xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ"อุ๊งอิ๊งค์" ลุยเองได้มั้ย!? โศกนาฏกรรมรถบัส นร.-ครู ... "สุริยะ-อธิบดีกรมขนส่ง" ต้องรับผิดชอบ! ** “เพิ่มพูน” รมว.ศึกษาฯ วิสัยทัศน์แคบสั้น แก้ปลายเหตุ ปิดโอกาสเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


แพทองธาร ชินวัตร - สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ - จิรุตม์ วิศาลจิตร
ข่าวปนคน คนปนข่าว



++ นายกฯ"อุ๊งอิ๊ง" ลุยเองได้มั้ย!? โศกนาฏกรรมรถบัส นร.-ครู ... "สุริยะ-อธิบดีกรมขนส่ง" ต้องรับผิดชอบ!

โศกนาฏกรรมรถบัสทัศนะศึกษาที่ทำให้นักเรียนและครู จากอุทัยธานี เสียชีวิต 23 คน

ผลการสอบสวนชัดเจนว่า ต้นเหตุมาจากรถบัสถูกดัดแปลงอย่างผิดกฎหมาย และเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของคนที่เกี่ยวข้องที่ปล่อยผ่านละเว้นปฏิบัติหน้าที่ จนนำมาซึ่งเหตุสลด ยังความเศร้าของคนทั้งประเทศ

ถามว่ามีใครบ้างที่อยู่ในข่ายต้องรับผิดชอบ!?

ถ้าเรียงแถวหน้ากระดาน หัวแถวก็ต้องเป็น "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลกรมการขนส่งทางบก และ "จิรุตม์ วิศาลจิตร" อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นลำดับถัดมา

แน่นอนความทางอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องว่าไปตามกระบงนการ สอบสวนเจอเหตุจากผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของรถ ผู้ขับรถ วิศวกรผู้ตรวจสอบ รับรองการทดสอบถังแก๊ส ผู้จัดการด้านความปลอดภัย ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยรายวันของบริษัท ใครผิด ใครสมควรถูกดำเนินคดี ก็ว่าไปตามกฎหมาย

แต่ หัวขบวนอย่าง "สุริยะ" และ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก จะไม่รับผิดชอบอะไรเลยหรือ !?

ฟังว่า "จิรุตม์ วิศาลจิตร" อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยภายหลังเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร จัดการภายในกรมฯ ด้วยการ "ตั้งคณะกรรมการ" ขึ้นมาสอบสวน ใครหละหลวม ใครบกพร่อง

เบื้องต้นจัดการ "เด้ง" เจ้าหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายให้ทดสอบถังแก๊ส และตรวจสอบตัวรถ ย้ายให้ออกจากพื้นที่มาช่วยราชการที่กรม

“จิรุตม์” อ้างว่า กรมการขนส่งทางบก ต้องสอบสวนวิธีปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ว่าได้ปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่วางไว้หรือไม่ เพราะหลักเกณฑ์ของกรมมีวิธีปฏิบัติทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่ของกรม ต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของกรมให้หมด ว่าที่ดำเนินการไปนั้น ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทั้งหมดหรือไม่ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ถูกกำหนดให้รายงานภายใน 2 สัปดาห์นี้

นี่ก็เข้าอีหรอบ วงจรราชการ ที่สุดท้าย "ผู้น้อย" ต้องรับกรรม!!

ถ้าเป็นในต่างประเทศ เช่น เกาหลีหรือ ญี่ปุ่น ไม่ต้องรอถึง 2 สัปดาห์หลังเกิดเหตุ เพียงวันเดียวอธิบดีเขาก็ลาออกกันแล้ว!

ผิดหรือไม่ผิด ต้องแสดงสปิริตรับผิดชอบต่อสังคม!

มิพักต้องรวมคนที่เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนามคม อย่าง "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

“สุริยะ” ตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็เกิดเหตุขนส่งทางราง รถไฟฟ้าล้อหลุด รางร่วง คนเดินตกท่อเสียชีวิตในบริเวณก่อสร้างรถไฟฟ้า

รมว.คมนาคม ได้แค่แสดงบทบาท ขึงขัง แต่ไม่แสดงสปิริต!!

“สุริยะ” แทบจะไม่ได้ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

กระทรวงคมนาคมมีแต่เมกะโปรเจกต์ "หลายแสนล้าน" ที่ถูกผลักดันเข้า ครม.เพื่อขออนุมัติ

ไม่นับรวมหน่วยงานภายใต้สังกัดคมนาคม อย่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT , รฟม. ที่อนุมัติให้ขยายเพดานก่อหนี้ กู้เงินเพิ่มขึ้นมหาศาล เพื่อเพิ่มงบทำโครงการ ตามที่นักการเมืองชอบนักชอบหนา

ใครได้ประโยชน์โภคทรัพย์ "เงินทอน" จากโครงการเหล่านี้ คงไม่ต้องแจกแจงรู้ ๆ กันอยู่

"ตราบาป" เหล่านี้ มันติดหน้าผากนักการเมืองแทบจะทุกคน ถูกครหามาทุกยุคทุกสมัย

งานนี้ต้องถึงมือท่านนายกรัฐมนตรี "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาล ลงมากำกับดูแลเองได้หรือไม่ !?
เพราะเหตุการณ์นี้ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ครอบครัว และประชาชนทั่วไป ยังอยู่ในภาวะที่โศกเศร้ากับการจากไปกะทันหันอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และเพื่อสร้างมาตรฐาน "ความปลอดภัย" ในอนาคต... ไม่มีเหตุผลอะไรที่ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” ต้องไปเกรงอกเกรงใจ "สุริยะ" ที่เป็นเพื่อนพ่อ "ทักษิณ"

นายกฯลุยเอง ต้องจัดการกับ “สุริยะ-อธิบดีกรมการขนส่ง” อย่างน้อยๆ โชว์ความเด็ดขาดภาวะผู้นำในยามวิกฤตให้ประชาชนได้เห็น จะเป็นคุณูปการกับประเทศเป็นอย่างสูง ดีกว่าหลงใหลได้ปลื้มกับเรตติ้งคะแนนนิยมจอมปลอมของโพล

หรือที่นิตยสารต่างประเทศ อุปโลกน์ ให้เป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต

ท่านนายกฯอิงค์ ลุยเองได้ ลุยเลย !

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ
++ “เพิ่มพูน” รมว.ศึกษาฯ วิสัยทัศน์แคบสั้น แก้ปลายเหตุ ปิดโอกาสเด็ก

เพราะมาตามโควตาของ “ครูใหญ่บุรีรัมย์” ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคภูมิใจไทย จึงปรากฏชื่อ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” อดีตนายตำรวจใหญ่นามสกุลดัง เข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” มาจนถึง รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ถือว่าใช้คนไม่ถูกกับงาน ที่ต้องดูแลด้านการศึกษาของชาติ เพราะเป็นตำรวจมาทั้งชีวิต

เมื่อเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมกลางถนนวิภาวดีรังสิต ที่พรากชีวิตครู และเด็กน้อยเป็นจำนวนมาก ทั่นรมว.ศึกษาธิการ จึงสั่งให้ยกเลิกการทัศนศึกษาของเด็กนักเรียนทันที จนถูกวิพากวิจารณ์ว่า แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แบบผู้บริหารที่มี “วิสัยทัศน์แคบ สั้น”

แม้จะไม่ได้ประกาศให้ยกเลิกโดยเด็ดขาด แต่ก็กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักในโลกโซเชียลฯ

ประเด็นนี้ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน” พยายามอธิบายว่า ได้ออกข้อสั่งการ ให้งดกิจกรรมทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็นโดยทันที แต่ในกรณีที่มีความจำเป็น จะต้องมีมาตรการในการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยเด็กเล็กที่เรียนในชั้นที่ต่ำกว่าประถมศึกษาปีที่ 4 อนุญาตให้เดินทางไปทัศนศึกษาภายในตัวจังหวัดที่โรงเรียนสังกัดอยู่เท่านั้น เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเดินทางไปติดตามดูแลได้

ส่วนเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาว่า การไปทัศนศึกษาแบบใดมีความจำเป็นนั้น แทบไม่ต่างอะไรกับการล้มเลิกการทัศนศึกษา ที่เป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเด็ก และเยาวชน

เพราะในทางปฏิบัติ เป็นเรื่องยากที่จะตีความว่า ทัศนศึกษาใดมี หรือไม่มี ความจำเป็น และเมื่อระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายอย่างนี้ แล้วผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติ ในระดับโรงเรียน ใครจะกล้าฝืนไปจัดทัศนศึกษา

นอกจากผู้คนในสังคมจำนวนมาก ออกมาวิจารณ์ถึงวิสัยทัศน์ที่ผิดทิศผิดทาง ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แม้แต่ สส.พรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ก็ยังออกปาก ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการทัศนศึกษา โดยระบุชัดเจนว่า
"การทัศนศึกษาเป็นการเปิดโลกให้กับเด็ก ไม่อยากแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็ก แต่รถที่ไม่มีการดูแล ตรวจสอบสภาพ คือสิ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหา"

ปรัชญาของการให้มีการทัศนศึกษานอกสถานที่นั้น คือการสร้าง และเปิดโอกาสให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้นอกตำรา นอกห้องเรียน อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากเด็กแต่ละคนเติบโตมาจากพื้นฐานทางครอบครัวที่มีศักยภาพ และทรัพยากรไม่เท่ากัน บางบ้านมีกำลังทรัพย์มาก ก็พร้อมที่จะพาบุตรหลานตัวเอง ออกไปท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตา

แต่บางครอบครัว ลำพังการทำงานหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนในแต่ละเทอม ก็เลือดตาแทบกระเด็น เรื่องพาเที่ยวในที่ต่างๆ ไม่ต้องพูดถึง ก็มีแต่ต้องหวังพึ่งการจัดทัศนศึกษาของโรงเรียนเป็นสำคัญ

จะว่าไปแล้ว ตั้งแต่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”เป็นต้นมา ถ้าจะจัดอันดับรัฐมนตรีที่โลกลืม เชื่อว่าต้องมีชื่อของ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รมว.ศึกษาธิการ รวมอยู่ด้วยแน่นอน เพราะยังไม่มีผลงานอะไร อย่าว่าแต่ “จับต้อง” ได้เลย แค่เห็น หรือมีคนพูดถึง ก็ยังไม่มีเลย

แต่พอ “รัฐมนตรีเพิ่มพูน” ประกาศเรื่องเลิกจัดทัศนศึกษา หรือให้จัดเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้นแหละ คนรู้จัก “พล.ต.อ.เพิ่มพูน” เกือบทั้งประเทศ ว่าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจ “ปรัชญาการศึกษา” แต่ได้มากำกับ ดูแลด้านการศึกษาของชาติ
จากกรณีนี้ พอจะให้ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” ตัดสินใจได้หรือไม่ว่า สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเป็นรัฐมนตรี “มืออาชีพ” ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ที่มาตาม“โควตา”!!
กำลังโหลดความคิดเห็น