กกร.ห่วงเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว 12%ใน3เดือน มากกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค กดดันภาคส่งออก พร้อมเสนอธปท.เร่งปรับลดดอกเบี้ย หวั่นพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าไทยอีกในช่วงไตรมาส 4/67 ก่อให้เกิดน้ำท่วมรอบนี้ สร้างความเสียหายราว 3-5 หมื่นล้านบาท
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 36.80 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32.30 บาท/ดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือราว 12% เพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออก เนื่องจากเงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค กลายเป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีอาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกกระทบได้ราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท
โดยกกร. เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารฯเชิงรุกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่น ต้นทุนนำเข้าสินค้า พลังงาน และวัตถุดิบโดยเฉพาะในภาคเกษตรฯ ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ
พร้อมเสนอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนอยู่แล้วในตลาดการเงินล่วงหน้า (Forward Market) ปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปีนี้ และอีกประมาณ 0.25%- 0.50% ภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อ Real Sector ได้อย่างรวดเร็ว และพิจารณาทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำลังอยู่ในช่วงการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทศักยภาพและโครงสร้างของเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและ อนาคต
“ กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับ 34.0-34.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารฯเชิงรุกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์”
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบจากอุทกภัยกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังมีแนวโน้มต่อเนื่องจากพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าไทยอีกในช่วงไตรมาส 4/67 คาดว่าน้ำท่วมรอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายราว 3-5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจีดีพี โดยภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด จากสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ กกร.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 2.2- 2.7% ด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ ทั้งในส่วนของการเยียวยาและมาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมทั้งให้ภาครัฐบูรณาการพัฒนาระบบแจ้งเตือนระดับน้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ทราบแบบ Real time ผ่านโทรศัพท์มือถือ และมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ต้นน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
นายสนั่น กล่าวว่าที่ประชุม กกร. ได้มีการพิจารณาข้อเสนอต่อแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน โดยมี 6 ข้อเสนอ ดังนี้ คือ
1)การปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ(LT-LEDS) เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศไทย
2)การเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมร่วมกับแบตเตอรี่ (BESS)โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านควรลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานด้วยการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานจาก OCA ไทย-กัมพูชา
3)ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาจัดหาพลังงานทางเลือกใหม่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาทิ ไฮโดรเจน นิวเคลียร์ (SMR) การใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
4)เร่งให้ความสำคัญการเปิดเสรีไฟฟ้า ในระยะเร่งด่วนควรเร่งการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access, TPA) ภายในปี พ.ศ. 2569 และต้องมีการกำหนดแนวทางการเปิดเสรีอย่างเป็นรูปธรรมและกรอบเวลาชัดเจนใน PDP 2024 มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และส่งเสริมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ตลอดจนมีระบบการจัดการแบตเตอรี่เก่าใช้แล้วอย่างครบวงจร
5)การพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยเทียบกับทางเลือกในการ Repowering หรือ Overhaul โรงไฟฟ้าเดิม และการกำหนดใช้เกณฑ์ดัชนีโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) ที่ควรมีการให้ข้อมูล Reserve Margin ควบคู่ไปด้วย
6)เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ซึ่งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)