แรงสั่นสะเทือนจากกรณี ไลฟ์สด “ขายทองออนไลน์” ไม่ได้มาตรฐานของ “แม่ตั๊ก” และ “ป๋าเบียร์” มีผู้เสียหายจำนวนมากจนนำสู่คดีความฐานฉ้อโกง อีกทั้ง ตรวจสอบพบว่าทำธุรกิจออนไลน์ โกยรายได้มหาศาล แต่ยื่นภาษี ไม่ตรงรายได้ ร่ำรวยผิดปกติ เป็นเหตุให้ “แม้ค้าออนไลน์” ถูกจับจ้องโดยกรมภาษี ต้องเข้าระบบภาษีอย่างถูกต้อง อย่าคิดจะหลบเลี่ยง เพราะไม่คุ้มเสีย
หลังจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือร้องเรียนตรวจสอบการยื่นการเสียภาษีของ “น.ส.กรกนก สุวรรณบุตร” หรือ “แม่ตั๊ก” กับ “นายกานต์พล เรืองอร่าม” หรือ “ป๋าเบียร์” (สามี)เจ้าของธุรกิจอาหารเสริม และห้างเพชรทองเคทูเอ็น เนื่องจากยื่นสำแดงภาษีอันเป็นเท็จมีมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท
ตามข้อมูล พบว่า “แม่ตั๊ก” เปิดบริษัท 3 แห่ง ส่วน “ป๋าเบียร์” ปิดบริษัท 7 แห่ง รวมกันแล้วมีบริษัท 10 แห่ง ก่อตั้งมื่อปี 2562 มีรายได้เข้ามาไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท แต่มีการเสียภาษีเพียงแค่ 16.6 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่สมเหตุสมผลกัน จึงรวบรวมพยานหลักฐานยื่นให้กรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีของทั้งคู่
กลายเป็นประเด็นเผือกร้อน เมื่อนักข่าวยื่นไมค์ถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับดูแลกรมสรรพากร และได้คำตอบว่า เรื่องภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทย หากรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องดำเนินการเสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งการค้าขายออนไลน์ก็มีการเก็บภาษี VAT แต่ภาษีบุคคลต้องดูในรายละเอียดอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลไปที่ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” พบว่า มูลค่าสำหรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไท ปี 2566 อยู่ที่ 6.34 แสนล้านบาท และคาดว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดจะแตะ 7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ กรมสรรพากรพัฒนาระบบภาษีเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2565 เน้นไปที่รูปแบบการทำธุรกิจระบบออนไลน์ e-Commerce ทั้งขายสินค้าออนไลน์ ไลฟ์สดขายของ เปิดร้านโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน หรือบริการส่งอาหารและสินค้า ไปจนถึงการบริการต่างๆ อาทิ Shopee, Lazada, Line Man, Grab เป็นต้น
โดยมีแนวคิดว่าเมื่อการทำธุรกิจง่ายขึ้น บุคคลมีรายได้ดีขึ้น ระบบการเสียภาษีและการจัดเก็บภาษีก็ต้องตามให้ทัน โดยมีตั้งกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบคนหรือธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษีให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูก ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ประกอบการในส่วนนี้เข้าสู่ระบบภาษีมากถึง 2 แสนราย
ล่าสุด เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรประกาศแนวทางให้แพลตฟอร์มส่งข้อมูลรายได้ร้านค้า และดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าระบบภาษี โดยคาดว่าจะรีดรายได้ภาษีพุ่งเกิน 1 หมื่นล้านบาท
กล่าวคือกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในไทยและมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ยื่นบัญชีพิเศษที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสร้างขึ้นเพื่อรองรับไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น จะทำให้ผู้เสียภาษีเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น และส่งผลให้ร้านค้าขายของออนไลน์เข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น
และในส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบออนไลน์ แนะนำว่าให้เข้ามาอยู่ในระบบเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากมีการตรวจสอบพบที่หลังอาจโดนเรียกภาษีย้อนหลังเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าระบบ Vat ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะไม่ได้เก็บภาษี 7% จากรายได้ทั้งหมด แต่เป็นการเก็บภาษี 7% บนกำไร อีกทั้ง เทคโนโลยีปัจจุบันทุกอย่างเชื่อมโยงด้วยข้อมูลสามารถตรวจสอบได้
ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิทอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่าปีงบประมาณ 2568 กรมสรรพากรประมาณเป้าการจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 2.3725 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ตามกรอบวงเงินรายจ่ายงบประมาณปี 2568 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรถือเป็นกว่า 80% ของการจัดเก็บภาษีทั้งหมด
