ผิดแผนไป 1 ที่นั่ง สีน้ำเงินรวบไม่หมด ยึด กมธ.สภาสูง
เป็นไปตามคาด สว.สีน้ำเงิน ส่งคนของตัวเองและเครือข่าย เข้ายึดเก้าอี้ ประธานกรรรมาธิการสามัญ วุฒิสภา ได้เกือบทั้งหมด คือได้ไป 20 คณะ จาก 21 คณะ โดยที่พลาดไป ก็พลาดเพราะ “จับสลากแพ้” เลยทำให้ วุฒิสมาชิก หรือสว.สีน้ำเงิน ได้มา 20 เก้าอี้ ผิดแผนไปหนึ่ง ตำแหน่ง
โดยตำแหน่งที่พลาดไปคือ ประธานกมธ.การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่หากดูจากขอบเขตอำนาจการทำงานของกรรมาธิการฯ ถือว่ามีมากพอสมควร สามารถนำไปใช้ขับเคลื่อนทางการเมืองได้ โดยเฉพาะการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ซึ่งประธานก็คือ อังคณา นีละไพจิตร สว. -อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในแกนนำหลักของสว.อิสระ-สว.พันธุ์ใหม่ ที่เข้ามาเป็นประธานกรรมาธิการฯได้แบบแหกโผ เพราะมือดีกว่า จับสลากได้เป็นประธานกมธ. ฯ จึงทำให้แหกโผสว.สีน้ำเงินมาได้ หลังโหวตกันสองรอบ คะแนนเท่ากันสองรอบ จนต้องใช้วิธี จับสลาก เรียกได้ว่าเป็น ประธานจับสลากฯ
อังคณา บอกว่า กมธ.ฯ พร้อมจะเข้าไปตรวจสอบเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่กมธ.พัฒนาการเมืองฯยุคสมชาย แสวงการ เคยสอบไว้แล้ว รวมถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็เพิ่งสรุปผลตรวจสอบเรื่องชั้น 14 ของทักษิณ ชินวัตร ออกมา ซึ่งหาก อังคณา ลุยจริง ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะเธอและครอบครัว เคยได้รับผลกระทบจากนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จนทำให้ สามี คือนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตทนายความสิทธิมนุษยชน หายตัวไปในยุครัฐบาลทักษิณมาแล้ว
สำหรับสว.สีน้ำเงิน ที่เข้าไปเป็นประธานกมธ.ฯ พบว่าส่วนใหญ่เป็นระดับ ตัวจริง-เสียงจริงในสว.สีน้ำเงิน ที่ใกล้ชิดกับบ้านใหญ่บุรีรัมย์และแกนนำพรรคสีน้ำเงิน เรียกว่าระดับสายตรงทั้งสิ้น เช่น พรเพิ่ม ทองศรี ประธานกมธ.การพลังงาน ก็คือ พี่ชายของทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทยจากพรรคภูมิใจไทย โดยก่อนหน้านี้ก็เคยเป็นทีมงานหน้าห้องนายทรงศักดิ์ที่ก.มหาดไทยมาตลอด
หรือ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานกมธ.การสาธารณสุข อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ก็คือ พี่ชายอดีตส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย และก่อนหน้านี้ ก็เคยเป็นทีมงานหน้าห้อง-ทีมที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย สมัยเป็นรมว.สาธารณสุข ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้น
โดยรายชื่อประธานกรรมาธิการสามัญทั้ง 21 คณะ ที่จะอยู่ในตำแหน่งห้าปี และมีสิทธิพิเศษต่างๆ อีก พี่ประกอบด้วยรายชื่อดังนี้
-อังคณา นีละไพจิตร ประธานกมธ.ฯ การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค
-พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย และการยุติธรรม
-นายธวัช สุระบาล ประธาน กรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
-นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ประธานกรรมาธิการการคมนาคม
-นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ
-พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานกรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐ
-นายพิศูจน์ รัตนวงศ์ ประธานกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬา
-นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธานกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม
-นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานกมธ.การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม
-พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน
-นายอภิชาติ งามกมล ประธานกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น
-นายพรเพิ่ม ทองศรี ประธานกรรมาธิการพลังงาน
-นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม
-นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม
-นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ ประธานกรรมาธิการแรงงาน
-นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม
-นายกมล รอดคล้าย ประธานกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
-นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธานกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง
-นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข
-พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธานกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
-นายอลงกต วรกี ประธานกรรมาธิการติดตามบริหารงบประมาณ
-นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม