xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมรฟท.แก้สัญญาจ้างขนรถไฟ Kiha 40/48ส่อเอื้อเอกชน-ครบกำหนดรถยังจอดแช่"แหลมฉบัง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดปม รฟท.จ้างขนย้ายรถไฟมือสอง รุ่น Kiha 40 /48 จากญี่ปุ่น 20 คัน แก้สัญญาส่อเอื้อเอกชน ลดเนื้องานแต่ไม่ลดเงิน แถมจ่ายค่างานไปแล้ว 2 งวด จ่อแก้สัญญาเพิ่มเติมอีก ประเด็นถอดแคร่ใช้วิศวกรไทยคุมแทนญี่ปุ่น ล่าสุด หมดสัญญาแล้วแต่รถจอดค้างที่แหลมฉบัง

รายงานข่าว เปิดเผยว่า จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำสัญญาจ้างขนส่งขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ Kiha จำนวน 20 คัน ประกอบด้วย Kiha 40 จำนวน 11 คัน และ Kiha 48 จำนวน 9 คันจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นขบวนรถไฟที่ บริษัท East Japan Railway Company หรือJR East มอบ(บริจาค) ให้โดยไทยดำเนินการขนส่งเองนั้น ซึ่ง รฟท.ทำสัญญาจ้าง บริษัท กรีน เจเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด วงเงิน 48.6 ล้านบาท ทำการขนส่งจากเมืองนีงาตะ (Niigata)ประเทศญี่ปุ่น มาประเทศไทย โดยลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ระยะเวลาสัญญา 330 วัน
โดยพบว่ามีการขนย้ายขบวนรถไฟทั้ง 20 ตู้ จากท่าเรือนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.67 ปัจจุบันขบวนรถ ยังจอดอยู่ที่ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ขณะที่สัญญา งานงวดที่ 3 ครบกำหนดไปแล้วเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2567 และมีค่าปรับเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีประเด็นที่เอกชนขอแก้ไขสัญญาในรายละเอียดการขนย้ายหลังจากที่ได้ดำเนินการขนย้ายไปแล้ว โดยมีการทำสัญญาแนบท้าย ลงวันที่ 15 พ.ค. 2567

ซึ่งในร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference :TOR) และสัญญาจ้างแบ่งงานออกเป็น 3 งวดโดยงวด 1 ผู้รับจ้างต้องดำเนินการขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศจำนวน 20 คันจากย่านสถานีเมืองอาคิตะ ขนส่งไปยังเมืองนีงาตะประเทศญี่ปุ่นหรือสถานที่อื่นๆตามกำหนด ภายใน 120 วันนับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้างงวดที่ 2 ผู้รับจ้างต้องดำเนินการขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศ จำนวน 20 คันจากท่าเรือนีงาตะ หรือสถานที่อื่นๆตามที่กำหนดมายังท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีภายใน 120 วันนับถัดจากวันที่ดำเนินการแล้วเสร็จในงวดที่ 1 และงวดที่ 3 ผู้รับจ้างต้องดำเนินการขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศจำนวน 20 คันจากท่าเรือแหลมฉบังและส่งมอบพัสดุ ณ สถานีรถไฟแหลมฉบังภายใน 90 วันนับถัดจากวันที่ดำเนินการแล้วเสร็จในงวดที่ 2