ทั้งนี้ ช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - สิงหาคม 2567) กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 1,963,205 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณฯ 8,482 ล้านบาทหรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 47,911 ล้านบาทหรือกว่า 2.5%
โดยกรมสรรพากรขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ตามนโยบาย “oneRD : ONE TEAM ONE SEAMLESS TAX ECOSYSTEM” อำนวยความสะดวกทำให้การยื่นแบบภาษีง่ายและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับความคืบหน้าคดี “แม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์” ผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงประชาชนจากการไลฟ์สดขายทองคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังขยายผลส่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สอบเส้นทางเงินว่าได้มาจากการกระทำความผิดหรือไม่
รวมทั้งขยายผลทางคดีตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน เพื่อเตรียมออกหมายเรียกบุคคลที่เคยเข้าไปร่วมรีวิวสินค้ากับผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ให้เข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติมว่ามีส่วนรู้เห็นหรือไม่ เบื้องต้นพบว่าการเข้าร่วมถ่ายทอดสดรีวิวสินค้าอาจเข้าข่ายความผิดร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งปรากฎรายชื่อเกี่ยวโยง คนดัง ดารา อินฟลูเอ็นเซอร์ เป็นจำนวนมาก
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพผู้บังคับการ ปคบ. เปิดเผยว่า มีนักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ร่วมไลฟ์สดกับผู้ต้องหาไม่ต่ำกว่า 20 คน ที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลายมาตรา อาทิ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ บิดเบือนนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และร่วมกันเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสินค้า โฆษณาที่มีข้อความอันเป็นเท็จ เป็นต้น
เป็นผลพวงมากจากการตลาดของ “แม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์” มักทาบทามบรรดาคนดัง คนที่อยู่ในกระแสมาไลฟ์สดเพิ่มแสงให้การไลฟ์ขายทอง มีคนดัง ดารา อินฟลูเอ็นเซอร์ ปรากฎตัวเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ ลีน่าจัง หรือ อดีตคู่จิ้น แน็ก ชาลี – กามิน แบ่งเป็นดารานักแสดง อาทิ พิ้งกี้ สาวิกา, แพท ณปภา, ไอซ์ ปรีชญา, โม อมีนา-แอนนา วรินทร, เปิ้ล ไอริณ ,แก้มบุ๋ม ปรียาดา ,ชาล็อต ออสติน , อุ้ม ทวีพร ฯลฯ นักร้อง อาทิ ใบเตย อาร์สยาม , เจนนี่ ได้หมดถ้าสดชื่น, จ๊ะ นงผณี ,แพรวพราว แสงทอง ฯลฯ
หรือตลกอย่าง บอล เชิญยิ้ม อินฟลูเอนเซอร์ อาทิ แจ็กแปปโฮ, นารา เครปกะเทย, เก่ง ลายพราง ,ลิลลี่ เหงียน, หนูรัตน์-ครูไพบูลย์, ผู้ใหญ่บ้านฟินแลนด์, เนสตี้ สไปร์ทซี่, เจ๊แมน เตี๋ยวกะเทย , เจ๊แขก แหกปาก, เจ๊นุช บางเตย, กระทั่ง เจ๊กบ บางลำภู แม่ค้าอาหารตามสั่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น “แม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์” เลือกใช้กลยุทธ์การสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) แบบ Influencer Marketing ทำการตลาดที่ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนดังมาช่วยในการโฆษณา ช่วยรีวิวสินค้า จึงเป็นเหตุให้มีคนดังเข้ามาเกี่ยวข้องกับการไลฟ์สดขายทองที่กำลังเป็นคดีความจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน คนดัง ดารา อินฟลูเอ็นเซอร์ นิยมผันตัวมาทำธุรกิจออนไลน์กันเป็นจำนวน ด้วยพื้นฐานชื่อเสียงหน้าตา คาแร็คเตอร์ชัด ก็มีแฟนๆ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ความสนใจเป็นใจพิเศษ รายได้ของคนกลุ่มนี้ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน จากกรณี “แม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์” จึงเป็นที่จับจ้องเรื่อง การยื่นภาษี ไม่ตรงรายได้หรือไม่
ภาษี ปัจจุบันมีการปรับรูปแบบให้เท่าทันยุคสมัยต่อเนื่อง ยิ่งในยุคจากระบบการทำธุรกิจค้าขายหน้าร้าน ปรับเปลี่ยนไปสู่การขายสินค้าออนไลน์ และไลฟ์สดมากขึ้นนั้น ทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีมีการเปลี่ยนแปลงให้เท่าทัน
โดยกรมสรรพกรหนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการจัดเก็บ ที่ผ่านมามีการตั้งกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบคนหรือธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษี ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง เพราะมองเห็นว่ากลุ่มธุรกิจนอกระบบที่เป็นเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันก็คือแม่ค้าออนไลน์ การไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้ ถือเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยทำให้รายได้ภาษีขยายตัว
สุดท้าย เรื่องภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทย หากรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องดำเนินการเสียภาษีให้ถูกต้อง