xs
xsm
sm
md
lg

หมูเด้ง ท่านประธานซอฟท์พาวเวอร์ “สวบ” ทุกวงการ “รัน” ไปทั้งโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ถึงตรงนี้ คงกล่าวได้อย่างเต็มคำสำหรับ “ปรากฏการณ์หมูเด้ง” ว่า “สวบ” ทุกการ และ “รัน” ไปทั้งโลก จนถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง “ซอฟท์พาวเวอร์” ของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบไปเป็นที่เรียบร้อย หลังโชว์ความน่ารักอวดลวดลายดีดเด้งแจ้งเกิดจากเพจ “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง”

ด้วยวันนี้หมูเด้งลูกฮิปโปฯ แคระจากสวนสัตว์เขาเขียวไปไกลเกินกว่าเป็นเพียงไวรัลในหมู่คนไทย หากแต่ครองใจชาวเน็ตทั่วโลก สร้าง Real-Time Marketing และ MEME จำนวนมาก แถมสื่อนอกหลายสำนักต่างพร้อมใจรายงานอย่างถ้วนหน้า สื่อต่างประเทศหลายแห่งให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น รัสเซีย อเมริกา ฯลฯ จนหลายประเทศเริ่มนำสัตว์น่ารักของตัวเองออกมาโชว์แข่งกับหมูเด้งอย่าง “เนมุเนมุ” ฮิปโปแคระจากญี่ปุ่น เป็นต้น

“นิตยสาร TIMEW รายงานว่า ทุกภาพถ่ายใหม่ๆ ของหมูเด้งถูกแชร์อย่างแพร่หลาย และฮิปโปแคระเพศเมียตัวนี้ก็ได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นดาราผู้มีชื่อเสียง

เช่นเดียวกับ “National Geographic” ที่เขียนบทความถึงโดยให้ชื่อว่า “มองความน่ารักปรากฏการณ์หมูเด้ง ฮิปโปแคระขวัญใจคนไทยที่สื่อนอกต่างพูดถึง”

รวมถึง “นิตยสาร Forbes” เขียนบทความอธิบายที่มาที่ไปถึงความโด่งดังของหมูเด้งในชื่อ Who Is Moo Deng? The Viral Baby Hippo, Explained ซึ่งอธิบายว่า ฮิปโปแคระตัวนี้โด่งดัง มาจาก TikTok คลิปยอดชมมากกว่า 2 ล้าน และเสน่ห์ที่ทำให้ดึงดูดใจนั้นเรียบง่าย เพราะมันน่ารักมาก เหมือนตัวโปเกมอนมากกว่าจะเป็นสัตว์ที่มีชีวิตจริงๆ




ทั้งนี้ Wisesight บริษัทเทคโนโลยีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลตลาด วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ความสำเร็จของ “หมูเด้ง” ไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ แต่นี่คือกลยุทธ์การตลาดแบบ “Organic Marketing” ที่ทรงพลังอย่างแท้จริง

ข้อมูลจากการวิเคราะห์โซเชียลมีเดีย ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 16 กันยายน 2567 พบว่า แฮชแท็ก #หมูเด้ง มี Engagement สูงถึง 8,873,794 ครั้ง จากจำนวนโพสต์ทั้งหมด 6,778 โพสต์

โดย TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงสุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 24,103.59 ครั้งต่อโพสต์ แม้จะมีจำนวนโพสต์น้อยแต่ Engagement ที่สูงที่สุดสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของ TikTok ในการสร้างกระแสไวรัล

ขณะที่เพจขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง กวาด Engagement ไปมากที่สุดถึง 4,260,685 ครั้ง ตามมาด้วยเพจ “สวนสัตว์เปิดเขาเขียว Khao Kheow Open Zoo” ที่ได้รับ Engagement 1,835,580 ครั้ง

นั่นเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธถึงความเป็น “ซุปตาร์” ของ “เจ้าหมูเด้ง” ได้

นอกจากนี้ คำว่า “หมูเด้งรันทุกวงการ” ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกินเลย เพราะเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ยกตัวอย่างเช่น ไปโผล่เกมมือถือสุดฮิตอย่าง “Hay Day” ไปปรากฏในบิลบอร์ดไทม์สแควร์ สหรัฐอเมริกา ในรูปแบบสุดน่ารัก

ไม่เว้นแม้วงการคริปโตฯ ที่ถึงขั้นมีคนไปสร้างเหรียญ Meme บนเครือข่าย Blockchain อย่าง Ethereum และ Solana โดยใช้ชื่อว่า $Moodeng เหรียญนี้ไม่ได้มี utility ในการใช้ประโยชน์อะไร เป็นเพียงเหรียญ Meme ที่สร้างขึ้นมาเฉย ๆ และมีการเทรดเหรียญ $Moodeng บน Decentralized Exchange

ที่น่าตกใจคือตอนนี้ราคา $Moodeng บนเครือข่าย Solana พุ่งกระฉูดไปถึง 127.5 เท่า จากราคาเปิดตัวที่ 0.00006 ดอลลาร์ ล่าสุดทำจุดสูงสุดที่ 0.00765 ดอลลาร์ ก่อนเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 0.00684 ดอลลาร์ ในช่วงครึ่งเช้าของวันที่ 17 กันยายน 2567 (อ้างอิงราคาจาก coinmarketcap.com)

ทั้งนี้ เหรียญ $Moodeng เริ่มมีการซื้อขายกันในวันที่ 11 กันยายน 2567 ในช่วงเวลา 13.00 น. เพียงแค่ 7 วันราคาก็พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าร้อนแรงไม่แพ้เจ้าตัวเลยทีเดียว

