xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยระยะ 2-3 รวมทั้งอนุมัติงบรายจ่ายรวม 2.3 หมื่นล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



มติครม.เห็นชอบ เรื่อง มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมทั้ง อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 23,172 ล้านบาท

วันนี้ (24ก.ย.) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (มาตรการพักชำระหนี้ฯ) ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (การพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ฯ)

รวมทั้ง อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 23,172 ล้านบาท ดังนี้ 1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 11,550 ล้านบาท 2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 11,622 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ในประเด็นการบวกกลับค่าใช้จ่ายในการคำนวณโบนัสประจำปี ให้ ธ.ก.ส. หารือความจำเป็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2567 ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง กค. จึงเสนอมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ฯ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2570 จำนวนรวมทั้งสิ้น 23,172 ล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ฯ มีหลักเกณฑ์การดำเนินการเช่นเดียวกับการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ รายละเอียด
วัตถุประสงค์ (1) เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
(2) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส.
(3) เพื่อเพิ่มโอกาสนำเงินไปใช้ลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพและฟื้นฟูศักยภาพตนเองในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 (ทุกจังหวัดทั่วประเทศ) โดยเป็นผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 จำนวน 1.85 ล้านราย ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 240,836 ล้านบาท
ระยะเวลาโครงการ (1) ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 (1 ปี)
(2) ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 (1 ปี)
งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 23,172 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยให้จัดสรรงบประมาณจ่ายคืน ธ.ก.ส. เต็มจำนวนเป็นรายปี แยกจากโครงการอื่นที่ได้รับชดเชยอย่างชัดเจนรวมกรอบวงเงินชดเชย จำนวน 21,172 ล้านบาท ดังนี้
- ระยะที่ 2 กรอบวงเงินชดเชย 10,550 ล้านบาท
- ระยะที่ 3 กรอบวงเงินชดเชย 10,622 ล้านบาท
(2) รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาท (สำหรับการอบรมเกษตรกรปีละประมาณ 300,000 ราย รายละ 3,000 บาท จำนวน 2 ปี)
แนวทางการดำเนินการ ธ.ก.ส. ประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ประจำปี [Loan Review (LR)] ของลูกหนี้เพื่อเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ฯ ในระยะต่อไป
ประโยชน์ที่จะได้รับ (1) ต่อเกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ
(1.1) ผ่อนคลายข้อกังวลจากการส่งชำระหนี้และเพิ่มรายได้ครัวเรือนระหว่างเข้าร่วมมาตรการชำระหนี้ฯ
(1.2) ได้รับการฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตกลับคืนสู่หน่วยผลิตที่สำคัญของประเทศ
(1.3) มีเงินทุนหมุนเวียนและเพียงพอในการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนระหว่างเข้าร่วมมาตรการและลดปัญหาหนี้นอกระบบ และมีเงินออมเพิ่มขึ้น
(2) ต่อสังคมและประเทศชาติ
(2.1) เพิ่มการจ้างงานและเพิ่มเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
(2.2) สร้างทางออกการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างเป็นรูปธรรม
(2.3) เสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น