หลังจากที่“กระทรวงการคลัง”และ“ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)”ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจ“ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ “Virtual Bank” จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2567 ปรากฏว่ามีกลุ่มธุรกิจให้ความสนใจจำนวน 5 รายด้วยกัน
“ธปท.จะคำนึงถึงการมีธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ จะต้องคัดคนที่มีคุณภาพดี ในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งจำนวนที่เหมาะสม ธปท.มองว่าประมาณ 3 ราย เมื่อเข้ามาแล้วจะช่วยกระตุ้นการแข่งขัน และกำกับดูแลความเสี่ยงให้ประชาชน และเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน ไม่อยากเห็นว่ามาแปปเดียวแล้วปิดลงไป หรือเข้ามาแล้วไม่สามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะกระทบกับผู้ใช้บริการ”
“พร้อมกันนี้ยืนยันว่า เงินทุนจดทะเบียนที่ 5 พันล้านบาท เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมเพียงพอต่อการลงทุนเทคโนโลยี บุคลากรด้านIT รวมถึงเงินกองทุนสำรอง รองรับความเสี่ยงทางธุรกิจ รวมถึง VB จะต้องดำเนินการตามธนาคารพาณิชย์ทุกอย่าง เช่น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) รวมถึงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านอื่นๆ เพื่อความเป็นธรรม”น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าว
นั่นหมายความว่า งานนี้จะมีทั้ง “ผู้แพ้” และ “ผู้ชนะ” เพราะมีใบอนุญาตเพียงแค่ 3 ใบเท่านั้น
ที่เปิดตัวไปชัดเจนก่อนหน้านี้มี 4 รายด้วยกันคือ
หนึ่ง -“บมจ.เอสซีบี เอกซ์” (SCB) ที่มีพันธมิตรใหญ่ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้
สอง -บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC โดยมีความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
สาม - “กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่” ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (ซีพี) จับมือ “แอนท์ กรุ๊ป” (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค เป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Albaba) จากจีน
และสี่-กลุ่มทุนบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” (BTS) ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง “บมจ. วีจีไอ” หรือ VGI เป็นผู้ลงสนามท้าชิงเค้กก้อนดังกล่าว และมาพร้อม “พันธมิตร” ธนาคารเบอร์ 1 ของไทยอย่าง “ธนาคารกรุงเทพ” (BBL) และ
“Sea Limited” (ซีกรุ๊ป) ที่เป็นเจ้าของอาณาจักรเกมดัง เช่น FreeFire , League of Legends , ROV และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ “ช้อปปี้” (Shopee) รวมทั้งเครือสหพัฒน์และไปรษณีย์ไทย
ส่วน “กลุ่มที่ 5” นั้น รายงานข่าวแจ้งว่า เป็น Lightnet Group ฟินเทคไทย ที่ร่วมกับ WeLab จากฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้นำ Virtual Bank ในเอเชีย-แปซิฟิก
บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ เวอร์ชวลแบงก์ เอาไว้ว่า 3 กลุ่มพันธมิตรที่จะได้รับการคัดเลือกจะเป็น 1 กลุ่ม SCB 2 กลุ่ม GULF และ 3 กลุ่ม CP Group โดยทั้ง 3 กลุ่มมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในต่างประเทศมาแล้ว ซึ่งจะสามารถนำใช้ประโยชน์ในไทยได้
เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่คาดการณ์ว่า 3 กลุ่ม ที่คาดว่าจะได้รับไลเซนส์ Virtual Bank ในรอบนี้ ได้แก่ กลุ่มธนาคารกรุงไทย, กลุ่มไทยพาณิชย์ และกลุ่ม ซี.พี.
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า KTB, CP และ BBL น่าจะได้ใบอนุญาต ในขณะที่ SCB และ Lightnet Group น่าจะต้องแข่งขันกัน ซึ่งใน 3 ธนาคารใหญ่ที่ยื่นขอใบอนุญาต (KTB, BBL, SCB) มองว่า Virtual Bank จะส่งผลดีกับ KTB และ BBL
ส่วนกรณีของ BBL เนื่องจากธุรกิจรายย่อยของธนาคารมีสัดส่วนต่ำ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่น้อยกว่า 15% การเข้ามาของ BBL ยังมีโอกาสจะขยายฐานลูกค้ารายย่อยได้จากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของพันธมิตรในกลุ่ม
ขณะเดียวกัน KTB และพันธมิตรมีแนวโน้มได้อานิสงส์มากที่สุดในแง่ของการใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) จาก ADVANC และ OR ส่วนที่นอกระบบธนาคาร การปรับปรุงยอดเก็บเงินสด และคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงการขยายสินเชื่อเพิ่มในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ส่งผลดีกับ SCB ถ้าธนาคารนำ Virtual Bank ไปใช้ให้บริการด้านการธนาคารสำหรับรายย่อย เพราะถือว่าทับซ้อนกันกับหน่วยงานที่มีอยู่
ที่น่าสนใจก็คือ เคจีไอวิเคราะห์ว่า Virtual Bank ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ที่ธนาคารกลางออกใบอนุญาต 5 ใบอนุญาต เมื่อปี 2562 ขณะที่มาเลเซียมี 6 ใบอนุญาต เมื่อปี 2565 ซึ่งพบว่า ผู้เล่นหลักในสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นกลุ่มเดียวกันคือ Grab และ Singtel ส่วนผู้เล่นรายอื่น ๆ มาจากฟินเทคและสตาร์ตอัพในประเทศ ส่วนอินโดนีเซียมี 9 ใบอนุญาต ทั้งหมดนี้ ในทุกประเทศยังไม่มีกิจการไหนที่ทำกำไรได้เลย เป็นธุรกิจที่ขาดทุนไปอย่างน้อย 3-5 ปี
ยกเว้นเกาหลีใต้ที่มี 3 ใบอนุญาต Kakao, KBank และ Toss Bank สามารถทำกำไรได้ภายในเวลาน้อยกว่า 3 ปี เนื่องจากการกำหนดเป็นธนาคารเฉพาะทาง
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในช่วงกลางปี 2568 โดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
กล่าวสำหรับรูปแบบการทำธุรกิจของ Virtual Bank เป็นอย่างไรนั้น บทความที่ชื่อว่า Virtual Banking ก้าวต่อไปของระบบการเงินไทย โดย ธปท. นิยาม Virtual Bank ไว้ว่า เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีลักษณะสำคัญ คือ
-ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ เช่น สาขาและตู้ ATM แต่ยังมีสำนักงานใหญ่ได้
-ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ ทั้งการทำความรู้จักลูกค้า (KYC), รับฝากเงิน และบริการอื่นๆ เช่น ให้สินเชื่อ โอน และชำระเงิน ฯลฯ
นอกจากนี้ระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core Banking System) ของ Virtual Bank จะแตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิมผ่านเทคโนโลยีใหม่ที่ยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้โดยง่าย ส่งผลให้ Virtual Bank มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารดั้งเดิม