xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) เกษตรกรได้เราก็ได้! “น้ำตาลมะพร้าวแปรรูป” ขายออฟไลน์อย่างเดียวยอดก็ไม่ตก รับน้ำตาลใสวันละ 7,000 ลิตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



พารู้จัก “น้ำตาลมะพร้าวแปรรูป” แบรนด์ รื่นทวีทรัพย์ ที่ทำธุรกิจแปรรูปน้ำตาลมะพร้าวมากว่า 50 ปี เริ่มมีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้เพื่อควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิต พร้อมกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวให้คงอาชีพไว้ พร้อมรับวัตถุดิบอย่างน้ำตาลใสที่เป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูป พีคสุดวันละ 7,000 ลิตร เผยทำการตลาดออฟไลน์ 100% แต่ยังขายได้และเติบโตจากปีที่แล้ว 10%


นายวิทยานิพนธ์ ไหลหลั่ง เจ้าของธุรกิจน้ำตาลมะพร้าว รื่นทวีทรัพย์ เล่าว่า คุณพ่อภรรยาทำธุรกิจน้ำตาลมะพร้าวแปรรูปขายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวมาก่อน โดยทำขายมาอย่างต่อเนื่องและได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อปี 2549 ซึ่งในปี 2560 คุณวิทยานิพนธ์ ได้เข้ามาช่วยกิจการหรือรับช่วงต่อและได้นำระบบมาตรฐานต่างๆ เข้ามาไม่ว่าจะเป็น อย. GMP HACCP และฮาลาล พัฒนาธุรกิจให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 50 ปี เริ่มขยายฐานตลาดไปทั่วประเทศ มีสินค้าที่รับทำ OEM เพื่อส่งออก เนื่องจากมาตรฐานที่ได้รับการรับรองมาส่งผลให้ช่องทางการตลาดเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


น้ำตาลมะพร้าวหลายคนอาจจะไม่ทราบว่ามีหลายประเภทให้เลือกใช้ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลมะพร้าวที่นำไปทำขนม ทำอาหารคาวต่างๆ ซึ่งแต่ละประเภทจะมีส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้กำลังการผลิตน้ำตาลมะพร้าวของทางแบรนด์จะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบหลักอย่าง “น้ำหวานจากดอกมะพร้าว” ซึ่งภาษาชาวบ้านจะถูกเรียกว่า “น้ำตาลใส” ซึ่งทางแบรนด์รับซื้อจากชาวสวนโดยตรงวันละประมาณ 2,000-3,000 ลิตรหรือมากสุดประมาณ 6,000-7,000 ลิตร ซึ่งกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่มีข้อจำกัด คือ น้ำตาลใสจะมีบางช่วงที่ขาดแคลน เนื่องจากน้ำตาลใสจะมาจากงวงของมะพร้าวเมื่อถูกตัดจนหมดชาวสวนจะทำการพักไว้ 2-3 เดือนเพื่อรองวงใหม่งอกออกมารวมถึงสภาพอากาศที่หากร้อนมากจนเกินก็ส่งผลให้ปริมาณน้ำหวานดอกมะพร้าวไม่ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งในช่วงที่ขาดแคลนทางแบรนด์ก็จะมีการเจรจากับชาวสวนและลูกค้าให้เข้าใจ รวมถึงใช้ส่วนผสมอย่างอื่นมาทดแทน


ในการทำการตลาดนั้นทางแบรนด์จะเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าเป็นหลักเพื่อมัดใจลูกค้า เนื่องจากในตลาดย่อมมีคู่แข่งทางการตลาดเพราะฉะนั้นจะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานไว้ให้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มลูกค้าในตอนนี้ก็จะเป็นลูกค้าทั่วไป พ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหาร ร้านขนมต่างๆ โดยทางแบรนด์ได้มีการเจาะกลุ่มลูกค้าเพิ่มในกลุ่มของครัวกลางของบริษัทต่างๆ ซึ่งรูปแบบการขายในตอนนี้ยังคงเป็นการขายออฟไลน์ แต่มีการกระจายสินค้าอยู่ทั่วประเทศไทย รวมถึงมีตัวแทนจำหน่ายขายทั่วไป รายได้ครึ่งปีแรกเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วเนื่องจากเริ่มมีการฟื้นตัวเล็กน้อยของตลาด ปัจจุบันยอดขายเพิ่มขึ้นมาประมาณ 10%


นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 มีผลกระทบในช่วงท้ายของวิกฤตเนื่องจากในช่วงแรกของโควิด-19 ลูกค้าสั่งซื้อไปสต็อคไว้จำนวนมาก แต่พอสถานการณ์คลี่คลายยอดขายกลับชะลอตัวลง เพราะว่าสินค้าที่ลูกค้าซื้อไปก่อนหน้านั้นยังคงมีเหลือไว้ใช้อย่างเพียงพอจึงจำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อกระจายสินค้าออกไปให้สามารถขายได้ ปัจจุบันรับทำ OEM ให้กับลูกค้าอยู่ประมาณ 10 ราย


จุดพลิกผันของการทำธุรกิจน้ำตาลมะพร้าวแปรรูปคือราคาของน้ำตาลทรายที่ขึ้นลงตามเศรษฐกิจ เนื่องจากในตลาดนั้นน้ำตาลมะพร้าวมีราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายก็จริงแต่ตลาดยังไม่กว้างเท่าน้ำตาลทราย ทำให้ราคาของน้ำตาลทรายเข้ามาเกี่ยวข้องกับน้ำตาลมะพร้าวนั่นเอง


สำหรับน้ำตาลมะพร้าว ทางแบรนด์สร้างจุดเด่นให้ตัวสินค้าคือสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าว่าน้ำตาลมะพร้าวแต่ละประเภทเหมาะสำหรับนำไปประกอบอาหารประเภทใดบ้าง นอกจากนี้ทางแบรนด์รับวัตถุดิบจากเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวเพื่อนำเอาน้ำหวานช่อดอกมะพร้าวมาขายให้ทางแบรนด์ ซึ่งเหตุผลที่เลือกรับซื้อในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงนั้นก็เพราะต้องการกระจายรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวให้ยังคงมีอาชีพต่อไปได้ ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรเริ่มหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมมากขึ้นเพราะต้นมะพร้าวจะมีลักษณะเตี้ยกว่ามะพร้าวทั่วไป การเก็บน้ำหวานจึงง่ายกว่าแบบเดิม


ทั้งนี้ทางแบรนด์ได้รู้จักกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank ที่เข้ามาเสนอสินเชื่อเครื่องจักรให้กับทางแบรนด์เพื่อนำมาพัฒนาการแปรรูปน้ำตาลมะพร้าวให้ได้คุณภาพและมาตรฐานพร้อมกับทำให้สินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการผลิต ซึ่งทางแบรนด์ได้ใช้ประโยชน์ด้านประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี


อย่างไรก็ตามการนำเครื่องจักรเข้ามาในธุรกิจการแปรรูปน้ำตาลมะพร้าวนั้นช่วยลดมลพิษทางอากาศและช่วยให้ใช้พลังงานได้เต็มที่มากขึ้น ปกติเดิมทีจะใช้เตาฟืนธรรมดาต้มและใช้พลังงานได้แค่ 60% แต่ถ้าหากเป็นเครื่องจักรไวเลอร์จะใช้พลังงานได้ถึง 90-95% ซึ่งในการหุงต้มจะใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟเพราะต้องการลดต้นทุนลง เนื่องจากการใช้แก๊สมีต้นทุนที่สูง ทางแบรนด์จึงเลือกใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟหุงต้มแทน

ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :
น้ำตาลมะพร้าวรื่นทวีทรัพย์






* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
กำลังโหลดความคิดเห็น