ตามเงื่อนไขที่บริษัทผู้รับจ้างต้องดำเนินการ คือ รับรถดีเซลรางจากย่านสถานีเมืองอาคิตะไปเก็บที่สถานีฟูจิโยเสะเมืองนีงาตะ ดำเนินการ ถอดแคร่ (Bogie) ออกจากตัวรถ (Body) เพื่อเตรียมขนย้ายไปยังลานพักสินค้าใกล้ท่าเรือนีงาตะจากนั้นขนย้ายรถดีเซลรางและแคร่จากสถานีฟูจิโยเสะไปยังลานพักสินค้าท่าเรือนีงาตะ และยกรถดีเซลรางและแคร่ลงในเรือบรรทุกสินค้า ขนส่งรถดีเซลทั้งหมด 20 คันและแคร่จากท่าเรือนีงาตะประเทศญี่ปุ่นมายังท่าเรือแหลมแหลมฉบัง ประเทศไทย และย้ายไปยังลานกองเก็บสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ซึ่งการถอดแคร่ออกจากตัวรถ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการขนส่งลงเรือ และเมื่อถึงท่าเรือแหลมฉบัง จะสามารถขนส่งแคร่ไปปรับขนาดฐานเพลาล้อให้เท่ากับขนาดความกว้างของรางรถไฟในประเทศไทยที่โรงงานที่มักกะสันได้ทันที เนื่องจาก รถไฟญี่ปุ่น มีขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อ 1.067 เมตร ขณะที่ทางรถไฟไทยมีขนาด 1.00 เมตร จึงต้องปรับให้เสร็จก่อน จากนั้นจึงนำแคร่มาประกอบกับตัวรถที่อยู่ในลานสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้นจึงนำขบวนรถไฟทั้ง 20 คันแล่นมาตามรางรถไฟและนำมาปรับปรุงตัวรถเพื่อให้สามาถใช้งานได้ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า การปฎิบัติงานจริง ที่ลานพักสินค้า สถานีฟูจิโยเสะท่าเรือนีงาตะ ก่อนลงเรือที่ประเทศญี่ปุ่น กลับไม่มีการถอดแคร่ (Bogie) ออกจากตัวรถ(Body) แต่อย่างใด มีการนำรถ 20 คัน ลงเรือมาทันที และเมื่อรถมาถึงไทย โดยไม่ได้ถอดแคร่ และไม่ได้นำรถไปไว้ในลานเก็บสินค้า แต่กลับนำมาไว้ที่สถานีรถไฟแหลมฉบังแทน กรณีไม่ถอดแคร่ นอกจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไข TOR และสัญญาจ้างแล้ว ยังทำให้เอกชนทำงานน้อยลงและประหยัดค่าใช้จ่ายลงด้วย แต่คณะกรรมการตรวจรับงานของรฟท. กลับตรวจรับงานและจ่ายค่างานให้ไปแล้วจำนวน 2 งวด ๆ ละ 19.44 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 38.88 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของวงเงินสัญญา

ขณะที่งวดที่ 3 จำนวน 9.72 ล้านบาท คือเป็น 20% ซึ่งครบกำหนดแล้ว โดยเอกชนจะต้องจ่ายค่าปรับ ร้อยละ 0.1 ต่อวัน หรือจ่ายค่าปรับวันละ 9,720 บาทเท่านั้น

“ประเด็นเพราะไม่มีช่างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นในการถอดแคร่ออกจากตัวรถ และเมื่อดัดแปลงแคร่เสร็จ การประกอบแคร่เข้ากับตู้รถไฟ จะต้องมีผู้ควบคุมงานที่เป็นวิศวกรที่ได้รับการรับรองจาก JR EAST ร่วมตรวจสอบ ซึ่งมีการขอแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม การถอดแคร่ล้อ ไม่ต้องใช้วิศวกรญี่ปุ่นควบคุม ขอใช้วิศวกรฝ่ายไทยได้ซึ่งอยู่ระหว่างรอแก้ไขสัญญาอีกครั้ง”

รายงานข่าวระบุว่า มีข้อสังเกตุที่สุ่มเสี่ยง ทำให้รฟท.เสียหาย เช่น กรณีการแก้สัญญา มีการปรับลดเนื้องานของงวดที่ 1 โดยเอาเนื้องานที่ต้องทำที่ประเทศญี่ปุ่นมาทำที่ไทย ซึ่งค่าแรงถูกกว่า นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขจาก ย้ายรถดีเซลรางและแคร่ทั้งหมดไปยังลานกองเก็บของท่าเรือแหลมฉบัง โดยรถบรรทุกที่มีหางบรรทุกสินค้าชนิดพิเศษลากไปยังพื้นที่จัดลานจัดเก็บสินค้าของท่าเทียบเรือสินค้า มาเป็นไว้ที่สถานีแหลมฉบัง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการกองเก็บในพื้นที่ของการท่าเรือ แต่กลับไม่มีการปรับลดค่าจ้างในงวดงานลงตามไปด้วยและกลับมีการเบิกจ่ายเงินค่างานให้ตามเงื่อนไขเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น