xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมไวน์จีนค้นหาองุ่นลูกผสมปรับตัวได้กับสภาวะโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นักวิทยาศาสตร์จีนกำลังนำพันธุศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาแก้ไขปัญหาท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไวน์ - ภาพ : เอเอฟพี
การผลิตไวน์ทั่วโลกลดลงร้อยละ 10 ในปีที่แล้ว สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้เกิดสภาพอากาศแบบสุดขั้วและสภาพแวดล้อมที่รุนแรง เช่น ความแห้งแล้งและไฟป่าบ่อยและเข้มข้นขึ้น

สภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพองุ่นอีกด้วย ตามรายงานการวิจัยล่าสุดในวารสารวิทยาศาสตร์ “เนจอร์” (Nature) ซึ่งหมายความว่า “ความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกองุ่นในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไป และจะมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้”

แม้ปัจจุบันการผลิตไวน์ในประเทศจีนเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น แต่นักวิทยาศาสตร์และผู้ผลิตไวน์หลายแห่งที่นี่ก็มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะเอาชนะความท้าทายเหล่านั้น


ผู้ผลิตไวน์ของจีนหันมาใช้องุ่นพันธุ์ผสมด้วยความหวังว่า จะมีความทนทานต่อสภาพอากาศมากขึ้น - ภาพ : เอเอฟพี
พื้นที่ผลิตไวน์ เช่น ในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยทางภาคเหนือ อุณหภูมิในฤดูหนาวจะลดต่ำมากกว่าปกติ ไม่เป็นผลดีกับองุ่นสายพันธุ์เดิมๆ ความไม่แน่นอนของสภาพอากาศจากสภาวะโลกร้อน เช่น อากาศเย็นลงอย่างกะทันหัน ลูกเห็บตก หรืออากาศที่หนาวจัดคือสิ่งที่ผู้ผลิตไวน์ของจีนกลัวมากที่สุด

จาง จิง ผู้ผลิตไวน์ที่ได้รับรางวัลสังเกตเห็นว่า เมื่อสภาพอากาศร้อนขึ้นอย่างกะทันหัน องุ่นของเธอจะสุกเร็วเกินไป น้ำตาลสะสมสูงเกินพอดี แต่ความเป็นกรดต่ำมาก ความไม่สมดุลนี้เป็นปัญหาใหญ่

ไต้ จ่านอู๋ ศาสตราจารย์ของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ในกรุงปักกิ่งพร้อมทีมงานกำลังสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และแบบจำลองสภาพอากาศเพื่อพยายามทราบให้ได้ว่า หากปลูกองุ่นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ดังกล่าวจะรักษาความยั่งยืนในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่ และจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10, 30 หรือ 50 ปีข้างหน้า


นายเหลียง อี้ว์เหวิน นักวิจัยของ CAS ระบุว่า ผู้ผลิตไวน์มั่นใจในคุณภาพขององุ่นลูกผสมกันมากขึ้น  - ภาพ : เอเอฟพี
นอกจากนั้น ไต้และทีมงานยังวิจัยและพัฒนาองุ่นลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเจาะลึกเข้าไปในดีเอ็นเอขององุ่น พยายามทำความเข้าใจบทบาทของยีนที่แสดงสี กลิ่น และการต้านทานความแห้งแล้ง

ในแต่ละปีห้องปฏิบัติการมีศักยภาพในการสร้างรูปแบบของยีน (genotype) ใหม่ๆ ได้ประมาณ 20,000 แบบโดยการผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการประเมิน


นักวิทยาศาสตร์จีนใช้ซอฟต์แวร์การจดจำภาพ AI เพื่อบันทึกลักษณะต่างๆ เช่น สี รูปร่าง และขนาดในไม่กี่วินาที ทำให้ประหยัดเวลาในการระบุจีโนไทป์ ที่อาจถูกเลือกสำหรับการทดลองเพาะปลูกต่อไป


ในอดีต ไม่มีใครคิดว่าองุ่นลูกผสมจะนำมาทำไวน์ดื่มได้ - ภาพ : เอเอฟพี
ปัจจุบันมีสายพันธุ์ลูกผสมของจีนที่จดทะเบียนแล้วซึ่งใช้ในการผลิตไวน์ โดยสายพันธุ์ที่รู้จักกันดีที่สุดคือ เป่ยหง (Beihong) และเป่ยเม่ย (Beimei)

สายพันธุ์เหล่านี้เกิดจากการผสมพันธุ์องุ่นป่าพื้นเมือง ซึ่งทนความเย็นอย่าง Vitis amurensis กับพันธุ์องุ่นยุโรปที่มีรสชาติดีกว่า ทำให้ทนอุณหภูมิได้ต่ำกว่าลบ 20 องศาเซลเซียส (ลบ 4 องศาฟาเรนไฮต์) นอกจากนั้น ผู้ผลิตไวน์ให้การยอมรับว่า สามารถนำมาผลิตไวน์ที่มีลักษณะเฉพาะของจีนและให้รสชาติอร่อยได้อย่างแน่นอน


ที่มา : เอเอฟพี

กำลังโหลดความคิดเห็น