม. วันที่ 8 ต.ค. 2567 นี้ เป็นร่างฯ ที่ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 สมัยรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้อนุมัติหลักการไปแล้ว และเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 พิจารณาในวาระที่ 1 มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ....เห็นด้วยถึง 250 เสียง แต่ปิดสภาไปก่อน และมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่
แม้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 153 จะระบุว่า สามารถส่งร่างพ.ร.บ.ที่รอการพิจารณาค้างไว้ เสนอกลับเข้าไปเพื่อดำเนินการต่อในวาระที่ 2 โดยให้ ครม. ร้องขอไปที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายใน 60 วันนับจากวันที่มีครม.ใหม่ แต่สุดท้ายไม่ทันภายใน 60 วัน จึงต้องนำร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯกลับไปเริ่มต้นขั้นตอนเสนอครม.พิจารณา
@เพื่อไทย”ดันร่างใหม่ประกบพิจารณาในสภาฯ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่ครม.เห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 เป็นร่างฉบับเดิมที่จัดทำสมัยรัฐบาลที่แล้ว ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นร่างฯ ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ในขณะที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เอง ได้มีการปรับปรุงร่างพ.ร.บ. ขนส่งทางรางฯ ใหม่เมื่อปี 2567 แต่หากเสนอร่างพ.ร.บ. ขนส่งทางรางฯ ที่ปรับปรุงใหม่ จะต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ ต้องเสียเวลา และทำให้กฎหมายล่าช้าออกไปอีก ดังนั้นจึงเสนอพ.ร.บ. ขนส่งทางรางฯ เดิมเข้าครม.
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เพื่อความรวดเร็ว จะใช้ช่องทางสภาฯ ดำเนินการ เนื่องจากในการเสนอกฎหมายนั้น สามารถทำได้ 3 ช่องทาง คือ เสนอโดยรัฐบาล , โดยส.ส. และ โดยภาคประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทย จะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ในนามพรรคต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมวันที่ 16 ต.ค. 2567
“ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯของรัฐบาลนั้น มี 165 มาตรา ส่วนร่างฯที่พรรคเพื่อไทยเสนอมี 145 มาตรา ภาพรวมร่างฯของพรรคเพื่อไทย จะสอดคล้องกับของร่างฯของรัฐบาล แต่จะเพิ่มเติมในเรื่องการจัดตั้งกองทุน ซึ่งร่างฯของรัฐบาลไม่มี เพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์มากขึ้น และจะไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนตั๋วร่วม”นางมนพรกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯของพรรคเพื่อไทยนั้น คือ ร่างที่กรมรางได้ปรับปรุงใหม่ มี 11 หมวด 145 มาตรา ซึ่งกรมรางฯ ระบุว่า ผ่านการรับฟังข้อคิดเห็น ข้อกังวลต่างๆ จาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (สร.รฟม.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า(สร.รฟฟท.) นำมาปรับปรุง และมีการปรับแก้ถ้อยคำแล้ว
@สหภาพฯรฟท.ซัดกรมราง รวบอำนาจ ยึดกรรมสิทธิ์ขัดพ.ร.บ.การรถไฟฯ
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สหภาพ รฟท. กล่าวว่า มีหลายประเด็นที่สหภาพฯรฟท.ได้ให้ความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ไปแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไข โดยเฉพาะการให้กรมราง มีหน้าที่เกินจากการกำกับดูแล (Regulator) เช่น มีอำนาจและสิทธิในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ เรื่องกรรมสิทธิ์ ต่างๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผล และยังซ้ำซ้อนกับอำนาจของรฟท.ที่มีตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 ซึ่งกำหนดถึง ลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เหนือที่ดิน เหนือสันราง เหนือสถานี และพ.ร.บ.การรถไฟฯพ.ศ.2494
โดย ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ มีการให้อำนาจกรมราง เข้าไปสำรวจที่ดิน สำรวจโครงการทำให้ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจของรฟท. รวมไปถึงอำนาจในการอนุญาต ปักเสา พาดสาย วางท่อต่างๆ จากที่ รฟท.เจ้าของ เมื่อหน่วยงานใด จะเข้ามาทำในพื้นที่ต้องตกลงกับรฟท. กลายเป็นให้รฟท.ยินยอมแล้วไปขออนุญาต กรมราง ประเด็นเหล่านี้ กรมรางในฐานะหน่วยงานกำกับ ควรกำหนดกรอบมาตรฐานไว้ให้รฟท.ปฎิบัติ ตามอำนาจในพ.ร.บ.การรถไฟฯ 2494
อีกประเด็นที่สำคัญ คือเรื่องการขอใบอนุญาต ที่ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ กำหนดไว้ ในร่างฯที่ผ่านครม. มาตรา160 /ร่างใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ อยู่ในมาตรา 139 เรื่อง“ บรรดาอำนาจ สิทธิและประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย และกฎหมายวาด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติฉบับนี้การขนส่งทางราง พ.ศ. ....”