ส่วน “วงการกีฬา” ก็มีหลายทีมดังระดับโลกพร้อมใจเอาภาพ “หมูเด้ง”ไปตัดต่อทำเป็นมีมอย่างต่อเนื่อง อาทิ สโมสรบาเยิร์น มิวนิค ทีมดังจากเยอรมนี ก็ได้นำรูปหมูเด้งไปตัดต่อเป็นมีม ขณะกำลังลุ้นสกอร์ ในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เกมระหว่าง บาเยิร์น มิวนิค พบกับ ดินาโม ซาเกร็บ ทีมจากโครเอเชีย หรือก่อนหน้านี้ทีมวอชิงตัน คอมมานเดอร์ส ทีมอเมริกันฟุตบอลชื่อดัง ก็ได้ตัดต่อภาพหมูเด้งไปใส่ภาพทีมของพวกเขาขณะฉลองชัยชนะเช่นกัน พร้อมแคปชันที่แปลเป็นไทยว่า “หมูเด้ง หนูมาทำอะไรที่นี่????”

นอกจากนั้น ทีม G2 Esports ทีมอีสปอร์ต เกม VALORANT จากอเมริกา ก็เคยทำภาพหมูเด้งอยู่ในมือของตัวละครในเกมเช่นกัน อีกทั้งทีม ฟีนิกซ์ ซันส์ ทีมบาสเกตบอล NBA ก็เคยตัดต่อรูปหมูเด้งคู่กับเควิน ดูแรนต์ ซูเปอร์สตาร์ของทีม พร้อมแคปชันที่แปลเป็นไทยว่า “พลังของหมูเด้ง” และอีกแคปชันคือ “อยากได้หมูเด้งอีกใช่มั้ย จัดไป”

ขณะที่บัญชีติ๊กต็อกของ ยาฮู สปอร์ต (Yahoo Sport) ได้โพสต์คลิปวิดีโอ จอ LED ในสนามกีฬาอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan Stadium) ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ระหว่างพักการแข่งขันฟุตบอลมหาวิทยาลัย โดยหมูเด้งได้โผล่มาในจอ ขณะคำราม พร้อมกับคำว่า “GET LOUD” ซึ่ง ยาฮู ระบุว่า “หมูเด้ง ไม่พลาดเกมนี้” (Moo Deng wasn’t missing this game for ANYTHING)




หลังจากคลิปดังกล่าวเผยแพร่ออกไปได้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เช่น ไปเด้งไกลมากกกกกลูกกก, she’s everywhere, เด้งไปทั่วโลกแล้ว, โกอินเตอร์สุดๆ, New Michigan linebacker?, Famous Girl

หรือล่าสุดที่ “หมูเด้ง” มารันวงการสายมูแล้ว เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี พัฒน์ พัฒน์ ได้ทำวอลเปเปอร์ยันต์หมูเด้ง แจกให้ใช้กันได้ฟรีพร้อมระบุเอาไว้ว่าเป็นยันต์ที่ใช้แล้วเป็นที่รัก ที่เอ็นดู คนรัก คนเมตตาดั่งน้อง

ขณะที่ “เสื้อยืดหมูเด้ง” ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวทำ ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และมี “ด้อม” เดินทางไปสัมผัสตัวจริงของเธอเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ความไวรัลของ “หมูเด้ง” ส่วนหนึ่งมาจาก User Generate Content (UGC) หรือคอนเทนต์ที่คนช่วยกันเล่าเรื่อง สามารถกระจายคอนเทนต์ที่ต้องการเล่าเรื่องไปในวงกว้างได้มากขึ้น ทำให้ไปปรากฏในหลากที่หลายแบบ

และการอยู่ยุคที่เรียกว่าการมีวัฒนธรรมร่วม “โซเชียลมีเดีย” ทำให้เกิดการมีวัฒนธรรมร่วมได้มากขึ้น ที่สำคัญที่สุด “หมูเด้ง” มีคาแรกเตอร์ชัด ผ่านการนำเสนอของแอดมินเพจที่เป็นผู้ดูแล สามารถดึงคาแรกเตอร์ของสัตว์ออกมาเล่าได้อย่างน่ารัก เรียกว่าเล่นได้ถูกจุด ทำให้เชื่อมสัตว์กับอารมณ์ความรู้สึกของคนทั่วไป ที่ไม่สามารถสัมผัสกับเหล่าสัตว์ที่ไม่สามารถเลี้ยงในบ้านเหล่านี้ได้

“ทั้งหมดนี้ทำให้ความรู้สึกร่วมที่ว่าแม้เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เราดูแล และช่วยกันดูแล เหมือนเป็นพี่น้องเป็นลูกหลานของเราเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะความรู้สึกในเรื่องของลูกสัตว์ หรือ Baby Animal ที่รู้สึกว่ามีความน่ารัก ประกอบกับคาแรกเตอร์ที่มีความเกรี้ยวกราดที่น่ารัก คนสามารถนำไปทำอะไรต่อก็ได้ บวกกับวัฒนธรรม Meme Culture เป็นภาพชุดเล่าต่อไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเป็น User Generate Content”ผศ.ดร.สกุลศรีอธิบาย

ดังนั้น จึงอย่าแปลกใจว่า ทำไมวันนี้ “หมูเด้ง” รันทุกวงการและกลายเป็นอีกหนึ่ง “ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทยที่มีอานุภาพอย่างน่าจับตายิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น