และร่างฯที่ผ่านครม. มาตรา161 /ร่างใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ อยู่ในมาตรา 140 “ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับให้รัฐมนตรีดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ตามพ.ร.บ.นี้ใหรฟท. และรฟม. ตามลักษณะและประเภทของการประกอบการ ขอบเขตของการให้บริการ รวมทั้งสิทธิต่าง ๆ ในการให้บริการขนส่งทางรางในความรับผิดชอบของรฟท.และรฟม.
“ข้อเท็จจริง คือ รฟท.มีพ.ร.บ.การรถไฟฯ เป็นใบอนุญาตอยู่แล้ว เนื้อหากฎหมายใหม่ เป็นการยึดอำนาจไปไว้ที่กรมราง ซึ่งไม่ถูกต้อง เท่ากับว่า พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ที่ออกมาซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่รฟท.ถือใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการจำกัดอำนาจ และสิทธิของรฟท.
และต่อไป กรมรางจะมีการออกกฎหมายลำดับรองอีก ซึ่ง รฟท.ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังไม่เห็นรายละเอียด หากกฎหมายลำดับรองออกมา โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ แล้วไปทับกับพ.ร.บ.การรถไฟฯ ก็เท่ากับรฟท. จะไม่มีอำนาจใดๆอีก”
“รฟท. และรฟม.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจหน้าที่ ปฎิบัติให้บริการ ส่วนกรมรางมีหน้าที่การกำกับ ดูแล สามารถออกเป็นมาตรฐานได้ ไม่ใช่เอาสิทธิ์ อำนาจและหน้าที่จากหน่วยงาน ไปไว้กับกรมราง และต่อไปอนาคต จะเป็นเรื่องถกเถียง ว่าเรื่องที่รฟท. รฟม.เคยทำได้ กลับเป็นอำนาจของกรมราง สหภาพฯรฟท.จะเร่งประชุมหารือ และจะไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านต่อไป”
@แถลงการณ์คัดค้าน…ย้ำต้องแก้ประเด็นสิทธิ หน้าที่”กรมราง”
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ให้อำนาจเกินกว่าการกำกับดูแลนโยบาย มีเนื้อหาแอบแฝงทำลายกิจการขนส่งสาธารณะเพื่อประชาชน
โดยแสดงจุดยืนคัดค้านร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ของรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมาการบกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนตามหลักการและเหตุผล เพื่อให้มีคณะกรรมการนโยบายขนส่งทางราง และกรมการขนส่งทางราง มีฐานะเป็นเพียงแค่หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator ) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล กำหนดนโยบายเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง มาตรฐานทางด้านความปลอดภัย มาตรฐานการให้บริการ และการกำหนดอัตราค่าบริการ เพื่อควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและการบริหารจัดการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ
แต่พบว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบทบัญญัติในหลายมาตราไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผล อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายการขนส่งทางรางมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อำนาจหน้าที่ของกรมราง บางส่วน ไม่สอดคล้องกับการเป็นหน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะการดำเนินการตามกฎหมายด้วยการจัดหาหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้กรมรางกลายเป็นผู้ประกอบกิจการ (Operator) เสียเอง
กำหนดหน้าที่ ขัดแย้งทำให้เกิดการโต้แย้งกับบรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่หน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะในการประกอบกิจการขนส่งทางราง เช่น รฟท. และ รฟม. และมีบางหมวด บางมาตรา ที่มีความหมายมากกว่าการกำกับดูแล มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนการดำเนินการโดยรัฐให้เป็นเอกชน โดยอ้างถึงการอนุญาตให้เอกชนสามารถเข้ามาประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางรางในเส้นทางที่มีความจุทางเหลืออยู่ได้ การกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นหน่วยงานรัฐต้องยินยอมให้มีการเชื่อมต่อระบบรางเพื่อการขนส่ง การจัดสรรเวลาในการเดินรถขนส่งทางรางให้เอกชน
“ซึ่งสุดท้ายก็คือการแปรรูปกิจการของรัฐให้ไปเป็นของเอกชนในอนาคตอย่างแน่นอน”
โดยการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของ สร.รฟท. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 มีมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกันในการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... เนื่องจากมีเนื้อหาขัดแย้งกับหลักการและเหตุผล ไม่ได้ทำหน้าที่แค่กำกับดูแลเพียงอย่างเดียว และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เรื่องของการตรากฎหมาย ในมาตรา 77 บัญญัติว่า...“ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการ ตรากฎหมายทุกขั้นตอน” โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) อย่างทั่วถึงและรอบด้าน
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีผลกระทบต่อประโยชน์ของสังคมและประชาชน แต่ไม่ปรากฎว่ามีการนำความเห็นของหน่วยงานที่เสนอมาปรับแก้ไขและมีเนื้อหาสาระสำคัญ ที่กระทบโดยตรงต่อหน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางในประเด็นอำนาจการจัดการ สิทธิ หน้าที่....ถึงแม้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีหนังสือให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในเรื่องผลกระทบในการทำหน้าที่ รวมถึงผลสรุปการรับฟังความเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบในส่วนของความเห็นที่ “ไม่เห็นด้วย” กับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกร่างกับไม่ได้สนใจนำข้อมูลดังกล่าวไปปรับแก้ไขให้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ....ให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของกฎหมายแต่อย่างใด